การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 (LA 309) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1. นายเมฆมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 2 คน คือ น.ส.ฟ้า และ น.ส.ฝน นายเมฆให้สิทธิเหนือพื้นดิน ในที่ดินโฉนดเลขที่ 123 แก่นายชายเป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้ นายเมฆให้สิทธิเก็บกินในที่ดิน โฉนดเลขที่ 456 แก่นางหญิงเป็นเวลา 10 ปี ต่อมานายเมฆทําพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ให้ น.ส.ฟ้า และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 456 ให้ น.ส.ฝน หลังจากให้สิทธิแก่นายชายและนางหญิงแล้ว เป็นเวลา 4 ปี นายเมฆป่วยเป็นมะเร็งและถึงแก่ความตาย

ดังนี้ น.ส.ฟ้า และ น.ส.ฝน จะเรียกที่ดินคืนจากนายชายและนางหญิงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และ ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. กรณีนายเมฆให้สิทธิเหนือพื้นดินแก่นายชายเป็นเวลา 10 ปี

สิทธิเหนือพื้นดินเป็นทรัพยสิทธิที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินให้สิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีสิทธิเป็น เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้น โดยจะเสียค่าเช่าหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินนั้นถ้าไม่ได้กําหนดไว้ เป็นอย่างอื่น ย่อมสามารถโอนกันได้และรับมรดกกันได้ ดังนั้น ไม่ว่าผู้ให้สิทธิหรือผู้รับสิทธิตาย สิทธิเหนือพื้นดินไม่ระงับและจะตกทอดแก่ทายาท

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ให้สิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินโฉนดเลขที่ 123 แก่นายชาย เป็นเวลา 10 ปีนั้น เมื่อสิทธิเหนือพื้นดินตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ดังนั้น เมื่อ นายเมฆผู้ให้สิทธิถึงแก่ความตาย หน้าที่ที่จะต้องให้ผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินใช้ประโยชน์เหนือพื้นดินต่อไปนั้น ย่อมไม่ระงับแต่จะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท น.ส.ฟ้าทายาทของนายเมฆจึงไม่สามารถเรียกที่ดินคืนจาก นายชายได้ จะต้องให้นายชายใช้ประโยชน์เหนือพื้นดินนั้นต่อไปจนครบ 10 ปี

2. กรณีนายเมฆให้สิทธิเก็บกินแก่นางหญิงเป็นเวลา 10
สิทธิเก็บกิน เป็นทรัพยสิทธิที่ผู้ทรงสิทธิมีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาประโยชน์ใน อสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นโดยต้องเสียค่าเช่าหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสิทธิเก็บกินนั้นเป็นการเฉพาะตัวของผู้รับสิทธิโดยแท้ ดังนั้น ถ้าผู้รับสิทธิถึงแก่ความตายสิทธิเก็บกินย่อมระงับไปไม่ตกทอดแก่ผู้เป็นทายาท แต่ถ้าผู้ให้สิทธิตาย สิทธิเก็บกินย่อมไม่ระงับ

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ให้สิทธิเก็บกินในที่ดินโฉนดเลขที่ 456 แก่นางหญิงเป็นเวลา 10 ปีนั้น เมื่อกฎหมายถือว่าสิทธิเก็บกินเป็นการเฉพาะตัวของผู้รับสิทธิโดยแท้ แต่ไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ให้สิทธิ ดังนั้น เมื่อนายเมฆผู้ให้สิทธิถึงแก่ความตาย หน้าที่ที่จะต้องให้ผู้รับสิทธิมีสิทธิเก็บกินในที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไป จึงไม่ระงับแต่จะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท น.ส.ฝนทายาทของนายเมฆจึงไม่สามารถเรียกที่ดินคืนจากนางหญิงได้ จะต้องให้นางหญิงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไปจนครบ 10 ปี

สรุป น.ส.ฟ้า และ น.ส.ฝน จะเรียกที่ดินคืนจากนายชายและนางหญิงไม่ได้

 

