การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3109 (LAW3009) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางฝน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ น.ส.ดาว และ น.ส.เดือน นายเมฆ ให้สิทธิเหนือพื้นดินแก่นายหล่อบนที่ดินโฉนดเลขที่ 123 เป็นเวลา 3 ปี และให้ น.ส.สวยเช่าซื้อ รถยนต์ 1 คัน ราคา 1,000,000 บาท ชําระค่าเช่าซื้อทั้งหมด 10 งวด ต่อมานายเมฆได้ออกบวช เป็นพระที่วัดเทพลีลา ได้เงินมาในระหว่างบวช 300,000 บาท หลังจากนั้นนายเมฆก็ลาสิขาบท และถึงแก่ความตาย นายเมฆมีเงินสดอยู่ในธนาคารก่อนบวชจํานวน 3,000,000 บาท เช่นนี้ จงแบ่งมรดกของนายเมฆ

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

มาตรา 1623 “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้น ถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลําเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จําหน่ายไป
ในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายเมฆถึงแก่ความตาย มรดกของนายเมฆตามมาตรา 1600 ซึ่งจะตกแก่ ทายาทโดยธรรม มีดังนี้

1. ที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ที่นายเมฆให้สิทธิเหนือพื้นดินแก่นายหล่อ ซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินจะ ไม่ระงับสิ้นไปด้วยความตายของนายเมฆผู้ให้สิทธิ นายหล่อจึงสามารถใช้สิทธิเหนือพื้นดินนั้นได้ต่อไปจนกว่า จะครบ 3 ปีตามสัญญา

2. เงินค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับจาก น.ส.สวย ที่นายเมฆให้ น.ส.สวยเช่าซื้อ ซึ่งตามกฎหมายนั้น สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อจะไม่ระงับสิ้นไปด้วยความตายของผู้เช่าซื้อหรือผู้ให้เช่าซื้อ

3. เงินที่ได้มาระหว่างบวชจํานวน 300,000 บาท เพราะแม้เงินจํานวนดังกล่าวนี้จะเป็น ทรัพย์สินที่นายเมฆได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม แต่นายเมฆไม่ได้ถึงแก่มรณภาพในขณะเป็น พระภิกษุ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะทําให้เงินจํานวน 300,000 บาทดังกล่าว ตกเป็นสมบัติของวัดเทพลีลาตามมาตรา 1623 ดังนั้น เมื่อนายเมฆถึงแก่ความตาย เงินจํานวน 300,000 บาท จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายเมฆ

4. เงินจํานวน 3,000,000 บาท ที่ฝากอยู่ในธนาคาร
สําหรับทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดของนายเมฆ ได้แก่ นางฝน ซึ่งเป็นภริยา ที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเมฆในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย และจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่า ตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1) น.ส.ดาว และ น.ส.เดือน ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเมฆ ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) โดยทั้งสามคนจะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายเมฆ คือ ที่ดิน เงินค่าเช่าซื้อรถยนต์ เงินที่ได้มาระหว่างบวช 300,000 บาท และเงินฝากธนาคาร 3,000,000 บาท จะตกได้แก่นางฝน น.ส.ดาว และ น.ส.เดือน คนละเท่า ๆ กัน

 

ข้อ 2. นางสาวดาวและนางสาวเดือน เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเมฆและนางจันทร์ ทั้งคู่ ประสงค์จะมีบุตรชายจึงไปขอรับนายหมอกมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย นายหมอก มีภริยาที่อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรชายชื่อเด็กชายดิน โดยนายหมอกยินยอม ให้เด็กชายดินใช้นามสกุลและรับเลี้ยงดูมาโดยตลอด จนกระทั้งหนึ่งปีต่อมา นายหมอกติดเชื้อไวรัส COVID-19 เสียชีวิต นายเมฆเสียใจมากจึงล้มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา นายเมฆเสียชีวิต โดยมีเงินฝากธนาคาร 2,000,000 บาท
เช่นนี้ จงแบ่งมรดกของนายเมฆ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายเมฆถึงแก่ความตาย มรดกของนายเมฆซึ่งเป็นเงินที่ฝากอยู่ในธนาคาร จํานวน 2,000,000 บาท ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม และบุคคลที่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเมฆได้แก่ บุคคลใดบ้างนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. นางจันทร์ ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเมฆ มีสิทธิรับมรดกของนายเมฆในฐานะ คู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย และจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1)

2. นางสาวดาว และนางสาวเดือน ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเมฆ มีสิทธิรับมรดก ของนายเมฆในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1)

