การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5,000,000 บาท ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์นายเมฆเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปในบ้านของนายเมฆเพื่อยึดทรัพย์สิน และสามารถยึดทรัพย์สินมาได้หลายอย่าง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงนําทรัพย์สินของนายเมฆออกขายทอดตลาดทันที
ดังนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจนําทรัพย์สินของนายเมฆออกขายทอดตลาดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 19 “คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของศาล ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย
ในการยึดทรัพย์สินนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ หรือที่ลูกหนี้ได้ครอบครองอยู่ และมีอํานาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้น ๆ รวมทั้งเปิดตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของ
อื่น ๆ ตามที่จําเป็น
ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดไว้ตามมาตรานี้ ห้ามมิให้ขายจนกว่าศาลจะได้มีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเว้นแต่เป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสียงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของ
ทรัพย์สินนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมอกฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย และต่อมาศาลล้มละลายกลาง มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเมฆเด็ดขาดนั้น คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของศาลล้มละลายกลางให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายศาล ทําให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถเข้าไปในบ้านของนายเมฆเพื่อยึดทรัพย์สินต่าง ๆ ได้ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
แต่อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดมาได้นั้น ห้ามมิให้นําออกขาย ทอดตลาดจนกว่าศาลจะได้มีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่จะเป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็น การเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเป็นส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนําทรัพย์สินของนายเมฆออกขายทอดตลาดทันทีโดยที่ศาลล้มละลายกลางยังไม่ได้มีคําสั่งให้นายเมฆล้มละลายนั้นจึงมิอาจทําได้ (ตามมาตรา 19 วรรคสาม)
สรุป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอํานาจนําทรัพย์สินของนายเมฆออกขายทอดตลาด
ข้อ 2. นายดินทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางสาวน้ําจํานวน 8,000,000 บาท ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายดินไม่ชําระหนี้ นางสาวน้ําจึงฟ้องนายดินให้ล้มละลาย ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์นายดินเด็ดขาด นายดินยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติด้วยจํานวนเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจํานวนหนี้เท่ากับ 2 ใน 3 ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนายดิน
ดังนี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ท่านจะรายงานศาลว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจํานวน หนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และ ได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”
มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีล้มละลายเมื่อศาล ได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นการเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และให้นําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนี้ เพื่อ
1. ให้ได้มติพิเศษว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ หรือ
2. ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายดินเด็ดขาด และนายดิน ได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเพื่อนําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อให้ได้มติพิเศษว่าควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ ตามมาตรา 31 นั้น เมื่อปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้มติด้วยจํานวนเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจํานวนหนี้เท่ากับ 2 ใน 3 ยอมรับคําขอประนอมหนี้ของนายดิน มติดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นมติพิเศษ ทั้งนี้เพราะกรณีที่จะเป็นมติพิเศษนั้น ตามมาตรา 6 ได้กําหนดไว้ว่า จะต้องเป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจํานวนหนี้เท่ากับ 3 ใน 4 แห่งจํานวน หนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน และได้ออกเสียงลงคะแนน ในมตินั้น ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะรายงานต่อศาลว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่เป็นมติพิเศษ
สรุป ข้าพเจ้าจะรายงานต่อศาลว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่เป็นมติพิเศษ
ข้อ 3. ในวันที่ 15 กันยายน 2559 นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมอกจํานวน 2,000,000 บาท กําหนดชําระคืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา โดยนายเมฆได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1234 ของตนเองให้นายหมอกยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวพร้อมทําบันทึก แนบท้ายสัญญากู้ตกลงยอมให้นายหมอกสามารถบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของตนเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินประมาณ 1,500,000 บาท ต่อมานายเมฆกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวและถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณา คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายและประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายหมอกจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนหรือไม่ ด้วยวิธีการใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”
มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”
มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมอกจํานวน 2,000,000 บาท ในวันที่ 15 กันยายน 2559 กําหนดชําระคืน 3 ปีนับจากวันทําสัญญา โดยนายเมฆได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1234 ของตนเองให้นายหมอกยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้รายดังกล่าวนั้น มิได้ทําให้นายหมอก มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามนัยมาตรา 6 แต่อย่างใด เพราะการจํานองจะเกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์ตาม กฎหมายนั้นจะต้องมีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น นายหมอกจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
เมื่อหนี้เงินกู้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่า หนี้นั้นจะยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายหมอกก็สามารถยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่ต้องยื่นคําขอภายในกําหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 91 วรรคหนึ่ง
สรุป นายหมอกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนได้ โดยการยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด