การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายโหระพาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดําเนินคดีกับนายเทาให้ถึงที่สุดในข้อหาลักทรัพย์
ซึ่งเป็นคดีอาญาที่ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แต่พนักงานสอบสวนดําเนินคดีล่าช้า นายโหระพาจึง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเทาต่อศาลด้วยตนเอง ขอให้ลงโทษนายเทาฐานลักทรัพย์ ตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 334 (คดีที่นายโหระพาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ทุกประการ) เมื่อศาลได้ตรวจคําฟ้องของนายโหระพาแล้วเห็นว่านายโหระพายื่นฟ้องถูกต้องตามเขตอํานาจศาลและทําคําฟ้องถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้งไม่ปรากฏว่านายโหระพายื่นฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจําเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ รวมถึงไม่ปรากฏว่านายโหระพาเคยจงใจฝ่าฝืนคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรจึงสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่นายโหระพาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

Advertisement

หากปรากฏว่าในวันไต่สวนมูลฟ้อง นายโหระพาโจทก์ซึ่งทราบนัดของศาลโดยชอบแล้ว แต่ทั้งนายโหระพาและทนายความไม่มาศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องของนายโหระพา

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า หลังจากที่ศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว หากการสอบสวนคดีที่นายโหระพา ร้องทุกข์เสร็จแล้ว พนักงานอัยการจะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องนายเทาเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดง ให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดหน้าที่ของโจทก์ไว้ว่า ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์จะต้องมาตามนัด มิฉะนั้นก็ให้ศาลยกฟ้องเสีย เว้นแต่จะมีเหตุสมควรศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ การที่นายโหระพาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเทาต่อศาลในข้อหาลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และศาลได้มีคําสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องนั้น เมื่อนายโหระพาโจทก์ได้ทราบกําหนดนัดของศาลโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องมาศาลตามกําหนดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันไต่สวนมูลฟ้อง นายโหระพาโจทก์และ ทนายความของโจทก์ไม่มาศาล ดังนั้น ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสีย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง

และตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสาม ได้กําหนดไว้ว่า ในคดีที่ศาลได้ยกฟ้องตามวรรคหนึ่ง ดังกล่าวแล้วจะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องในคดีที่ราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ย่อม ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้น ตามอุทาหรณ์เมื่อศาล ได้ยกฟ้องคดีที่นายโหระพาเป็นโจทก์ และความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นั้น ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ย่อมไม่ตัดอํานาจของพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้นอีก ดังนั้น พนักงานอัยการ จึงสามารถนําคดีเรื่องเดียวกันนี้ มายื่นฟ้องนายเทาเป็นคดีใหม่ได้

สรุป พนักงานอัยการสามารถนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องนายเทาเป็นคดีใหม่ได้

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 จําเลยให้การปฏิเสธ หลังจากศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลชั้นต้น นัดสืบพยานจําเลย เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจําเลย ทนายจําเลยมาศาล ส่วนโจทก์และจําเลยไม่มา ทนายจําเลยยื่นคําแถลงว่า จําเลยไม่มาศาลโดยไม่ทราบสาเหตุจึงไม่มีพยานมาศาล แต่โจทก์ก็ ไม่มาศาลด้วย ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จะยกฟ้องโจทก์ ให้ยก คําแถลงของทนายจําเลย และมีคําสั่งว่าจําเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ถือว่าจําเลยไม่ติดใจสืบพยาน ให้งดสืบพยานจําเลย และนัดฟังคําพิพากษา

ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคําแถลงของทนายจําเลย และที่ถือว่าจําเลยไม่ติดใจสืบพยาน ให้งดสืบพยานจําเลย และนัดฟังคําพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้…”

มาตรา 172 วรรคหนึ่ง “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทําโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 181 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคําแถลงของทนายจําเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

กรณีนี้เห็นว่า ในวันนัดสืบพยานจําเลยนั้น โจทก์ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างใดต่อศาล การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจําเลย โจทก์ก็เพียงแต่เสียสิทธิในการซักค้านพยานจําเลยเท่านั้น มิใช่เป็น กรณีที่ทําให้ศาลต้องยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาลตามกําหนดนัด (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง

ซึ่งมาตรา 181 ให้นํามาบังคับใช้แก่การพิจารณาโดยอนุโลม) ดังนั้น การที่ทนายจําเลยยื่นคําแถลงว่า จําเลยไม่มาศาล โดยไม่ทราบสาเหตุจึงไม่มีพยานมาศาล แต่โจทก์ก็ไม่มาศาลด้วยและขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จะยกฟ้องโจทก์ ให้ยกคําแถลงของทนายจําเลยนั้น คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

2. คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าจําเลยไม่ติดใจสืบพยาน ให้งดสืบพยานจําเลย และนัดฟัง
คําพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง การพิจารณาและการสืบพยานในศาลจะต้องกระทํา โดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลย โดยไม่จํากัดว่าจะเป็นการพิจารณาและสืบพยานของคู่ความฝ่ายใด ซึ่งไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาและสืบพยานในศาลของโจทก์หรือของจําเลยย่อมตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตราดังกล่าวด้วย เช่นกัน การที่จําเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจําเลย เมื่อศาลเห็นว่าจําเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ศาลก็ชอบที่จะ ออกหมายจับจําเลย แล้วเลื่อนคดีไปเพื่อให้ได้ตัวจําเลยมาศาลเพื่อทําการพิจารณาและสืบพยานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า จําเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ถือว่าจําเลยไม่ติดใจสืบพยาน ให้งดสืบพยาน และนัดฟังคําพิพากษา ย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยไม่ได้กระทํา ต่อหน้าจําเลย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคําแถลงของทนายจําเลยชอบด้วยกฎหมาย แต่คําสั่งที่ถือว่า จําเลยไม่ติดใจสืบพยาน ให้งดสืบพยานจําเลย และนัดฟังคําพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านายสมศรีจําเลยฆ่านายสมชายตาย ขอให้ลงโทษตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 288 (โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ)