ข้อ 2. นายดําจดทะเบียนสมรสกับนางสมรซึ่งนางสมรมีบุตรติดจากการสมรสเดิมคือนายมืด นายดําและ นางสมรมีบุตรด้วยกันคือนางมณีซึ่งอยู่กินกับนายพจน์มีบุตรคือนายมุนินซึ่งนายพจน์แยกทางกับนางมณีก่อนนายมุนินจะเกิด ต่อมานายดําไปจดทะเบียนรับนายโรมมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายโดยนายโรมอยู่กินกับนางยุพินมีบุตรคือนายทรัม ซึ่งนายโรมให้ใช้นามสกุล นายดํา มีป้าคือนางฤดีซึ่งทําพินัยกรรมยกที่ดินมีมูลค่า 1,200,000 บาทให้นายดํา ต่อมานางฤดีตาย นายดํา จึงบวชให้นางฤดีที่วัดไผ่โรงวัว หลังจากบวชพระดําได้ดําเนินการโอนที่ดินตามพินัยกรรมใส่ชื่อตน ต่อมานางมณีป่วยตาย หลังจากนั้นนายโรมประสบอุบัติเหตุตาย ต่อมาพระภิกษุดํามรณภาพ เช่นนี้ จงแบ่งมรดกของพระภิกษุดําที่มีเงินสดในธนาคารที่มีอยู่ก่อนบวชจํานวน 2,400,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1623 “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้น ถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลําเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จําหน่ายไปใน
ระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม”

มาตรา 1624 “ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็น สมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจําหน่ายโดยประการใด ตามกฎหมายก็ได้”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับ ให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดาน คนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้น รับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

เมื่อพระภิกษุดําถึงแก่มรณภาพ มรดกของพระภิกษุดําซึ่งจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ
พระภิกษุดํานั้น ได้แก่

1. เงินสดในธนาคารที่มีอยู่ก่อนบวชจํานวน 2,400,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่นายดํามีอยู่ ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามมาตรา 1624

2. ที่ดินซึ่งมีมูลค่า 1,200,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่นายดําได้รับมาโดยพินัยกรรมของ นางฤดีซึ่งเป็นป้าของนายดํา และเป็นทรัพย์สินที่นายดําได้รับมาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แม้ว่าพระดําจะได้ ดําเนินการโอนที่ดินตามพินัยกรรมมาใส่ชื่อตนเมื่อได้อุปสมบทแล้วก็ตาม ดังนั้นที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ตกเป็น สมบัติของวัดไผ่โรงวัว แต่จะตกเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมของพระภิกษุดําตามมาตรา 1623 และ 1624

และบุคคลที่มีสิทธิได้รับมรดกของพระภิกษุดําในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่

1. นางสมร ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดํา (พระภิกษุดํา) และเป็นทายาท โดยธรรมในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง โดยจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1)

2. นางมณี ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพระภิกษุดํา และเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) แต่เมื่อนางมณีได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก นางมณีจึงไม่อาจรับมรดกของพระภิกษุดําได้ เพราะไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม มือปรากฏว่านางมณีมีนายมุนิน ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 1546 และเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางมณี ดังนั้น นายมุนินจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นางมณี ในการรับมรดกของพระภิกษุดําได้ตามมาตรา 1639 และ 1643

3. นายโรม ซึ่งเป็นไตรบุญธรรมของพระภิกษุดํา และมีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 แต่เมื่อนายโรมได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก นายโรมจึงไม่อาจรับมรดกของพระภิกษุดําได้ เพราะไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายโรมมีบุตรคือนายทรัม ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายโรมได้รับรองแล้ว ตามมาตรา 1627 และเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายโรม ดังนั้น นายทรัมจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายโรมได้
ตามมาตรา 1639 และ 1643

ส่วนนายมืดซึ่งเป็นบุตรติดจากการสมรสเดิมของนางสมร มิใช่ผู้สืบสันดานของพระภิกษุดําจึงไม่มีสิทธิ
รับมรดกของพระภิกษุดําในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1)

