การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3107 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องอ้างว่า จําเลยทําสัญญากู้เงินจากโจทก์จํานวน 100,000 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จําเลย ชําระหนี้คืนแก่โจทก์จํานวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจําเลยจะชําระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า จําเลยชําระหนี้เงินกู้คืนแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาได้ข้อเท็จจริงว่า จําเลยมีหลักฐานการชําระหนี้คืนแก่โจทก์ที่จําเลยหามาแสดงต่อศาลได้เป็นจํานวน 50,000 บาท จึงมีคําพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้แก่โจทก์ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจาก วันฟ้องจนกว่าจําเลยจะชําระแก่โจทก์เสร็จสิ้น จําเลยไม่พอใจคําพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงต้องการ ยื่นอุทธรณ์ว่า หนี้ตามคําพิพากษาจํานวน 50,000 บาทนั้น โจทก์ได้มีหนังสือปลดหนี้ให้แก่จําเลย ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีนี้ จึงรวมถึงดอกเบี้ยตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ จําเลยไม่มีหน้าที่ต้องชําระหนี้ตามคําพิพากษาของศาล ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น โดยมีนายหมอกผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ดังนี้ จําเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้น หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์
คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่า จําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จํานวน 100,000 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จําเลยชําระหนี้คืนแก่โจทก์จํานวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจาก วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยจะชําระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า จําเลยชําระหนี้เงินกู้คืน

แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาได้ความว่า จําเลยมีหลักฐานการชําระหนี้ คืนโจทก์ที่จําเลยหามาแสดงต่อศาลได้เป็นจํานวน 50,000 บาท จึงพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้แก่โจทก์จํานวน 50,000 บาทนั้น การที่จําเลยไม่พอใจคําพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องการยื่นอุทธรณ์ว่า หนี้ตามคําพิพากษา 50,000 บาท โจทก์มีหนังสือปลดหนี้ให้แก่จําเลยตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะมาฟ้องนั้น คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ซึ่ง ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ของจําเลยไม่เกิน 50,000 บาท แต่เมื่อนายหมอกผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนี้ได้รับรองว่า มีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ดังนั้น โดยหลักแล้วจําเลยย่อมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ตามมาตรา 224

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จําเลยอุทธรณ์ คือ หนี้ตามคําพิพากษา 50,000 บาท โจทก์มีหนังสือปลดหนี้ให้แก่จําเลยนั้น เป็นประเด็นที่จําเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น อีกทั้งไม่ใช่ปัญหา เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 225 ดังนั้น จําเลยจึงอุทธรณ์ไม่ได้

สรุป จําเลยจะอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจําเลยให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทําละเมิดจํานวน 1 ล้านบาท จําเลยยื่น คําให้การว่าจําเลยไม่ได้ทําละเมิดและโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องคดี ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่น คําร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกนายขนุนเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลไต่สวนและมีคําสั่งยกคําร้อง ดังกล่าว โจทก์ยื่นอุทธรณ์คําสั่งยกคําร้องทันที ต่อมาจําเลยยื่นคําขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ในปัญหาเรื่องโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคําฟ้องแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องจริง ศาลจึงมีคําสั่งงดสืบพยานโจทก์จําเลยและพิพากษายกฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า

(1) โจทก์ยื่นอุทธรณ์คําสั่งยกคําร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกนายขนุนเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมทันที ในระหว่างพิจารณาคดีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) โจทก์ยื่นอุทธรณ์คําสั่งวินิจฉัยเรื่องโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 24 วรรคหนึ่ง “เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัย ให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสําคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดําเนินการพิจารณาประเด็นข้อสําคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทําให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคําขอ ให้ศาลมีอํานาจที่จะมีคําสั่งให้มีผลว่าก่อนดําเนินการพิจารณาต่อไป
ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น”

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา
(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น
เป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่งระหว่าง
พิจารณา”

มาตรา 227 “คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือคําสั่งวินิจฉัย ชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณา และให้อยู่ ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี”

มาตรา 229 “การอุทธรณ์นั้นให้ทําเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น ซึ่งมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น…..”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทธรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทําละมิดจํานวน 1 ล้านบาท จําเลยยื่นคําให้การว่าจําเลยไม่ได้ทําละเมิด และโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องคดี ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคําร้อง ขอให้ศาลออกหมายเรียกนายขนุนเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลไต่สวนและมีคําสั่งยกคําร้องดังกล่าวนั้น คําสั่งยกคําร้อง ขอให้ศาลออกหมายเรียกนายขนุนเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมนั้น ถือเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา เพราะเป็นคําสั่ง ของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินคดี และเมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล และไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 227 และ 228 ดังนั้น โจทก์จะยื่นอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวทันทีในระหว่างพิจารณาคดีไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 226