(ก) ทางพิจารณาฟังได้ว่าจําเลยเป็นคนฆ่านายสมชายผู้ตายจริง แต่พยานหลักฐานโจทก์ปรากฏว่า จําเลยชื่อนางสมศรี หาใช่นายสมศรี ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ และไม่ปรากฏว่าการที่ ฟ้องโจทก์ระบุเพศของจําเลยผิดไปนั้น เป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้กรณีหนึ่ง

(ข) ทางพิจารณาฟังได้ว่าจําเลยฆ่านางสมชายซึ่งเป็นบุคคลคนละคนกับนายสมชายตามโจทก์ บรรยายมาในฟ้อง อีกกรณีหนึ่ง

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ทั้งสองกรณีตามข้อ (ก) และ (ข) ศาลมีอํานาจลงโทษจําเลยตามฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคําขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริง อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านายสมศรีจําเลยฆ่านายสมชายตาย แต่ทางพิจารณา ฟังได้ว่าจําเลยเป็นคนฆ่านายสมชายผู้ตายจริง แต่จากพยานหลักฐานโจทก์ปรากฏว่าจําเลยชื่อนางสมศรีหาใช่ ชื่อนายสมศรีตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่นั้น แสดงว่าผู้กระทําความผิดตามฟ้องและตามที่ปรากฏในทาง พิจารณาเป็นคนเดียวกัน หาได้ผิดตัวผิดคนไม่ เพียงแต่โจทก์ระบุเพศของจําเลยผิดไปเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงที่ ปรากฏในทางพิจารณาที่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญ และการที่โจทก์บรรยาย ฟ้องผิดไปก็มิได้เป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจลงโทษจําเลยตามฟ้องได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง

(ข) การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจําเลยฆ่านายสมชาย แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า จําเลยฆ่านางสมชายซึ่งเป็นบุคคลคนละคนกับนายสมชายตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น ถือว่าเป็นกรณี ที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกฆ่าซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทําอันเป็นองค์ประกอบของความผิดแตกต่างกัน จึงถือเป็น ข้อแตกต่างที่เป็นข้อสาระสําคัญ ดังนั้น ศาลต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ศาลไม่มีอํานาจลงโทษจําเลย

สรุป
กรณีตามข้อ (ก) ศาลมีอํานาจลงโทษจําเลยตามฟ้อง
ส่วนกรณีตามข้อ (ข) ศาลไม่มีอํานาจลงโทษจําเลย ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ 4. พนักงานงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับ ตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) จําเลยให้การปฏิเสธว่า ตนมิได้กระทําผิดตามโจทก์ฟ้อง ในระหว่างการพิจารณาของศาล โจทก์ยื่นคําร้องขอระบุพยาน เพิ่มเติม ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้อง โดยโจทก์มิได้ดําเนินการโต้แย้งคําสั่งดังกล่าวไว้แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์และจําเลยเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นําสืบ ยังรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิดจึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นที่ ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม พร้อมกับยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานหลักฐานที่ ตนนําสืบสามารถรับฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิดขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพียงใด จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 193 วรรคหนึ่ง “คดีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่ กรณีต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้…”

มาตรา 196 “คําสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทําให้คดีเสร็จสํานวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นจนกว่า จะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งในประเด็นสําคัญและมีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยในความผิด ฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) จําเลยให้การปฏิเสธว่าตนมิได้กระทําผิด ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์และจําเลยเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นําสืบ ยังรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิด จึงพิพากษายกฟ้อง และโจทก์อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นว่าพยาน หลักฐานที่ตนนํามาสืบสามารถรับฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิด ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้องนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งถือเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท จึงเป็นกรณีที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จําคุกเกิน 3 ปี หรือปรับเกิน 60,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น โจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ได้ตาม มาตรา 193 วรรคหนึ่ง

ส่วนกรณีที่โจทก์ยื่นคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมในระหว่างการพิจารณาของศาล แต่ศาลชั้นต้น มีคําสั่งยกคําร้องโดยโจทก์มิได้ดําเนินการโต้แย้งคําสั่งดังกล่าวไว้แต่อย่างใด และต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่ง ศาลชั้นต้นที่ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการอุทธรณ์คําสั่งระหว่างพิจารณานั้น เมื่อศาลได้มีคำพิพากษา ในประเด็นที่สําคัญ และโจทก์ได้อุทธรณ์คําพิพากษานั้นด้วย ดังนั้นโจทก์จึงสามารถอุทธรณ์คําสั่งระหว่างพิจารณา ดังกล่าวได้ตาม มาตรา 196 แม้โจทก์จะมิได้ดําเนินการโต้แย้งคําสั่งดังกล่าวไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม

สรุป ศาลจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาได้ ทั้งในส่วนของการอุทธรณ์คําสั่งของ ศาลชั้นต้นที่ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม และการอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้น

Advertisement