การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายดิบอยู่กินกับนางดึกมีบุตรคือนายดําและนายแดง โดยนายดิบแจ้งเกิดในสูติบัตรทั้งสองว่าเป็น บิดา ต่อมานายดําอยู่กินกับนางฤดี นายดําได้ทําสัญญาเช่าที่ดินของนายเผือกเพื่อสร้างอาคารสองชั้น เพื่ออยู่อาศัยและมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกําหนดการเช่า 30 ปีแล้วให้อาคารดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่ นายเผือก หลังจากการเช่าได้ 5 ปี นายดําประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย โดยหลังจากนายดํา ตายได้ 300 วัน นางฤดีกลับคลอดบุตรคือ ด.ญ.วันดี โดยนายดําไม่เคยทราบว่านางฤดีตั้งครรภ์ เช่นนี้จงแบ่งมรดกของนายดําที่ยังมีเงินสดในธนาคาร 1,200,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

มาตรา 1604 “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตาม มาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดก
ถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน
เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ
ผู้ตายเลย”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มรดกของนายดําผู้ตายตามมาตรา 1600 ซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทนั้น ได้แก่

1. เงินสดในธนาคารจํานวน 1,200,000 บาท
2. สิทธิตามสัญญาเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เนื่องจาก เป็นสัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างอาคารสองชั้นเพื่ออยู่อาศัยและมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกําหนดการเช่า 30 ปีแล้ว
ให้อาคารดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่นายเผือกผู้ให้เช่า ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่เจ้ามรดกได้มาในระหว่างมีชีวิต และโดยสภาพหรือตามกฎหมายแล้วมิใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย

ส่วนบุคคลใดบ้างที่มีสิทธิและไม่มีสิทธิในการรับมรดกดังกล่าวของนายดํานั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. นายดิบ ซึ่งเป็นบิดาของนายดํานั้น เมื่อนายดิบมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางดึก นายดิบ จึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายดํา และแม้ว่านายดิบจะได้รับรองโดยแจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดาของ นายดําตามมาตรา 1627 ก็ตาม ก็ไม่ทําให้นายดิบเป็นทายาทโดยธรรมตามนัยของมาตรา 1629 (2) แต่อย่างใด ดังนั้น นายดิบจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดํา

2. นางดึก ซึ่งเป็นมารดาของนายดํานั้น ถือเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) จึงมีสิทธิ รับมรดกของนายดํา ทั้งนี้เพราะนางดึกแม้จะมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายดิบก็ตาม ก็ถือว่าเป็นมารดาโดยชอบ ด้วยกฎหมายของนายดําตามมาตรา 1546

3. นายแดง ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดกและเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 (3) นั้น เมื่อนายดํามีทายาทโดยธรรมในลําดับที่ 2 ตามมาตรา 1629 (2) คือนางดึก นายแดง ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลําดับถัดลงไปจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดําตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง

4. นางฤดี ซึ่งได้อยู่กินกับนายดําโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายดํา ดังนั้น นางฤดีจึงไม่ใช่ คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของนายดํา จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดําตามมาตรา 1629 วรรคสอง ประกอบ
มาตรา 1457

5. ด.ญ.วันดี ซึ่งเป็นบุตรที่นางฤดีคลอดภายหลังจากที่นายดําตายได้ 300 วันนั้น แม้จะเป็น บุตรนอกกฎหมายของนายดําและคลอดแล้วรอดอยู่ภายใน 310 วันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดําไม่เคยทราบว่านางฤดีตั้งครรภ์ ย่อมไม่อาจมีพฤติการณ์ที่นายดําได้รับรองว่า ด.ญ.วันดีเป็นทารกในครรภ์มารดาและเป็นบุตรของตนแต่อย่างใด อีกทั้งนางฤดีเป็นภริยานอกกฎหมายของ นายดําทําให้ ด.ญ.วันดีไม่ได้รับการสันนิษฐานความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ด.ญ.วันดีจึงไม่มีสิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1), 1627 ประกอบ มาตรา 1604 ด.ญ.วันดีจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดํา

