การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2566
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW 3010) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นข้อสอบอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 5,000,000 บาท หนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆเป็นคดีแพ่งให้ชําระหนี้เงินกู้ 5,000,000 บาทนั้น ต่อมาศาลแพ่งมีคําพิพากษาให้นายเมฆชําระหนี้ตามฟ้อง นายเมฆไม่พอใจคําพิพากษาของศาลแพ่ง จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคําพิพากษา แต่นายหมอกนําหนี้ตามคําพิพากษา ของศาลแพ่งมาฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางตรวจคําฟ้องของนายหมอกและมีคําสั่งรับฟ้อง นายเมฆยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่า หนี้ที่นายหมอกนํามาฟ้องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ของศาลอุทธรณ์ คําพิพากษายังไม่ถึงที่สุด อีกทั้งศาลอุทธรณ์อาจจะมีคําพิพากษาเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือกลับคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้น หนี้นั้นจึงยังไม่เป็นหนี้ที่สามารถกําหนด จํานวนได้โดยแน่นอน คําสั่งรับฟ้องของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายเมฆชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท…… และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมอกได้ฟ้องนายเมฆเป็นคดีแพ่งให้ชําระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จํานวน 5,000,000 บาท และต่อมาศาลแพ่งมีคําพิพากษาให้นายเมฆชําระหนี้ตามฟ้อง นายเมฆไม่พอใจคําพิพากษา ของศาลแพ่ง จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์นั้น แม้ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคําพิพากษา แต่หนี้ตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวถือเป็นหนี้ที่อาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอนแล้ว เพราะคําพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมมีผล ผูกพันคู่ความจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคําพิพากษาเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคําพิพากษา คู่ความจึงต้องผูกพันตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น นายหมอกจึงสามารถนําหนี้ตามคําพิพากษาของศาลแพ่งมาฟ้องนายเมฆ ให้ล้มละลายได้ตามมาตรา 9 และการที่ศาลล้มละลายกลางตรวจคําฟ้องของนายหมอกและมีคําสั่งรับฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่นายเมฆยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่า หนี้ที่นายหมอกนํามาฟ้องยังอยู่ในระหว่างการ พิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ คําพิพากษายังไม่ถึงที่สุด อีกทั้งศาลอุทธรณ์อาจมีคําพิพากษาเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือกลับคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้น หนี้นั้นจึงยังไม่เป็นหนี้ที่สามารถกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน คําสั่งรับฟ้องของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้อต่อสู้ของนายเมฆจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ข้อต่อสู้ของนายเมฆไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายโอบอ้อม กรรมการบริษัท อบอุ่น จํากัด ได้ทําสัญญาให้บริษัทฯ ยืมรถกระบะส่วนตัว 1 คัน เพื่อนําไปใช้ในการขนส่งสินค้าผ้าห่มของบริษัทฯ ต่อมาบริษัทประสบภาวะขาดทุนและมีหนี้สิน ล้นพ้นตัว จึงถูกนายรวยเจ้าหนี้รายหนึ่งฟ้องล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 บริษัทฯ ไม่สามารถจะเข้าไปจัดการทรัพย์สินใด ๆ ของตนเองได้ เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดทรัพย์สินหมดแล้ว นายโอบอ้อมต้องการจะพยุงฐานะของ บริษัทฯ ในวันที่ 14 มีนาคม 2566 นายโอบอ้อมจึงได้ทําสัญญาให้บริษัทฯ กู้เงินส่วนตัวจํานวน 500,000 บาทโดยสุจริต เพื่อนําไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการและชําระค่าจ้างพนักงาน ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ได้ดําเนินการโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 และประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายโอบอ้อมจะมีสิทธิเรียกรถกระบะและหนี้เงินกู้คืนจากบริษัท อบอุ่น จํากัด ได้หรือไม่ ด้วยวิธีการใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว”

มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจดังต่อไปนี้

(1) จัดการและจําหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทําการที่จําเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป”