ดังนั้น มรดกทั้งหมดของพระภิกษุดําจํานวน 3,600,000 บาท (ที่ดินมูลค่า 1,200,000 บาท และ เงินสดในธนาคารจํานวน 2,400,000 บาท) จึงตกได้แก่ นางสมร นายมุนิน และนายทรัม โดยทั้งสามจะได้รับ ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือคนละ 1,200,000 บาท ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกทั้งหมดของพระภิกษุดํา จะตกได้แก่ นางสมร นายมุนิน และนายทรัม คนละ 1,200,000 บาท

 

ข้อ 3. นายเพิ่มอยู่กินฉันสามีภริยากับนางพรมีบุตรด้วยกันชื่อ นายหนึ่งกับนายสอง นายเพิ่มให้บุตรทั้งสอง ใช้นามสกุลและให้การอุปการะเลี้ยงดูตลอดมา ต่อมานางพรเลิกรากับนายเพิ่มแล้วจดทะเบียนรับ นายเอกเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้น 3 ปี นางพรถึงแก่ความตาย นายหนึ่ง หมั้นกับนางสาวงาม กําหนดจัดงานสมรสในอีก 6 เดือน แต่ก่อนถึงวันงานนายหนึ่งถึงแก่ความตาย จากอุบัติเหตุรถคว่ํา โดยมีทรัพย์มรดกเป็นเงิน 2,000,000 บาท นายหนึ่งไม่ได้ทําพินัยกรรม ยกให้แก่ผู้ใด ภายหลังนายหนึ่งถึงแก่ความตาย นายสองทําหนังสือมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่า มรดกของนายหนึ่งที่ตกได้แก่ตนนั้นขอรับไว้เพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งขอมอบให้นายเพิ่มผู้เป็นบิดา

ให้วินิจฉัยพร้อมให้เหตุผลว่า ทรัพย์มรดกของนายหนึ่งตกได้แก่ผู้ใด เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา 1613 วรรคหนึ่ง “การสละมรดกนั้น จะทําแต่เพียงบางส่วน หรือทําโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณี ในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1620 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มีให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดก
แทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทขั้นบุตร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในขณะที่นายหนึ่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น นายหนึ่งไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ ดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายหนึ่งคือเงิน 2,000,000 บาท จึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งนั้น เมื่อนายหนึ่งไม่มีทายาทโดยธรรมในลําดับที่ 1 ตามมาตรา 1629 (1) คือผู้สืบสันดาน และไม่มีทายาทโดยธรรมในลําดับที่ 2 ตามมาตรา 1629 (2) คือบิดามารดา เพราะแม้นายหนึ่ง จะมีนายเพิ่มเป็นบิดาแต่ก็มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้นายเพิ่มจะได้รับรองว่านายหนึ่งเป็นบุตรโดยให้นายหนึ่ง ใช้นามสกุลและให้การอุปการะเลี้ยงดูตามมาตรา 1627 ก็ไม่ทําให้นายเพิ่มเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะบิดาของ นายหนึ่งตามนัยของมาตรา 1629 (2) แต่อย่างใด อีกทั้งนางพรซึ่งเป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่ง ก็ถึงแก่ความตายก่อนนายหนึ่ง ดังนั้น ทรัพย์มรดกทั้งหมดของนายหนึ่งจํานวน 2,000,000 บาท จึงตกได้แก่นายสอง ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1629 (3) ประกอบมาตรา 1630

ส่วนนายเอกซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนางพรนั้นมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งเพราะมิใช่น้องร่วมบิดามารดาหรือน้องร่วมมารดาเดียวกันกับนายหนึ่ง และนางสาวงามก็เป็นเพียงคู่หมั้นของนายหนึ่งมิใช่คู่สมรสของนายหนึ่ง ดังนั้นทั้งนายเอกและนางสาวงามจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง

