การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW3010) กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่า ครบกําหนดเวลาในการ ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหนี้มายื่นคําขอรับชําระหนี้เลย ขอให้ศาลสั่งยกเลิก การล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เนื่องจากศาลยังมิได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงไม่อาจมีคําสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายได้ แต่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษา ให้ล้มละลาย จึงพิพากษายกฟ้อง
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คําพิพากษาของศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 14 “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคําฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นําสืบได้ว่าอาจชําระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง”
มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน”
มาตรา 135 “เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคําขอ ศาลมีอํานาจสั่งยกเลิก การล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย”
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 ซึ่งได้กําหนดว่าในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคําฟ้องของ เจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นําสืบได้ว่าอาจชําระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้องนั้น จะเห็นได้ว่ากรณีที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะมีเหตุ ที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 14 ได้นั้น จะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของ ลูกหนี้เด็ดขาด
แต่ตามอุทาหรณ์ เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่า ครบกําหนดเวลาในการ ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหนี้มายื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 91 เลย ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว และเมื่อเจ้าพนักงาน
พิทักษ์ทรัพย์มีคําขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลาย จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายตามมาตรา 135 (2) ซึ่งศาลจะต้องมีคําสั่งยกเลิกการล้มละลายต่อไป ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เนื่องจากศาลยังมิได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายจึงไม่อาจมีคําสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายได้ จึงพิพากษายกฟ้องนั้น คําพิพากษาของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คําพิพากษาของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. นางกระติ๊บทําสัญญากู้เงิน 4,000,000 บาท จากนางกระติก โดยทําสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือลง ลายมือชื่อนางกระติ๊บ ตกลงจะผ่อนชําระ 10 งวด เมื่อถึงกําหนดชําระเงินนางกระติ๊บผิดนัดชําระหนี้ ตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นมา เป็นเงินที่นางกระติ๊บค้างชําระทั้งหมด 2,000,000 บาท นางกระติกจึงฟ้อง ให้นางกระติ๊บล้มละลาย ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นางกระติ๊บขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยขอชําระร้อยละ 50 ของหนี้ที่เหลือทั้งหมด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ในที่ประชุมมีเจ้าหนี้ครั้งแรกมีเจ้าหนี้มาประชุมทั้งหมด 6 คน แต่เจ้าหนี้คนที่ 6 งดออกเสียง ปรากฏว่า
– นางกระติ๊บเป็นหนี้นางกระติกเจ้าหนี้คนที่ 1 จํานวน 2,000,000 บาท
– นางกระติ๊บเป็นหนี้เจ้าหนี้คนที่ 2 จํานวน 500,000 บาท
– นางกระติ๊บเป็นหนี้เจ้าหนี้คนที่ 3 จํานวน 500,000 บาท
– นางกระติ๊บเป็นหนี้เจ้าหนี้คนที่ 4 จํานวน 500,000 บาท
– นางกระติ๊บเป็นหนี้เจ้าหนี้คนที่ 5 จํานวน 500,000 บาท
ผลการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนั้น เฉพาะเจ้าหนี้คนที่ 1 คนที่ 2 และคนที่ 3 ยอมรับคําขอประนอมหนี้ ของนางกระติ๊บ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะรายงานศาลว่า มติของเจ้าหนี้ ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเป็นมติพิเศษ ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนางกระติ๊บหรือไม่เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่ง จํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุม เจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”
มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีล้มละลายเมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดซึ่งเป็นการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และให้นําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนี้ เพื่อ
1. ให้ได้มติพิเศษว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ หรือ
2. ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
และกรณีที่จะเป็นมติพิเศษนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ ตาม พ.ร.บ.
ล้มละลายฯ มาตรา 6 คือ
1. เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก คือ ต้องมีเสียงของเจ้าหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งของเจ้าหนี้ที่ ออกเสียงลงคะแนน และ
2. มีจํานวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางกระติ๊บเป็นหนี้นางกระติกโดยค้างชําระหนี้จากการทําสัญญากู้ทั้งหมด 2,000,000 บาท และนางกระติกได้ฟ้องให้นางกระติ๊บล้มละลาย เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นางกระติ๊บจึง ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยขอชําระหนี้ร้อยละ 50 ของหนี้ที่เหลือทั้งหมด เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ในที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกมีเจ้าหนี้มาประชุมทั้งหมด 6 คน แต่เจ้าหนี้คนที่ 6 งดออกเสียง คงมีเจ้าหนี้ออกเสียงทั้งหมด 5 คน เมื่อผลของการประชุมเจ้าหนี้นั้น ปรากฏว่าเจ้าหนี้คนที่ 1 คนที่ 2 และคนที่ 3 ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนางกระติ๊บ ซึ่งถือเป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก (จาก 5 คน) และเมื่อ รวมจํานวนหนี้ของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากแล้ว มีจํานวนหนี้ทั้งหมด 3 ล้านบาท ซึ่งไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน (4 ล้านบาท) ดังนั้น มติที่ได้จึงเป็นมติพิเศษตามนัยของมาตรา 6 ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะรายงานศาลว่ามติของเจ้าหนี้ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เป็นมติพิเศษ ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนางกระติ๊บลูกหนี้ที่ขอชําระร้อยละ 50
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานศาลว่า มติของเจ้าหนี้ในการประชุม เจ้าหนี้ครั้งแรกเป็นมติพิเศษ ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนางกระติ๊บลูกหนี้ที่ขอชําระร้อยละ 50
ข้อ 3. ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายฟ้าจํานวน 1 ล้านบาท กําหนดชําระ คืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา และทําบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้ว่า หากนายเมฆไม่ชําระหนี้ นายฟ้าสามารถบังคับชําระหนี้เอากับแหวนเพชรของตนได้ โดยนายเมฆมิได้ส่งมอบแหวนเพชร ให้แก่นายฟ้าแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงปรากฏว่าแหวนเพชรมีราคาประเมินประมาณ 3 แสนบาท ต่อมานายเมฆกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 และประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหมด มายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายฟ้าจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตน หรือไม่ ด้วยวิธีการใด หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายฟ้าได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”
มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน”
มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายฟ้า จํานวน 1 ล้านบาท กําหนดชําระ คืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญาคือวันที่ 15 ตุลาคม 2562 และได้ทําบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้ว่าหากนายเมฆ ไม่ชําระหนี้ นายฟ้าสามารถบังคับชําระหนี้เอากับแหวนเพชรของตนได้นั้น เมื่อนายเมฆมิได้ส่งมอบแหวนเพชร ให้แก่นายฟ้า นายฟ้าจึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้จํานํา ดังนั้น นายฟ้าจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 แต่อย่างใด
เมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายเมฆลูกหนี้ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 และประกาศให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังนั้น เมื่อมูลหนี้เงินกู้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ และแม้จะยังไม่ถึงกําหนดชําระหนี้ นายฟ้าย่อมมีสิทธิขอรับชําระหนี้ได้ตามมาตรา 94
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่มีการประกาศคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น นายฟ้าได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงถือว่านายฟ้าเป็นเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร ดังนั้น นายฟ้าจึงมีสิทธิได้รับการขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับชําระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 2 เดือน ทําให้นายฟ้ามีสิทธิ ยื่นขอรับชําระหนี้ได้ภายในกําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์เด็ดขาดตามมาตรา 91
สรุป นายฟ้ามีสิทธิได้รับชําระหนี้โดยการยื่นขอรับชําระหนี้ตามมาตรา 94 ภายในกําหนดระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91