มาตรา 24 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทําการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทําตามคําสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายโอบอ้อมจะมีสิทธิเรียกรถกระบะและหนี้เงินกู้คืนจากบริษัท อบอุ่น จํากัด
ได้หรือไม่ ด้วยวิธีการใด แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การเรียกระกระบะคืน
ตามบทบัญญัติมาตรา 22 และมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ได้กําหนดไว้โดยแจ้งชัดว่า เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ย่อมไม่มีอํานาจต่อสู้คดีใด ๆ หรือประทําการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ของตน เพราะกฎหมายบัญญัติให้เป็นอํานาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว จําเลย (ลูกหนี้) จึงไม่มีอํานาจ
ดําเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายโอบอ้อม กรรมการบริษัท อบอุ่น จํากัด ได้ทําสัญญาให้บริษัทฯ ยืมรถกระบะส่วนตัว 1 คัน เพื่อนําไปใช้ในการขนส่งสินค้าผ้าห่มของบริษัทฯ และต่อมาบริษัทฯ ถูกศาล ล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ทําให้บริษัทฯ ไม่สามารถจะเข้าไป จัดการทรัพย์สินใด ๆ ของตนเองได้ เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดทรัพย์สินหมดแล้ว ดังนั้น นายโอบอ้อม โดยวิธีการแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาโดยคืนรถกระบะย่อมมีสิทธิเรียกรถกระบะคืนได้ ให้ตนได้ตามมาตรา 22 (1)

2. การเรียกหนี้เงินกู้คืน

การที่นายโอบอ้อมได้ทําสัญญาให้บริษัทฯ กู้เงินส่วนตัวจํานวน 500,000 บาท ในวันที่ 14 มีนาคม 2566 นั้น เมื่อเป็นหนี้ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวแล้ว ซึ่งตามมาตรา 24 ได้บัญญัติห้ามมิให้ลูกหนี้กระทําการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ดังนั้น การที่นายโอบอ้อมได้ทํา นิติกรรมโดยให้บริษัทฯ กู้เงินส่วนตัวดังกล่าว แม้จะได้กระทําโดยสุจริตเพื่อนําไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการ และชําระค่าจ้างพนักงานก็ตาม นิติกรรมการให้กู้ยืมเงินก็มีผลเป็นโมฆะ อีกทั้งมูลหนี้ดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นก่อน วันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 94 (2) ประกอบมาตรา 6 ดังนั้น นายโอบอ้อมจึงไม่มีสิทธินําหนี้เงินกู้มาขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย

สรุป นายโอบอ้อมมีสิทธิเรียกรถกระบะคืนจากบริษัท อบอุ่น จํากัด ได้โดยวิธีการแจ้งให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาคืนรถกระบะให้แก่ตน แต่ไม่มีสิทธินําหนี้เงินกู้มาขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย

 

ข้อ 3. บริษัท สยาม จํากัด ลูกหนี้ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลและศาลได้มีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ต่อมาที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับแผนและศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้วโดยแต่งตั้งให้ บริษัท เชี่ยวชาญ จํากัด เป็นผู้บริหารแผน ในระหว่างการบริหารแผน บริษัท เชี่ยวชาญ จํากัด ผู้บริหารแผนได้ตรวจบัญชีทรัพย์สินของบริษัท สยาม จํากัด พบว่า บริษัท สยาม จํากัด มีโกดังเก่า 1 หลัง ที่ไม่ได้ใช้และรอรื้อถอนขายอยู่ จึงมิได้ลงรายการไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการว่าจะจัดการอย่างไร

ผู้บริหารแผนเห็นว่าหากจะนําไปจําหน่ายขายน่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ จึงได้ทําสัญญาขาย โกดังเก่าดังกล่าวให้กับนาย ก. ไป เพื่อจะได้มีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ ลูกหนี้ ทราบเรื่องจึงยื่นคําร้องต่อศาลว่า ผู้บริหารแผนไม่มีอํานาจขายโกดังเก่าดังกล่าวเพราะไม่ใช่การดําเนินการที่จําเป็นเพื่อให้การค้าของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ตามปกติ สัญญาซื้อขายไม่ชอบเป็นโมฆะ

