การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโทจํานวน 2,000,000 บาท โดยทําหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายเอกผู้กู้ โดยนายเอกได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายโทยึดถือไว้ เป็นหลักประกัน ต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชําระหนี้ นายโทจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายเอก นายเอก ได้รับหนังสือทวงถามให้ชําระหนี้แล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเอก ก็ไม่ชําระหนี้นั้น นายโทจึงฟ้องนายเอกเป็นคดีล้มละลาย ศาลมีคําสั่งว่า นายโทเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ยอมระบุในคําฟ้องว่า จะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน และนายโทยังมีหนี้ตาม สัญญาซื้อขายอีกจํานวน 1,500,000 บาท ซึ่งยังไม่ถึงกําหนดชําระ แต่ได้ยื่นฟ้องรวมกันมากับ สัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งไม่สามารถฟ้องได้ ศาลจึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องของนายโท
ดังนี้ คําสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา
หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”
มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมี ห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและลูกหนี้ไม่ชําระหนี้”
มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท….และ
(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม”
มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็น
หลักประกัน และ
(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งของศาลล้มละลายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ
1. กรณีหนี้เงินกู้จํานวน 2,000,000 บาท
การที่นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโทจํานวน 2,000,000 บาท ต่อมานายเอกผิดนัด ชําระหนี้ นายโทจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายเอก นายเอกได้รับหนังสือทวงถามให้ชําระหนี้แล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเอกก็ไม่ชําระหนี้นั้น กรณีดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายเอก ลูกหนี้เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (9) และเมื่อนายเอกซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้นายโทเจ้าหนี้ ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ล้านบาท นายโทเจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องให้นายเอกล้มละลายได้ตามมาตรา 9
การที่นายเอกกู้ยืมเงินจากนายโท โดยนายเอกได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายโทยึดถือไว้เป็นหลักประกันนั้น ไม่มีผลให้นายโทสามารถบังคับชําระหนี้เอาจากที่ดินตามโฉนดนั้นได้แต่อย่างใด นายโทจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของนายเอกลูกหนี้ นายโทจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน
เมื่อนายโทไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน นายโทย่อมมีสิทธิฟ้องนายเอกให้ล้มละลายได้ตามมาตรา 9 โดยนายโทไม่จําต้องบรรยายฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องตามมาตรา 10 ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายตรวจคําฟ้องแล้วเห็นว่า นายโทเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่นายโทไม่ได้บรรยายฟ้องตามมาตรา 10 ดังกล่าว จึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2. กรณีหนี้ตามสัญญาซื้อขายจํานวน 1,500,000 บาท
การที่นายโทฟ้องนายเอกว่า นายเอกยังเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายซึ่งยังไม่ถึงกําหนดชําระแก่ นายโทอีกจํานวน 1,500,000 บาท แต่ศาลล้มละลายเห็นว่าเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ จึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกรณีดังกล่าวนี้ เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะหนี้ตามสัญญา ซื้อขายจํานวน 1,500,000 บาทนั้น แม้จะเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายโทก็มีสิทธินําหนี้ดังกล่าวมาฟ้อง นายเอกเป็นคดีล้มละลายได้ตามมาตรา 9 (3)
สรุป คําสั่งของศาลล้มละลายทั้ง 2 กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. นายณภัทรเป็นหนี้นายเศรษฐี จํานวน 3 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2562 นายณภัทร ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นการชําระหนี้ให้แก่นายเศรษฐี โดยระบุวันที่สั่งจ่ายเงินในเช็ค เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายณภัทรตามที่ธนาคารไทยธุรกิจยื่นคําฟ้องต่อศาลเป็นคดีล้มละลาย โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 5 กันยายน 2563 เมื่อนายเศรษฐีซึ่งอยู่ใน ราชอาณาจักรไทยทราบเรื่อง จึงยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็คต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ต่อมาธนาคารไทยธุรกิจได้ยื่นคัดค้านคําขอรับชําระหนี้ของนายเศรษฐีว่าหนี้ตามเช็คถึงกําหนดชําระภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงไม่มีสิทธิได้รับชําระหนี้ คําคัดค้านของธนาคารไทยธุรกิจฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และนายเศรษฐีสามารถขอรับชําระหนี้ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว”
มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”
มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง
พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเศรษฐียื่นขอรับชําระหนี้ตามเช็คจํานวน 3 ล้านบาท ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์นั้น ถือเป็นเรื่องการขอรับชําระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่มีประกันในคดีล้มละลาย ซึ่งตามมาตรา 94 ได้วาง หลักไว้ว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจะขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่เป็นหนี้ต้องห้ามตามมาตรา 94 (1) และ (2)
ตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หนี้ตามเช็คที่นายณภัทรสั่งจ่ายให้แก่นายเศรษฐีเป็นหนี้อันเกิดขึ้นก่อน วันที่ 1 กันยายน 2563 อันเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยนายณภัทรออกเช็คในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ดังนั้นจึงฟังได้ว่าวันที่ออกเช็คอันถือเป็นวันที่มูลหนี้ตามเช็คเกิดขึ้นนั้น เป็นเวลาก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายเศรษฐีจึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94 วรรคหนึ่ง