ดังนั้น เมื่อนายดําตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายดําทั้งหมดซึ่งได้แก่เงินสดในธนาคาร จํานวน 1,200,000 บาท และสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินซึ่งเป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนฯ จึงตกได้แก่นางดึก แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1633

สรุป มรดกทั้งหมดของนายคือเงินสดในธนาคาร 1,200,000 บาท และสิทธิตามสัญญาเช่า
ที่ดินฯ ตกได้แก่นางดึกแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 2. นายเมฆอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับ น.ส.เดือน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ น.ส.ฝน และนายหมอก ซึ่งนายเมฆให้คนทั้งสองใช้นามสกุล น.ส.ฝนอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับนายดิน แต่ไม่มีบุตร ด้วยกัน น.ส.ฝนจึงจดทะเบียนรับ น.ส.ฟ้ามาเป็นบุตรบุญธรรมโดยนายดินให้ความยินยอม น.ส.ฟ้ามี ด.ญ.ดาวเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนนายหมอกมี ด.ญ.น้ําเป็นบุตรนอกกฎหมาย ทนายหมอกให้การเลี้ยงดูอย่างดี ต่อมา น.ส.ฝน น.ส.ฟ้า และนายหมอกเดินทางไปต่างจังหวัด และประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต พอนายเมฆทราบข่าวก็หัวใจวายและถึงแก่ความตาย นายเมฆมี มรดกเป็นเงินสดจํานวน 2 ล้านบาท จงแบ่งมรดกของนายเมฆ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับ น.ส.เดือน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ น.ส.ฝน และนายหมอก ต่อมานายเมฆได้ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้นั้น มรดกของนายเมฆ คือเงินสดจํานวน 2 ล้านบาท ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนายเมฆตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง และทายาท โดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายเมฆ คือ น.ส.ฝน และนายหมอกตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 เพราะแม้ว่า น.ส.ฝน และนายหมอกจะเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเมฆก็ตาม แต่การที่นายเมฆได้ให้บุตรทั้งสอง ใช้นามสกุล ย่อมถือว่านายเมฆได้ให้การรับรองบุตรโดยพฤติการณ์แล้ว จึงทําให้ น.ส.ฝน และนายหมอกมีสิทธิรับ มรดกของนายเมฆในฐานะผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วน น.ส.เดือนเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส กับนายเมฆ จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเมฆ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น.ส.ฝน และนายหมอกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกจึงไม่อาจรับมรดกได้เพราะไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่าทายาทโดยธรรมผู้นั้นมีผู้สืบสันดาน เพื่อเข้ารับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1639 หรือไม่

กรณีของ น.ส.ฝนนั้น การที่ น.ส.ฝนได้จดทะเบียนรับ น.ส.ฟ้ามาเป็นบุตรบุญธรรมโดยได้รับ ความยินยอมจากนายดินก็ตาม ก็ไม่ถือว่า น.ส.ฟ้าเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของ น.ส.ฝน ดังนั้น น.ส.ฟ้าจึงไม่มีสิทธิ เข้ารับมรดกแทนที่ น.ส.ฝน ในการรับมรดกของนายเมฆ และเมื่อ น.ส.ฟ้าไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ น.ส.ฝนแล้ว แม้ น.ส.ฟ้าจะมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ด.ญ.ดาว ด.ญ.ดาวก็ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ น.ส.ฝนเช่นเดียวกันตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643

ส่วนกรณีของนายหมอกนั้น เมื่อนายหมอกมีบุตรนอกกฎหมายคือ ด.ญ.น้ำ ซึ่งนายหมอกให้การ เลี้ยงดูเป็นอย่างดี ด.ญ.น้ำจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ด.ญ.น้ําจึงเป็นผู้สืบสันดานของนายหมอก ตามมาตรา 1627 และเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายหมอก ดังนั้น เมื่อนายหมอกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ด.ญ.น้ําจึงเข้ารับมรดกแทนที่นายหมอกได้ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643

ดังนั้น มรดกทั้งหมดของนายเมฆจํานวน 2 ล้านบาท จึงตกได้แก่ ด.ญ.น้ําเพียงคนเดียวโดยการ เข้ารับมรดกแทนที่นายหมอก

สรุป มรดกทั้งหมดของนายเมฆคือเงินสดจํานวน 2 ล้านบาทตกได้แก่ ด.ญ.น้ำเพียงคนเดียว

 

ข้อ 3. นายแดงจดทะเบียนสมรสกับนางเหลือง มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายส้มและนายแสด นายส้ม อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับ น.ส.ขาว มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ญ.ชมพู โดยนายส้มให้ ด.ญ.ชมพูใช้นามสกุล ส่วนนายแสดมี ด.ช.เขียว เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานายส้มป่วย และถึงแก่ความตาย ส่วนนายแสดติดการพนันอย่างหนัก นายแดงจึงทําพินัยกรรมตัดนายแสด ไม่ให้รับมรดกของตน ต่อมานายแสดกลับตัวได้ นายแดงจึงทําหนังสือถอนการตัดมอบไว้แก่ นายอําเภอ หลังจากนั้น นายแดงก็ถึงแก่ความตาย นายแดงมีมรดกเป็นเงินสดจํานวน 3 ล้านบาท จงแบ่งมรดกของนายแดง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1608 วรรคหนึ่ง “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ แต่ด้วย
แสดงเจตนาชัดแจ้ง
(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1609 “การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้

ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทําโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น….”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิต ชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั่นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายแดงถึงแก่ความตาย มรดกซึ่งเป็นเงินสดจํานวน 3 ล้านบาทของนายแดง ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม และบุคคลที่มีสิทธิรับมรดกของนายแดงได้แก่บุคคลใดบ้างนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. นางเหลือง ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายแดง มีสิทธิรับมรดกของนายแดง
ในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย

2. นายส้ม ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแดง โดยหลักแล้วย่อมมีสิทธิรับมรดกของ นายแดงในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) แต่เมื่อปรากฏว่า นายส้มได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ดังนั้น นายส้มจึงไม่อาจรับมรดกของนายแดงได้ เพราะนายส้มไม่มีสถานภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายส้มมีบุตรคือ ด.ญ.ชมพู ซึ่งแม้ ด.ญ.ชมพูจะเป็น บุตรนอกกฎหมายของนายส้ม แต่เมื่อนายส้มได้รับรองว่า ด.ญ.ชมพูเป็นบุตรโดยการให้ ด.ญ.ชมพูใช้นามสกุล ตามมาตรา 1627 อีกทั้ง ด.ญ.ชมพูเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายส้ม ดังนั้น ด.ญ.ชมพูจึงมีสิทธิรับมรดก แทนที่นายส้มในการรับมรดกของนายแดงได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 16413

3. นายแสด ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแดงนั้น ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายแดง ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ทั้งนี้เพราะนายแดงเจ้ามรดกได้ทําพินัยกรรมตัดมิให้นายแสดรับมรดก โดยถูกต้องตามมาตรา 1608 แล้ว และแม้ว่าภายหลังนายแดงจะได้ทําหนังสือถอนการตัดมิให้รับมรดกนั้น มอบไว้แก่นายอําเภอก็ตาม แต่การถอนดังกล่าวกระทําไม่ถูกต้องตามมาตรา 1609 คือไม่ได้ถอนโดยพินัยกรรม ดังนั้น จึงยังถือว่านายแสดถูกตัดมิให้รับมรดกเช่นเดิม และการที่นายแสดถูกตัดมิให้รับมรดกนั้น ทําให้ ด.ช.เขียว ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแสดจะเข้ารับมรดกแทนที่นายแสดไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นกรณีที่นายเขียวตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1639 แต่อย่างใด

ส่วน น.ส.ขาว ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายแดงจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายแดง

ดังนั้น มรดกของนายแดงซึ่งเป็นเงินสดจึงตกได้แก่ ด.ญ.ชมพูซึ่งเข้ารับมรดกแทนที่นายส้มและ นางเหลืองคู่สมรสของเจ้ามรดก โดยนางเหลืองจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1) ดังนั้น ด.ญ.ชมพูและนางเหลืองจึงได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่า ๆ กันคือคนละ 1 ล้าน 5 แสนบาท ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายแดงตกได้แก่นางเหลืองและ ด.ญ.ชมพู คนละ 1 ล้าน 5 แสนบาท