ผู้บริหารแผนยื่นคําคัดค้านว่า ผู้บริหารแผนมีอํานาจในการจัดการทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้ ในการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย ส่วนลูกหนี้ไม่มีสิทธิในการจัดการทรัพย์สินและกิจการแล้ว จึงไม่ต้อง ขอความเห็นชอบจากลูกหนี้ เช่นนี้ สัญญาซื้อขายโกดังเก่าที่ผู้บริหารแผนทํากับนาย ก. ชอบด้วย กฎหมายหรือไม่เพียงใด และคําร้องของลูกหนี้และคําค้านของผู้บริหารแผนรับฟังได้เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/12 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ “ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่ วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการ

เป็นผลสําเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอ หรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือ ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(9) ห้ามมิให้ลูกหนี้จําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ก่อให้เกิด ภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดําเนิน ต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น”

การออกคําสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มี อํานาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทํานิติกรรมหรือการชําระหนี้ใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติ ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 90/25 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/42 และมาตรา 90/64 เมื่อศาลมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนแล้ว ให้อํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทําแผน และให้นําบทบัญญัติมาตรา 90/12 (9) มาใช้บังคับแก่ผู้ทําแผนโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง (9) ได้กําหนดข้อจํากัดในการ ดําเนินกิจการของลูกหนี้เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยการห้ามลูกหนี้จําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การ ดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดําเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น และ การทํานิติกรรมใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัตินี้ การนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 90/12 วรรคสี่ ซึ่งข้อจํากัดดังกล่าวย่อม ใช้บังคับกับผู้ทําแผนโดยอนุโลมตามมาตรา 90/25

เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารแผนของลูกหนี้นั้น ผู้บริหารแผนต้องดําเนินการให้เป็นไป ตามแผน ในกรณีที่ไม่ได้กําหนดไว้ในแผน ผู้บริหารแผนย่อมถูกจํากัด เมื่อปรากฏว่าบริษัท สยาม จํากัด มีสิ่ง ปลูกสร้างคือโกดังเก่า 1 หลัง ที่ไม่ได้ใช้และรอรื้อถอนขายอยู่นั้น เป็นทรัพย์ที่มีความจําเป็นที่ลูกหนี้จะนํามาพัฒนาและทํากําไรในการฟื้นฟูกิจการ และในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้กําหนดให้ผู้บริหารแผนสามารถ ขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้น การที่ผู้บริหารแผนได้นําสิ่งปลูกสร้างคือโกดังเก่าของลูกหนี้ ไปขายต่อให้กับนาย ก. บุคคลภายนอก จึงมิใช่การกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้ สามารถดําเนินต่อไปได้ตามแผน นิติกรรมคือสัญญาซื้อขายโกดังเก่าที่ผู้บริหารแผนทํากับนาย ก. จึงไม่ชอบด้วย กฎหมายตกเป็นโมฆะตามมาตรา 90/25 ประกอบมาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง (9) และวรรคสี่ และคําร้องของลูกหนี้ที่ว่าผู้บริหารแผนไม่มีอํานาจขายโกดังดังกล่าวเพราะไม่ใช่การดําเนินการที่จําเป็นเพื่อให้การค้าของลูกหนี้ ดําเนินต่อไปได้ตามปกติ สัญญาซื้อขายไม่ชอบเป็นโมฆะนั้นจึงรับฟังได้ ส่วนการที่ผู้บริหารแผนยื่นคําคัดค้านว่า ผู้บริหารแผนมีอํานาจในการจัดการทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย ส่วนลูกหนี้ ไม่มีสิทธิในการจัดการทรัพย์สินและกิจการแล้ว จึงไม่ต้องขอความเห็นชอบจากลูกหนี้นั้น จึงรับฟังไม่ได้ (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 19798/2558)

สรุป สัญญาซื้อขายโกดังเก่าที่ผู้บริหารแผนทํากับนาย ก. ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะ และ คําร้องของลูกหนี้รับฟังได้ ส่วนคําคัดค้านของผู้บริหารแผนรับฟังไม่ได้

 

Advertisement