การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายมหากระทิงออกเช็คชําระหนี้ให้นายศรีลจํานวน 300,000 บาท นายศรีลนําเช็คไปขึ้นเงิน ที่ธนาคารเมื่อเช็คถึงกําหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย นายศรีล จึงนําเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ ลงโทษนายมหากระทิงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ระหว่างศาลชั้นต้น พิจารณาคดี นายศรีลยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้ ศาลจะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการและคําร้องของนายศรีลอย่างไร

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(1) พนักงานอัยการ

(2) ผู้เสียหาย”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม
เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะมี
คําร้องทุกข์ตามระเบียบ”

วินิจฉัย

โดยหลักการแล้วพนักงานอัยการเป็นบุคคลผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตาม ป.วิ.อาญา
มาตรา 28 (1) แต่ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน (ป.วิ.อาญา มาตรา 120) และถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะได้มีคําร้องทุกข์ ตามระเบียบ (ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง)

ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค คือผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงิน ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมหากระทิงออกเช็คชําระหนี้ให้นายศรีลจํานวน 300,000 บาท
นายศรีลนําเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเมื่อเช็คถึงกําหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย ดังนั้นจึงถือว่า นายศรีลเป็นผู้เสียหายตามนัยของ ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4)

แต่การที่นายศรีลได้นําเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ
จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” นั้น ไม่ถือว่าเป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามกฎหมาย คือ ไม่มีเจตนาที่จะให้นายมหากระทิงผู้กระทําความผิดได้รับโทษ ดังนั้น การแจ้งความของนายศรีลดังกล่าวจึงไม่ถือว่า เป็นการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (7) และเมื่อความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็คเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีคําร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอํานาจสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง ดังนั้น การสอบสวนที่พนักงานสอบสวนได้ดําเนินการไปจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย กฎหมาย และเป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 ประกอบมาตรา 28 ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว จึงถือว่าไม่มีคําฟ้องของพนักงานอัยการอยู่ในศาล นายศรีลจึงมิอาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 30) ดังนั้น ศาลจึงต้องยกคําร้องการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนายศรีล

สรุป ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และสั่งยกคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายศรีล

 

ข้อ 2. นายแดงมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบสถานีตํารวจภูธรเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท นายแดง หลอกนางสาวดําจากบ้านพักซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบสถานีตํารวจภูธรโคกตูม จังหวัดลพบุรี ไปค้างคืน บ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบสถานีตํารวจภูธรเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี โดยมุ่งหมาย จะข่มขืนกระทําชําเรานางสาวดํา แต่ปรากฏว่านายแดงถูกตํารวจของสถานีตํารวจภูธรเมืองสระบุรีจับดําเนินคดีในความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 เสียก่อน ให้วินิจฉัยว่า

(ก) พนักงานสอบสวนท้องที่ใดมีอํานาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็น
ผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ เพราะเหตุใด

(ข) หากคดีนี้มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว แต่ปรากฏว่าการจับนายแดง ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ พนักงานอัยการมีอํานาจฟ้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 19 “ในกรณีดังต่อไปนี้
(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทําต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้

ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

(ก) ถ้าจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอํานาจ”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(1) พนักงานอัยการ

(2) ผู้เสียหาย”

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายแดงมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบสถานีตํารวจภูธรเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ได้หลอกลวงนางสาวดําจากบ้านพักซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบสถานีตํารวจภูธรโคกตูม จังหวัดลพบุรี ไปค้างคืนที่ บ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบสถานีตํารวจภูธรเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี โดยมุ่งหมายจะข่มขืนกระทําชําเรา นางสาวดํา แต่ปรากฏว่านายแดงถูกตํารวจของสถานีตํารวจภูธรเมืองสระบุรีจับดําเนินคดีในความผิดฐานพาหญิงไป เพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 เสียก่อนนั้น เมื่อความผิดฐาน พาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทําต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ดังนั้น พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใด คือพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธร โคกตูม จังหวัดลพบุรี และพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ย่อมมีอํานาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง และเมื่อนายแดงถูกจับได้ที่อําเภอเมืองสระบุรี จังหวัด สระบุรี พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับนายแดงได้ จึงเป็น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ก)

