การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยครอบครองรถยนต์ของโจทก์โดยไม่มีอํานาจ ซึ่งรถยนต์คันนี้มีราคา 1,000,000 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จําเลยส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า จําเลยเช่าซื้อรถยนต์คันนี้มาจากพี่ชายของโจทก์ แต่ยังชําระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน จําเลยกับพี่ชายของโจทก์ตกลงกันให้จําเลยครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวได้ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่พอใจคําพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องการยื่นอุทธรณ์ว่า จําเลยได้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์โดยไม่มีอํานาจ ขอให้ศาลอุทธรณ์บังคับให้จําเลยมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์

Advertisement

ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ใน

ข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควร อุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคําฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการห้ามคู่ความอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีดังต่อไปนี้ คือ

1. คดีที่ราคาทรัพย์ที่พิพาทหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท
หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

2. คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้อง ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยครอบครองรถยนต์ของโจทก์โดยไม่มีอํานาจ ซึ่งรถยนต์คันนี้มีราคา 1,000,000 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จําเลยส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ และจําเลยยื่นคําให้การ อ้างว่า จําเลยเช่าซื้อรถยนต์คันนี้มาจากพี่ชายของโจทก์ แต่ยังชําระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน จําเลยกับพี่ชาย ของโจทก์ตกลงกันให้จําเลยครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวได้ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง และต่อมาศาลชั้นต้น มีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่พอใจคําพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องการยื่นอุทธรณ์ว่า จําเลยได้ครอบครอง

รถยนต์ของโจทก์โดยไม่มีอํานาจนั้น การอุทธรณ์ของโจทก์ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ของศาลซึ่งถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนี้ โจทก์ก็ย่อมสามารถอุทธรณ์ได้ เพราะเมื่อโจทก์ฟ้อง อ้างว่าจําเลยครอบครองรถยนต์ของโจทก์โดยไม่มีอํานาจ แต่จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่าจําเลยได้ครอบครอง รถยนต์พิพาทเนื่องจากจําเลยเช่าซื้อรถยนต์จากพี่ชายของโจทก์ จึงไม่ถือว่าจําเลยต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แต่เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง

สรุป โจทก์สามารถอุทธรณ์ได้

 

ข้อ 2. นางสาวสองฟ้องนายศานให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญาหมั้นจํานวนเก้าแสนบาท นายศานยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่านายศานไม่ได้ผิดสัญญาหมั้นจึงไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายศานผิดสัญญาหมั้นและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวสองตามฟ้อง นายศานยื่นอุทธรณ์ว่าคําฟ้องของนางสาวสองเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของนายศานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้ โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดี
อันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการยื่นอุทธรณ์นั้น

1. ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2. ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และ

3. อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้อง เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เว้นแต่ จะต้องด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ก็ยังมีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ได้ คือ

1. เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ

2. เป็นปัญหาที่คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะ พฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือ

3. เพราะเหตุเป็นเรื่องศาลชั้นต้นที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวสองฟ้องนายศานให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการผิด สัญญาหมั้นจํานวนเก้าแสนบาท นายศานยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่านายศานไม่ได้ผิดสัญญาหมั้นจึงไม่ต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายศานผิดสัญญาหมั้นและให้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวสองตามฟ้องนั้น การที่นายศานยื่นอุทธรณ์ว่าคําฟ้องของนางสาวสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นข้อที่นายศานไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง อีกทั้งข้อที่นายศ ยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่ออุทธรณ์นั้น ก็มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่นายศานจะมีสิทธิ ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ตามมาตรา 225 วรรคสอง ดังนั้น อุทธรณ์ของนายศานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป อุทธรณ์ของนายศานไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. ผู้ร้องยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายมรณะผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่น คําคัดค้านขอให้ยกคําร้องของผู้ร้องและขอให้มีคําสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคําสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและให้ยกคําคัดค้านของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้คัดค้านยื่นคําร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้มีคําสั่งคุ้มครองประโยชน์ของผู้คัดค้านและทายาทอื่นของผู้ตาย เนื่องจากผู้ร้องตั้งใจจะจําหน่ายจ่ายโอนทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยให้ผู้ร้องทําบัญชีทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครอง ของผู้ร้องส่งต่อศาล ผู้ร้องได้รับสําเนาคําร้องของผู้คัดค้านแล้วไม่ยื่นคําคัดค้าน

ให้วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิยื่นคําร้องดังกล่าวหรือไม่ และศาลอุทธรณ์จะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของผู้คัดค้านหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือ ในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษารวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการผิด สัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับ ต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่ายซึ่งทรัพย์สิน ที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลายซึ่งทรัพย์สิน ดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

(3) ให้ศาลมีคําสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นผู้มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทําที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาล จะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(4) ให้จับกุมและกักขังจําเลยไว้ชั่วคราว”

มาตรา 264 “นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 254 คู่ความชอบที่จะยื่น คําขอต่อศาล เพื่อให้มีคําสั่งกําหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา เช่น ให้นําทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการ หรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทําการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครอง
ของบุคคลภายนอก

คําขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 227 มาตรา 228 มาตรา 260 และมาตรา 262”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่ผู้คัดค้านยื่นคําร้องต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งคุ้มครองประโยชน์ของผู้คัดค้านและทายาทอื่นของผู้ตาย โดยให้ผู้ร้องทําบัญชีทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของผู้ร้องส่งต่อศาลนั้น มิใช่คําร้องขอให้ศาลกําหนดวิธีการคุ้มครองภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไข ตามที่กําหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (4) แต่อย่างใด จึงมิใช่คําขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลอุทธรณ์มีคําพิพากษาตามมาตรา 254 วรรคหนึ่ง แต่เป็นคําขอให้ศาลอุทธรณ์ กําหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ตามมาตรา 264 ซึ่งให้สิทธิแก่คู่ความที่จะขอได้ เมื่อผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านมาตั้งแต่ ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่ความที่มีสิทธิยื่นคําร้องดังกล่าวได้

แต่อย่างไรก็ดี การขอคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความตามมาตรา 264 นั้น จะต้องเป็นการร้องขอให้ ศาลกําหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อให้สิทธิ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ขอที่พิพาทกันในคดีนั้น ให้ได้รับความคุ้มครองไว้ในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง เมื่อคดีนี้มีประเด็นที่ คู่ความพิพาทกันเพียงว่า ใครสมควรเป็นผู้จัดการมรดก มิได้มีประเด็นพิพาทกันในเรื่องทรัพย์มรดกของผู้ตาย ที่จะนํามาแบ่งปันในระหว่างทายาท ผู้คัดค้านจะขอให้ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งให้ผู้ร้องทําบัญชีทรัพย์มรดกที่อยู่ใน ความครอบครองของผู้ร้องส่งต่อศาลไม่ได้ เพราะมิใช่เรื่องที่ผู้คัดค้านขอให้ศาลกําหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อให้สิทธิทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ขอที่พิพาทกันในคดีให้ได้รับความคุ้มครองไว้ในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของผู้คัดค้านไม่ได้

สรุป ผู้คัดค้านมีสิทธิยื่นคําร้องดังกล่าวได้ แต่ศาลอุทธรณ์จะมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของ
ผู้คัดค้านไม่ได้

 

ข้อ 4. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้ขับไล่จําเลยและบริวาร กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้าย ทรัพย์สินของจําเลยออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ให้จําเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 40,000 บาท และเดือนละ 2,000 บาท ไปจนกว่าจําเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท โดยในวัน อ่านคําพิพากษา ทนายโจทก์และผู้รับมอบฉันทะจากทนายจําเลยมาฟังคําพิพากษาและศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ออกคําบังคับแก่จําเลยให้ปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคําพิพากษา
ในระหว่างนั้นโจทก์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้นายฟ้าและทําหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง ในหนี้ตามคําพิพากษาที่ให้ขับไล่จําเลยและบริวารกับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินของจําเลยออกไปจากที่ดินพิพาท โดยลงลายมือชื่อของโจทก์ฝ่ายเดียวในฐานะผู้โอนให้นายฟ้าไว้เป็น หลักฐาน และเมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาตามคําบังคับแล้ว จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา ให้วินิจฉัยว่า นายฟ้าจะร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคําพิพากษาแก่จําเลยได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 274 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาล มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ชําระหนี้ (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกโดยคําพิพากษาหรือ คําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ให้ได้รับชําระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง….

ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นการให้ชําระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นมีอํานาจบังคับคดีตามความในหมวด 2 การบังคับคดี
ในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด 3 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง แล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้ขับไล่จําเลยและบริวาร กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและ ขนย้ายทรัพย์สินของจําเลยออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์นั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง เป็นการให้ชําระเงิน ส่งคืน หรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ตามที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคสาม
ซึ่งได้บัญญัติให้บุคคลซึ่งรับโอนสิทธิตามคําพิพากษานั้นสามารถยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไปได้ ดังนั้น แม้นายฟ้าจะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาในหนี้ดังกล่าวโดยชอบจาก โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาก็ตาม นายฟ้าก็ไม่มีอํานาจยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ ตามคําพิพากษาเพื่อบังคับคดีแก่จําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคสาม

2. สําหรับหนี้ตามคําพิพากษาในส่วนที่ให้จําเลยชําระเป็นเงินค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เมื่อจําเลย ซึ่งเป็นคู่ความและเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคําพิพากษาและระยะเวลาที่กําหนดไว้เพื่อให้ลูกหนี้ ปฏิบัติตามคําบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ และเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาเท่านั้นที่มีอํานาจในการร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคําพิพากษาแก่จําเลยได้ ดังนั้น เมื่อนายฟ้ามิใช่คู่ความในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา นายฟ้าจึงไม่มีอํานาจที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคําพิพากษาแก่จําเลยได้

สรุป นายฟ้าจะร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคําพิพากษาแก่จําเลยไม่ได้

Advertisement