สําหรับกรณีที่นายสองได้ทําหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่า มรดกของนายหนึ่งที่ตกได้แก่ คนนั้นขอรับไว้เพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งขอมอบให้นายเพิ่มผู้เป็นบิดานั้น ถือเป็นการสละมรดกตามมาตรา 1612 และเป็นการสละมรดกแต่เพียงบางส่วน ซึ่งจะกระทํามิได้ตามมาตรา 1613 วรรคหนึ่ง เมื่อนายสองได้สละมรดก ที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 16.3 วรรคหนึ่ง จึงถือว่านายสองมิได้สละมรดกแต่อย่างใด ดังนั้น นายสอง จึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งทั้งหมดในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (3)

สรุป มรดกทั้งหมดจํานวน 2,000,000 บาท ตกได้แก่นายสองแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 4. นางขาวมีบุตรชาย 1 คน ชื่อนายใหญ่ นายใหญ่มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือนางเล็ก ทั้งสอง มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายเอกและนายโท นายเอกจดทะเบียนสมรสกับนางอ้น มีบุตรชาย 1 คน คือ ด.ช.หนึ่ง นายเอกและนางอ้นอยากมีบุตรสาวจึงไปรับ ด.ญ.สองมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย นายโทขอเงินนายใหญ่เพื่อไปเป็นเงินทุนในการเปิดกิจการ ร้านอาหาร โดยบอกว่าจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ ของนายใหญ่อีก นายโทได้ทําหนังสือ มอบไว้แก่นางเล็ก มีข้อความว่าถ้านายใหญ่ถึงแก่ความตาย นายโทจะขอสละมรดกทั้งหมดของ นายใหญ่ ต่อมานายเอกถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายใหญ่หัวใจวายตาย นายใหญ่ไม่ได้ทํา พินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้กับใคร นายใหญ่มีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 120,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านแบ่งมรดกของนายใหญ่

ธงค่าตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา 1619 “ผู้ใดจะและหรือจําหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณี ในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1620) ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มีให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็น ทายาทขั้นบุตร”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดาน คนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้น รับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายใหญ่ได้ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้กับใคร มรดกของนายใหญ่จํานวน 120,000 บาท ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนายใหญ่ตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่ ได้แก่

1. นางขาว ซึ่งเป็นมารดาของนายใหญ่มีสิทธิรับมรดกและจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็น ทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1629 (2) ประกอบมาตรา 1630

2. นางเล็ก ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะคู่สมรสมีสิทธิรับมรดกและจะได้รับส่วนแบ่ง เสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1629 วรรคสองประกอบมาตรา 1635 (1)

3. นายเอกและนายโท ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่ในฐานะ ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1)

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย นายเอกจึงไม่อาจรับมรดก ของนายใหญ่ได้ เพราะไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไร ก็ตาม เมื่อนายเอกมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคือ ด.ช.หนึ่ง และ ด.ช.หนึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเอก ดังนั้น ด.ช.หนึ่งจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายเอกได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643 ส่วน ด.ญ.สองเป็นเพียง บุตรบุญธรรมของนายเอกมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเอก ด.ญ.สองจึงไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายเอก

ส่วนนายโทซึ่งได้ทําหนังสือมอบไว้แก่นางเล็กโดยมีข้อความว่าถ้านายใหญ่ถึงแก่ความตาย นายโท
จะขอสละมรดกทั้งหมดของนายใหญ่นั้น ถือเป็นการสละสิทธิอันจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกของนายใหญ่ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น เป็นการแสดงเจตนาที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1619 การสละมรดกของนายโทจึง ไม่มีผลตามกฎหมาย ดังนั้นนายโทจึงยังคง ดังนั้นนายโทจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่

ดังนั้น ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่ ได้แก่ นางขาว นางเล็ก ด.ช.หนึ่ง และนายโท โดยทั้งสี่จะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือคนละ 30,000 บาท

สรุป ทรัพย์มรดกของนายใหญ่จํานวน 120,000 บาท จะตกได้แก่ นางขาว นางเล็ก ด.ช.หนึ่ง และนายโท คนละ 30,000 บาท

Advertisement