3. นายหมอก ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเมฆ ย่อมมีสิทธิรับมรดกของ นายเมฆในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 แต่เมื่อนายหมอกได้ถึงแก่ความตาย ก่อนเจ้ามรดก นายหมอกจึงไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายหมอกจึงไม่อาจรับมรดกของ นายเมฆได้ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหมอกมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือเด็กชายดิน ซึ่งแม้ เด็กชายดินจะเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายหมอก แต่ก็เป็นบุตรที่นายหมอกได้รับรองแล้วตามมาตรา 1627 เพราะนายหมอกได้ให้เด็กชายดินใช้นามสกุลและรับเลี้ยงมาโดยตลอด ดังนั้น เด็กชายดินจึงมีสิทธิเข้ารับมรดก แทนที่นายหมอกได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643

ดังนั้น มรดกของนายเมฆจํานวน 2,000,000 บาท จึงตกได้แก่นางจันทร์ นางสาวดาว นางสาวเดือน และเด็กชายดิน ซึ่งเข้ารับมรดกแทนที่นายหมอก โดยทั้ง 4 คนจะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือคนละ 500,000 บาท
ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายเมฆตกได้แก่นางจันทร์ นางสาวดาว นางสาวเดือน และเด็กชายดิน คนละ 500,000 บาท

 

ข้อ 3. นายนกจดทะเบียนสมรสกับนางน้อยมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นางสาวใหญ่และนายเล็ก นางสาวใหญ่ มีสามีอยู่กินกันไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรสาวชื่อเด็กหญิงจิ๋ว ส่วนนายเล็กทําตัวเป็นนักเลงและชอบเที่ยวเตร่ไม่รู้จักทํามาหากิน นายนกจึงทําพินัยกรรมตัดนายเล็กไม่ให้รับมรดกของตนไว้กับนางน้อย ด้วยความรักลูกชายนางน้อยจึงได้ว่ากล่าวตักเตือนให้นายเล็กเลิกพฤติกรรมดังกล่าว

ต่อมานายเล็กประพฤติตนเป็นคนดีขึ้น นายนกจึงได้ทําหนังสือถอนการตัดนายเล็กโดยมอบไว้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนอกเวลาราชการ ต่อมานางสาวใหญ่ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย พอนายนกทราบข่าวจึงล้มป่วยลงและติดเชื้อในกระแสเลือดตายในเวลาต่อมา นายนกมีมรดกเป็น เงินสดจํานวน 5,000,000 บาท

เช่นนี้ จงแบ่งมรดกของนายนก

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1608 วรรคหนึ่ง “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ แต่
ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1609 “การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้

ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทําโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น…”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635 มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”
มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายนักถึงแก่ความตาย มรดกซึ่งเป็นเงินสดจํานวน 5,000,000 บาท ของนายนกย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม และบุคคลที่มีสิทธิรับมรดกของนายนกได้แก่บุคคลใดบ้างนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. นางน้อย ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายนก มีสิทธิรับมรดกของนายนกในฐานะ คู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย

2. นางสาวใหญ่ ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายนก โดยหลักแล้วย่อมมีสิทธิรับมรดก ของนายนกในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) แต่เมื่อปรากฏว่า นางสาวใหญ่ได้ถึงแก่ความตายก่อน เจ้ามรดก ดังนั้น นางสาวใหญ่จึงไม่อาจรับมรดกของนายนกได้ เพราะนางสาวใหญ่ไม่มีสถานภาพบุคคลในเวลาที่ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาวใหญ่มีบุตรคือเด็กหญิงจิ๋ว ถึงแม้ว่า เด็กหญิงจิ๋วจะเกิดจากนางสาวใหญ่ที่ไม่ได้มีการสมรสกับสามี ก็ถือว่าเด็กหญิงจิ๋วเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและ เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวใหญ่ตามมาตรา 1546 ดังนั้น เด็กหญิงจิ๋วจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวใหญ่
ในการรับมรดกของนายนกได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643

3. นายเล็ก ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายนกนั้น ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายนกในฐานะ ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ทั้งนี้เพราะนายนกเจ้ามรดกได้ทําพินัยกรรมตัดไม่ให้นายเล็กรับมรดกโดย ถูกต้องตามมาตรา 1608 แล้ว และแม้ว่าภายหลังนายนกจะได้ทําหนังสือถอนการตัดไม่ให้รับมรดกนั้นมอบไว้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่การถอนดังกล่าวกระทําไม่ถูกต้องตามมาตรา 1609 คือไม่ได้ถอนโดยพินัยกรรม
ดังนั้น จึงยังถือว่านายเล็กถูกตัดไม่ให้รับมรดกเช่นเดิม