(2) การที่จําเลยยื่นคําขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาเรื่องโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง และศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องจริง ศาลจึงมีคําสั่งงดสืบพยานโจทก์จําเลย
และพิพากษายกฟ้อง คําสั่งวินิจฉัยเรื่องโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องนั้นถือเป็นคําสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหา ข้อกฎหมายตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง จึงมิให้ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวได้ภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งตามมาตรา 227 และมาตรา 229

สรุป (1) โจทก์จะยื่นอุทธรณ์คําสั่งยกคําร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกนายขนุนเข้ามาเป็น โจทก์ร่วมทันทีในระหว่างพิจารณาคดีไม่ได้

(2) โจทก์สามารถยื่นอุทธรณ์คําสั่งวินิจฉัยเรื่องโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องได้ภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําสั่ง

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องโดยมีคําขอบังคับให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายอ้างว่า
โจทก์อนุญาตให้จําเลยอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ บัดนี้โจทก์ประสงค์ใช้ประโยชน์ในที่ดินเอง แต่จําเลยไม่ยอมคืนที่ดินให้แก่โจทก์ จําเลยให้การว่า จําเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเวลากว่าสิบปี ไม่เคยขออนุญาตจากโจทก์ ที่ดินตามฟ้องจึงเป็น กรรมสิทธิ์ของจําเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จําเลยและเรียกค่าเสียหาย จากจําเลย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นตีราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน 400,000 บาท ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคําร้องต่อศาลว่า โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ ทั้งจําเลยได้ปิดประกาศขายหน้าดินเพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา ขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยกระทําการดังกล่าว ชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคําร้องของโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของโจทก์ จําเลยยื่นคําร้องขอให้เพิกถอนคําสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า

(1) ศาลชั้นต้นไต่สวนคําร้องของโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยมิได้ฟังคําคัดค้านของจําเลยก่อนเป็นการไม่ชอบ และ

(2) คําสั่งศาลชั้นต้นที่ห้ามมิให้จําเลยประกาศขายหน้าดินไม่ชอบ เพราะไม่เกี่ยวกับคําขอบังคับท้ายคําฟ้องของโจทก์

ให้วินิจฉัยว่า คําร้องของจําเลยที่ขอให้เพิกถอนคําสั่งศาลชั้นต้นตาม (1) และ (2) ในแต่ละกรณี ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้องหรือ ในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา
รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการ ผิดสัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่าย ซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

(3) ให้ศาลมีคําสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นผู้มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทําที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาล จะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(4) ให้จับกุมและกักขังจําเลยไว้ชั่วคราว”
มาตรา 256 “ในกรณีที่ยื่นคําขอให้ศาลมีคําสั่งตามมาตรา 254 (2) หรือ (3) ถ้าศาลเห็นว่าหาก ให้โอกาสจําเลยคัดค้านก่อนจะไม่เสียหายแก่โจทก์ ก็ให้ศาลแจ้งกําหนดวันนั่งพิจารณาพร้อมทั้งส่งสําเนาคําขอ ให้แก่จําเลยโดยทางเจ้าพนักงานศาล จําเลยจะเสนอข้อคัดค้านของตนในการที่ศาลนั่งพิจารณาคําขอนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน จําเลยให้การต่อสู้ว่า จําเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดย การครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นคดีที่คู่ความพิพาทกันเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งหากคู่ความฝ่ายใดเป็นฝ่าย ชนะคดีก็ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่ดินจึงเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันในคดี คําร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคําสั่ง ห้ามมิให้จําเลยประกาศขายหน้าดินเพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา จึงถือได้ว่าเป็นคําร้องที่โจทก์ขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําการใดเพื่อให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทตาม มาตรา 254 (2) ซึ่งคําขอตามมาตรา 254 (2) นั้น กฎหมายกําหนดให้โจทก์ยื่นคําขอฝ่ายเดียวแต่มิใช่คําขอฝ่ายเดียว โดยเคร่งครัด และตามมาตรา 256 ได้กําหนดแต่เพียงว่าให้ศาลฟังข้อคัดค้านของจําเลยก่อน ถ้าศาลเห็นว่าจะ ไม่เป็นที่เสียหายแก่โจทก์ จึงถือเป็นดุลพินิจของศาล ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนคําร้องของโจทก์ไปฝ่ายเดียว โดยมิได้ฟังคําคัดค้านของจําเลยก่อน แล้วมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของโจทก์นั้น จึงชอบด้วยกฎหมาย คําร้อง ของจําเลยที่ว่าคําสั่งของศาลชั้นต้นในกรณีนี้เป็นการไม่ชอบ จึงฟังไม่ขึ้น