ส่วนคําคัดค้านของธนาคารไทยธุรกิจที่ว่า หนี้ตามเช็คถึงกําหนดชําระภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงไม่มีสิทธิได้รับชําระหนี้นั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะตามมาตรา 94 ได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ว่า แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม หากว่ามูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ย่อมอาจขอรับชําระหนี้ได้ แม้กําหนดชําระเงินตามเช็คจะครบกําหนดในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันหลังจาก วันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม หนี้ตามเช็คนั้นย่อมอาจขอรับชําระหนี้ได้ ดังนั้น คําคัดค้านของ ธนาคารไทยธุรกิจจึงฟังไม่ขึ้น
และกรณีที่นายเศรษฐีซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็คต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 นายเศรษฐีสามารถขอรับชําระหนี้ได้หรือไม่นั้น ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 91 ได้วางหลักไว้ว่า เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม จะต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาด และคดีนี้เมื่อได้มีการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในวันที่ 5 กันยายน 2563 แต่นายเศรษฐีได้ยื่น คําขอรับชําระหนี้ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ซึ่งเลยกําหนดระยะเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดแล้ว ดังนั้น นายเศรษฐีจึงไม่สามารถขอรับชําระหนี้ได้
สรุป ข้อคัดค้านของธนาคารไทยธุรกิจฟังไม่ขึ้น และนายเศรษฐีจะขอรับชําระหนี้ไม่ได้
ข้อ 3. ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท สําราญ จํากัด ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งสําเนา แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด เพื่อทราบในวันที่ 1 กันยายน 2563 ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณา แผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทําแผนเสนอต่อที่ประชุม ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด เจ้าหนี้ ไม่มีประกันซึ่งเป็นผู้ส่งวัสดุพลาสติกในการประกอบชิ้นส่วนให้แก่ บริษัท สําราญ จํากัด ลูกหนี้ ได้ขอให้มีการแก้ไขแผนฟื้นฟูว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้นได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เหมาะสม โดยนําหนี้ของตนไปจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 กลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทเจ้าหนี้ค่าใช้สอยและ ค่าสาธารณูปโภคแทนที่จะเป็นกลุ่มที่ 2 ประเภทกลุ่มเจ้าหนี้การค้า ทําให้ตนได้รับเงื่อนไขในการ ชําระหนี้น้อยกว่ากลุ่มเจ้าหนี้การค้าอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มที่ 2 ดังนั้น จึงขอให้ผู้ทําแผนจัดให้ตนไปอยู่ ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มเจ้าหนี้การค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม ผู้ทําแผนไม่ยินยอมให้แก้ไข การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ตามที่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ร้องขอ ครั้นวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด จึงได้ยื่นคําร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้ผู้ทําแผนแก้ไขแผนโดยจัดกลุ่ม เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูเสียใหม่ดังกล่าวข้างต้น เช่นนี้ ศาลจะสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนเสียใหม่ โดยขอให้จัดไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มเจ้าหนี้การค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม ตามที่ ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ร้องขอได้หรือไม่ เพียงใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 90/42 ทวิ “การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 (3) (ข) ให้จัดดังต่อไปนี้…
เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง อาจยื่นคําร้องขอต่อศาลภายใน เจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคําสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คําสั่งศาลตาม มาตรานี้ให้เป็นที่สุด”
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่า หากเจ้าหนี้รายใดเห็นว่า การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง เจ้าหนี้รายนั้นจะต้องยื่นคําร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน 7 นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม คือนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รับสําเนาแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มิฉะนั้น ย่อมถือว่า เจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบกับการจัดกลุ่มนั้นแล้ว
ตามอุทาหรณ์ การที่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับสําเนาแผนฟื้นฟูกิจการของ ลูกหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 1 กันยายน 2563 ดังนี้ หากห้างฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เห็นว่าการจัดกลุ่ม เจ้าหนี้ไม่เหมาะสมและต้องการให้ผู้ทําแผนแก้ไขแผนโดยจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูเสียใหม่เพื่อให้เกิดความ เป็นธรรมและเหมาะสมก็จะต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในวันที่ 8 กันยายน 2563 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าห้างฯ ได้ยื่นคําร้องต่อศาลในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งถือเป็นการยื่นคําร้องขอต่อศาลเมื่อพ้นกําหนดเวลาที่อาจ ยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคําสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ได้แล้ว ดังนั้น ศาลจะสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนเสียใหม่ ตามที่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ร้องขอไม่ได้
สรุป ศาลจะสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนเสียใหม่ตามที่ห้างหุ้นส่วนสามารถ จํากัด ร้องขอไม่ได้