ดังนั้น มรดกของนายนกซึ่งเป็นเงินสดจํานวน 5,000,000 บาท จึงตกได้แก่นางน้อยคู่สมรส ของเจ้ามรดก และเด็กหญิงจิ๋วซึ่งเข้ารับมรดกแทนที่นางสาวใหญ่ โดยนางน้อยจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1) ดังนั้น นางน้อยและเด็กหญิงจิ๋วจึงได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่า ๆ กันคือคนละ
2,500,000 บาท ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายนกตกได้แก่นางน้อยและเด็กหญิงจิ๋วคนละ 2,500,000 บาท

 

ข้อ 4. นายดําและนางขาวเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายเทาและนายน้ําเงิน นายเทาอยู่กินกับนางชมพูโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิงฟ้า โดยนายเทาให้การอุปการะเด็กหญิงฟ้ามาตั้งแต่เกิด ต่อมานายดําทําพินัยกรรมยกรถยนต์ 1 คัน ราคา 600,000 บาท ให้กับนายน้ําเงิน หลังจากนั้นนายดําหัวใจวายตาย นายดํามีมรดก คือ รถยนต์ 1 คัน ตามที่ได้ระบุในพินัยกรรม และเงินสด 1,200,000 บาท นายน้ําเงินได้เอาเงินมรดกจํานวน 500,000 บาท ไปเป็นของตนโดยฉ้อฉล ต่อมานายเทาสละมรดกของนายดําโดยทําเป็นหนังสือ มอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตบางพลัด

เช่นนี้ จงแบ่งมรดกของนายดํา

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1605 “ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทําให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะ
ส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง
ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1615 วรรคสอง “เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้น สืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้น ต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของ ผู้สืบสันดานนั้น”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน
เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ๆ ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทขั้นบุตร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายดําเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายดํามีมรดก คือ รถยนต์ 1 คัน ตามที่ ระบุไว้ในพินัยกรรม และเงินสด 1,200,000 บาท ดังนี้ ทรัพย์มรดกของนายดําจะตกได้แก่ใครบ้าง แยกพิจารณา ได้ดังนี้คือ

กรณีเงินสด 1,200,000 บาท ที่นายดําไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม
ของนายดํา ซึ่งได้แก่

1. นายเทาและนายน้ำเงิน ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1)

2. นางขาว ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับมรดกในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง โดยจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1) ดังนั้นนายเทา นายน้ำเงิน และนางขาว
จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน คือคนละ 400,000 บาท ตามมาตรา 1633

สําหรับนายน้ำเงินนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนโดยทุจริตจํานวน 500,000 บาท ถือเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ ดังนั้นนายน้ําเงินจึงต้องถูกกําจัดไม่ให้รับมรดกของ นายดําในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง และเงินมรดกที่นายน้ําเงินถูกกําจัดไม่ให้ได้รับ จํานวน 400,000 บาทนั้น จะต้องนําคืนกองมรดกแล้วนําไปแบ่งให้แก่นายเท่าและนางขาวคนละ 200,000 บาท ดังนั้น นายเทาและนางขาวจะได้รับมรดกของนายดําคนละ 600,000 บาท

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายเทาได้ทําหนังสือสละมรดกทั้งหมดของนายดําแล้วมอบไว้แก่ ผู้อํานวยการเขตบางพลัด ซึ่งเป็นการสละมรดกที่ได้ทําถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา 1612 ดังนั้น เด็กหญิงฟ้า ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว และมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629
(1) จึงมีสิทธิสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนที่นายเทาผู้สละมรดก จะได้รับคือ 600,000 บาท ตามมาตรา 1615 วรรคสอง

สําหรับรถยนต์ 1 คัน ราคา 600,000 บาท ถือเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างที่นายดําทําพินัยกรรม ยกให้กับนายน้ําเงินโดยเฉพาะ จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1605 วรรคสอง คือ รถยนต์จะตกได้แก่นายน้ําเงิน ในฐานะผู้รับพินัยกรรม โดยนายน้ําเงินจะไม่ถูกกําจัดไม่ให้รับมรดกในส่วนนี้

สรุป มรดกของนายดําที่เป็นเงินสด 1,200,000 บาท ตกได้แก่นางขาวและเด็กหญิงฟ้าคนละ 600,000 บาท ส่วนรถยนต์ 1 คัน ราคา 600,000 บาท ตกได้แก่นายน้ำเงินตามพินัยกรรม

Advertisement