(2) ข้ออ้างของจําเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ห้ามมิให้จําเลยประกาศขายหน้าดินเพราะไม่เกี่ยวกับ คําขอท้ายคําฟ้องของโจทก์นั้นฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะการประกาศขายหน้าดินของจําเลยเพื่อทําบ่อเลี้ยงปลานั้นย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทําให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่พิพาทและเสียหายแก่โจทก์ หากในที่สุดโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ดังนั้น คําสั่งศาลชั้นต้นที่ห้ามมิให้จําเลยปิดประกาศขายหน้าดินของที่ดิน พิพาทจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคําขอบังคับท้ายคําฟ้องของโจทก์และเป็นคําสั่งที่ชอบแล้ว

สรุป คําร้องของจําเลยที่ขอให้เพิกถอนคําสั่งของศาลชั้นต้นตาม (1) และ (2) ฟังไม่ขึ้นทั้ง 2 กรณี

 

ข้อ 4. ศาลแพ่งพิพากษาให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 111 และให้จําเลยชําระ ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์จํานวน 50,000 บาท จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง

(1) นายสมานยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งว่า โจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 111 ให้แก่นายสมานโดยได้ จดทะเบียนซื้อขายกันตามกฎหมายแล้ว ขอให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้นายสมานเข้าสวมสิทธิเป็น
เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแทนโจทก์เพื่อบังคับคดีขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน

(2) นายรวยยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งว่า นายรวยเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาของโจทก์ในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลมีคําพิพากษาให้โจทก์ชําระเงินแก่นายรวย 30,000 บาท แต่โจทก์ไม่ชําระหนี้แก่นายรวย และไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ ทําให้นายรวยเสียประโยชน์ ขอให้ ศาลมีคําสั่งให้นายรวยใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เพื่อบังคับคดีแก่จําเลยให้ชําระเงิน 30,000 บาท แก่นายรวย

ให้วินิจฉัยว่า ศาลแพ่งจะรับคําร้องตาม (1) และ (2) แต่ละกรณีของนายสมานและนายรวยไว้ พิจารณาหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 274 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาล มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ชําระหนี้ (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกโดยคําพิพากษาหรือ คําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ให้ได้รับชําระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิ เรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง…

ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นการให้ชําระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นมีอํานาจบังคับคดีตามความในหมวด 2 การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด 3 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่ศาลแพ่งพิพากษาให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 111 และให้ จําเลยชําระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์จํานวน 50,000 บาท จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้น การที่นายสมานยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งว่า โจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 111 ให้แก่นายสมานโดย ได้จดทะเบียนซื้อขายกันตามกฎหมายแล้ว ขอให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้นายสมานเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตาม คําพิพากษาแทนโจทก์เพื่อบังคับคดีขับไล่จําเลยออกจากที่ดินนั้น เมื่อหนี้ที่จําเลยต้องปฏิบัติตามคําพิพากษานั้น เป็นการบังคับคดีที่ให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาท มิใช่เป็นการบังคับคดีให้ชําระเงิน ส่งคืน หรือส่งมอบ ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 274 วรรคสาม ซึ่งได้บัญญัติให้บุคคลซึ่งรับโอนสิทธิตามคําพิพากษานั้น สามารถยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไปได้ นายสมานจึงไม่มีอํานาจยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแทนโจทก์เพื่อบังคับคดีขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน

ดังนั้น กรณีนี้ศาลแพ่งจะรับคําร้องขอของนายสมานไว้พิจารณาไม่ได้

(2) การที่นายรวยได้ยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งว่า นายรวยเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาของโจทก์ใน อีกคดีหนึ่งซึ่งศาลมีคําพิพากษาให้โจทก์ชําระเงินแก่นายรวย 30,000 บาท แต่โจทก์ไม่ชําระหนี้แก่นายรวย และ ไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องบังคับคดีแก่จําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ ทําให้นายรวยเสียประโยชน์ ขอให้ศาลมีคําสั่งให้นายรวย ใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เพื่อบังคับคดีแก่จําเลยให้ชําระเงิน 30,000 บาทแก่นายรวยนั้น ตามมาตรา 274 วรรคสาม ได้บัญญัติให้บุคคลซึ่งรับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษาหรือตามคําสั่งเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไป แต่นายรวยเป็นเพียงเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง บังคับคดีเอาแก่จําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษาของตนเท่านั้น มิใช่เป็นบุคคลซึ่งรับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษาของโจทก์ จึงไม่มีสิทธิยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแทนโจทก์ได้ ดังนั้น กรณีนี้ศาลแพ่งจะรับคําร้องของนายรวยไว้พิจารณาไม่ได้

สรุป ศาลแพ่งจะรับคําร้องขอตาม (1) และ (2) ของนายสมานและนายรวยไว้พิจารณาไม่ได้

Advertisement