 

ข้อ 4. นายใหญ่มีน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน 2 คน คือ นายกลางและนายเล็ก นายใหญ่มีภริยาที่ชอบด้วย กฎหมายชื่อนางหญิง นายกลางได้จดทะเบียนสมรสกับนางก้อยมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนายก่อ ส่วนนายเล็กเป็นโสดแต่นายเล็กได้รับนายน้อยมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนถูกต้องตาม กฎหมาย วันหนึ่งนายใหญ่ได้ด่าว่านายก่อที่ชอบทําตัวเป็นอันธพาล นายก่อโกรธนายใหญ่มาก นายก่อจึงนําปืนมายิงนายใหญ่ถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายก่อได้บอกนายกลางเรื่องที่ยิงนายใหญ่ตาย นายกลางแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตํารวจว่านายใหญ่ถูกฆ่าตายแต่ไม่บอกว่านายก่อ เป็นผู้ที่ฆ่าเพราะกลัวว่านายก่อต้องรับโทษ นายใหญ่มีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 300,000 บาท นายเล็ก ได้สละมรดกของนายใหญ่โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้กับผู้อํานวยการเขตบางรัก ดังนี้ จงแบ่งมรดกของนายใหญ่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาแต่มิได้นําข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริต ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1615 “การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน
เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(3) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดก แทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายใหญ่ตายลงโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายใหญ่จํานวน 300,000 บาท ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิในการรับมรดกของ นายใหญ่ในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่

1. นางหญิง ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย

2. นายกลางและนายเล็ก ซึ่งเป็นน้องชายร่วมบิดาเดียวกันกับนายใหญ่ตามมาตรา 1629 (4)

ส่วนนางก้อยซึ่งเป็นภริยาของนายกลางนั้นไม่มีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่เพราะมิใช่ทายาทโดยธรรม
ของนายใหญ่แต่อย่างใด

เมื่อบุคคลที่มีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่มี 3 คน คือ นางหญิงซึ่งเป็นคู่สมรส และนายกลางกับ นายเล็กซึ่งเป็นน้องชายร่วมบิดาเดียวกันตามมาตรา 1629 (4) ดังนั้น มรดกของนายใหญ่จํานวน 300,000 บาท จึงตกได้แก่นางหญิง 2 ใน 3 ส่วน คือ 200,000 บาท และตกได้แก่นายกลางและนายเล็ก 1 ใน 3 ส่วน คือจํานวน 100,000 บาทตามมาตรา 1635 (3) นายกลางและนายเล็กจึงได้รับคนละ 50,000 บาทตามมาตรา 1633

ส่วนกรณีที่นายก่อซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกลางได้ใช้ปืนยิงนายใหญ่ถึงแก่ความตาย และได้บอกเรื่องดังกล่าวให้นายกลางรู้ แต่นายกลางได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตํารวจว่านายใหญ่ถูกฆ่าตายแต่ไม่บอกว่า นายก่อเป็นผู้ที่ฆ่าเพราะกลัวว่านายก่อต้องรับโทษนั้น นายกลางจะไม่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกของนายใหญ่ตาม มาตรา 1606 (3) เนื่องจากนายก่อเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายกลาง จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1606 (3) ดังนั้น นายกลางจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่

และกรณีที่นายเล็กได้สละมรดกของนายใหญ่โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้กับผู้อํานวยการเขตบางรักนั้น การสละมรดกของนายเล็กมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1612 และเมื่อนายเล็กมีบุตรบุญธรรมคือนายน้อย ซึ่งเป็น ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1) ดังนั้น นายน้อยจึงเข้าสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่าส่วนแบ่งที่นายเล็กผู้สละมรดกจะได้รับคือจํานวน 50,000 บาทตามมาตรา
1615 วรรคสอง

สรุป มรดกของนายใหญ่จํานวน 300,000 บาท จะตกได้แก่นางหญิงจํานวน 200,000 บาท และตกได้แก่นายกลางและนายน้อยคนละ 50,000 บาท

Advertisement