การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3106 (LAW 3006) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายกระทิงออกเช็คชําระหนี้ให้นายกระทงจํานวน 300,000 บาท นายกระทงนําเช็คไปขึ้นเงินที่ ธนาคารเมื่อเช็คถึงกําหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย นายกระทง จึงนําเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความ ไว้เป็นหลักฐาน” เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ ลงโทษนายกระทิงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ระหว่างศาลชั้นต้น พิจารณาคดี นายกระทงยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้ ศาลจะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการและคําร้องของนายกระทงอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”
มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย”
มาตรา 30 “คดีอาญา ซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”
มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะมีคําร้องทุกข์ตามระเบียบ “
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกระทิงออกเช็คชําระหนี้ให้นายกระทง และเมื่อเช็คถึงกําหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น เมื่อนายกระทงเป็นผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายกระทงจึง เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) แต่การที่นายกระทงนําเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอ แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” ถือว่านายกระทงยังไม่มีเจตนาให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ ถ้อยคําที่แจ้งจึงไม่เป็น คําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (7) (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 62/2521)
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มี
คําร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอํานาจสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง ทําให้การสอบสวน ของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 ประกอบมาตรา 28 ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ
เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้วจึงไม่มีคําฟ้องอยู่ในศาล นายกระทงแม้จะ เป็นผู้เสียหายก็ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 ได้ ดังนั้น ศาลจึงต้องสั่ง
ยกคําร้องของนายกระทงเช่นเดียวกัน
สรุป ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และต้องมีคําสั่งยกคําร้องของนายกระทง
ข้อ 2. ในระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์
นายเติมผู้เสียหายยื่นคําร้องต่อศาลขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลอนุญาต ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ นายเติมยื่นคําร้องต่อศาลขอถอนคําร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ด้วยเหตุผลว่า ความคิดเห็นไม่ตรงกันหลายประการและเกรงว่าจะทําให้คดีเสียหาย ศาลอนุญาต ในวันรุ่งขึ้นนายเติมกลับมายื่นคําร้องต่อศาลขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการอีกครั้ง โดย ระบุว่าเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป ดังนี้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม
เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
มาตรา 36 “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่…..”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายเติมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ใน ครั้งแรกตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่านายเติมเป็นผู้เสียหาย สามารถดําเนินคดีแก่จําเลย โดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการได้ เสมือนนายเติมเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ดังนั้น การที่นายเติมได้ยื่น
คําร้องต่อศาลขอถอนคําร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในระหว่างการสืบพยานโจทก์และศาล
อนุญาต จึงมีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ผู้เสียหายแล้ว
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเติมได้ยื่นคําร้องต่อศาลขอถอนฟ้องจากการเป็นโจทก์ร่วม โดย ให้เหตุผลว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกับพนักงานอัยการหลายประการและเกรงว่าจะทําให้คดีเสียหายนั้น ไม่ปรากฏว่า นายเติมจะไปดําเนินการอะไรอีก ย่อมถือว่านายเติมไม่ประสงค์จะดําเนินคดีแก่จําเลยอีกต่อไป นายเติมจะไป ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์อีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 (ฎีกาที่ 7241/2544) ดังนั้น ศาลจะไม่อนุญาต ให้นายเติมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการอีกครั้ง
สรุป ศาลจะไม่อนุญาตให้นายเติมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
ข้อ 3. นายดําอยู่กินฉันสามีภริยากับนางขาวและมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือเด็กหญิงฟ้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่เด็กหญิงฟ้าอายุ 14 ปี 8 เดือน นายเหลืองกระทําชําเราเด็กหญิงฟ้า ต่อมาเด็กหญิงฟ้าได้ เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้นายดําฟัง นายดําจึงเดินทางไปพบพนักงานสอบสวน และได้กล่าวหาต่อ พนักงานสอบสวนว่านายเหลืองกระทําชําเราเด็กหญิงฟ้า โดยมีเจตนาจะให้นายเหลืองได้รับโทษ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนมีอํานาจสอบสวนคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”
มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”
มาตรา 121 “พนักงานสอบสวนมีอํานาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวน เว้นแต่จะมีคําร้องทุกข์ตามระเบียบ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เด็กหญิงฟ้าอายุ 14 ปี 8 เดือน ถูกนายเหลืองกระทําชําเรา และต่อมา เด็กหญิงฟ้าได้เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้นายดําซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงฟ้าฟังนั้น เมื่อนายดํา ไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงฟ้า นายดําจึงไม่มีฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมและไม่สามารถจัดการ แทนเด็กหญิงฟ้าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (1) ได้ แม้เด็กหญิงฟ้าจะเป็นผู้เยาว์ก็ตาม และนายดําก็ไม่สามารถ จัดการแทนเด็กหญิงฟ้าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ได้เช่นกัน เพราะแม้นายดําจะเป็นผู้บุพการีของเด็กหญิงฟ้า แต่การที่เด็กหญิงฟ้าถูกนายเหลืองกระทําชําเรานั้น ไม่ปรากฏว่าเด็กหญิงฟ้าถูกทําร้ายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถ จัดการเองได้แต่อย่างใด ดังนั้น นายดํา จึงไม่ใช่บุคคลอื่นผู้มีอํานาจจัดการแทนได้ อันจะถือว่าเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) นายดําจึงไม่อาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนทําการสอบสวน คดีนี้ได้ การร้องทุกข์ของนายดําจึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (7)
แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 นั้น เป็นความผิดที่ยอมความกันไม่ได้ หรือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้น แม้จะไม่มี คําร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอํานาจสอบสวนคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “พนักงานสอบสวนมีอํานาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง”
สรุป พนักงานสอบสวนมีอํานาจสอบสวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคหนึ่ง
หมายเหตุ ในปัจจุบันความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นนั้น เป็นความผิดที่ยอมความกันไม่ได้ (ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป)
ข้อ 4. ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมเห็นนายตะขบยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายมะละกอ โดยทั้งนายตะขบและนายมะละกอ
ยืนอยู่ตรงทางสาธารณะ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมแจ้งแก่นายตะขบว่าต้องถูกจับและจะเข้าทําการจับ นายตะขบ แต่นายตะขบวิ่งหนีเข้าไปในบ้านมารดาของนายตะขบ ซึ่งนายตะขบก็พักอาศัยอยู่ใน บ้านหลังนี้ด้วย ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจึงตามเข้าไปจับนายตะขบในบ้านมารดาของนายตะขบทันทีโดยที่ไม่มีหมายจับและหมายค้น
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือพบ ในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”
มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตามบทบัญญัติ ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”
มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้
(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้น ควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมได้จับนายตะขบในบ้านของมารดานายตะขบนั้น ถือเป็น การจับในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้จะต้องมีอํานาจในการจับโดยมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมายให้ ทําการจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย และต้องทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วย การค้นในที่รโหฐาน คือ มีอํานาจการค้นโดยมีหมายค้นหรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย
การที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมเห็นนายตะขบยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายมะละกอ โดยทั้งนายตะขบและ นายมะละกอยืนอยู่ตรงทางสาธารณะนั้น การกระทําของนายตะขบเป็นการกระทําความผิดฐานพยายามฆ่า นายมะละกอตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้าประเภทความผิดซึ่งหน้า อย่างแท้จริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจึงมีอํานาจ ในการจับนายตะขบได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ
และเมื่อ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมได้แจ้งแก่นายตะขบว่าต้องถูกจับและจะเข้าทําการจับนายตะขบ แต่ นายตะขบวิ่งหนีเข้าไปในบ้านมารดาของนายตะขบ ซึ่งนายตะขบก็พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย ร.ต.ต.ยอดเยี่ยม จึงตามเข้าไปจับนายตะขบในบ้านมารดาของนายตะขบทันทีนั้น ถือว่าเป็นการจับในที่รโหฐาน และเมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมได้ทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันว่าด้วย การค้นในที่รโหฐานตามมาตรา 92 (3) แล้ว เนื่องจากเป็นกรณีที่นายตะขบได้กระทําความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูก ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมไล่จับและได้หนีเข้าไปในบ้านมารดาของนายตะขบซึ่งเป็นที่รโหฐาน ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจึงมีอํานาจ เข้าไปจับนายตะขบในบ้านมารดาของนายตะขบได้ทันที ดังนั้น การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจึงชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1), มาตรา 80 วรรคหนึ่ง, มาตรา 81 และมาตรา 92 (3)
สรุป การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมชอบด้วยกฎหมาย