(ข) หากคดีนี้มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว แต่ปรากฏว่าการจับนายแดง ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พนักงานอัยการย่อมมีอํานาจฟ้องนายแดงได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28 (1) ประกอบมาตรา 120 ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ในการจับกุมของเจ้าพนักงานตํารวจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน ไม่มีผลกระทบไปถึง การสอบสวนของพนักงานสอบสวน และอํานาจในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1493/2550)

สรุป
(ก) พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรโคกตูม จังหวัดลพบุรี และพนักงานสอบสวนสถานี ตํารวจภูธรเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี มีอํานาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้

(ข) พนักงานอัยการมีอํานาจฟ้องคดีนี้

 

ข้อ 3. ร.ต.อ.เก่งนําหมายจับไปทําการจับกุมนายหนึ่งและนายสองในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์แต่ระหว่างที่
ร.ต.อ.เก่งควบคุมตัวนายหนึ่งและนายสองส่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน นายหนึ่งมีปากเสียงกับ นายสองต่อว่านายสองเป็นต้นเหตุให้ถูกจับแล้วผลักนายสองตกบันไดทางขึ้น สน.ปทุมวัน นายสอง หมดสติและถูกนําตัวส่งโรงพยาบาลของรัฐในเขตท้องที่ สน.พญาไท ต่อมานายสองถึงแก่ความตาย ที่โรงพยาบาล พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ร่วมกับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ประจําโรงพยาบาล ของรัฐดังกล่าว ทําการชันสูตรพลิกศพนายสองได้ความว่านายสองกะโหลกศีรษะแตกถึงแก่ความตาย แล้วส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพไปให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ท้องที่เกิดเหตุดําเนินคดีกับ ผู้ที่ทําให้ตาย พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน สอบสวนดําเนินคดีกับนายหนึ่งแล้วสรุปสํานวน สอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายหนึ่งผู้ต้องหาฐานทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย
ส่งพนักงานอัยการพิจารณา

ให้วินิจฉัยว่า การชันสูตรพลิกศพนายสองและการทําสํานวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน. ปทุมวัน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 150 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ในกรณีที่จะมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภาทําการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว….

ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทําของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือ
ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและ พนักงานฝ่ายปกครองตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นําบทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ”

มาตรา 155/1 วรรคหนึ่ง “การสอบสวนในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทําของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการ
ตามหน้าที่ หรือในกรณีที่ผู้ตายถูกกล่าวหาว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงาน สอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการทําสํานวนสอบสวน”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่ร.ต.อ.เก่งได้นําหมายจับไปทําการจับกุมนายหนึ่งและนายสองในข้อหาลักทรัพย์
แต่ในระหว่างที่ ร.ต.อ.เก่งควบคุมตัวนายหนึ่งและนายสองส่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน นายหนึ่งมีปากเสียง กับนายสองต่อว่านายสองเป็นต้นเหตุให้ถูกจับแล้วผลักนายสองตกบันไดทางขึ้น สน.ปทุมวัน นายสองหมดสติและ ถูกนําส่งโรงพยาบาลของรัฐในเขตท้องที่ สน.พญาไท ต่อมานายสองถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลนั้น ถือเป็นกรณี ที่มีความตายเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 วรรคหนึ่งและวรรคสามได้กําหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ใน ความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงาน

สอบสวนและแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การชันสูตรพลิกศพนายสองนั้นมีเพียงพนักงาน สอบสวน สน.พญาไท กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ประจําโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้นโดยไม่มีพนักงานอัยการและ พนักงานฝ่ายปกครองตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ศพนั้นอยู่ร่วมชันสูตร พลิกศพด้วย ดังนั้น การชันสูตรพลิกศพนายสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 วรรคสาม

ส่วนกรณีการทําสํานวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันนั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 155/1 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า การสอบสวนในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในความควบคุมของ เจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงาน สอบสวนในการทําสํานวนสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ทําการสอบสวน ดําเนินคดีนายหนึ่งฐานทําร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย โดยทําสํานวนสอบสวนแต่ฝ่ายเดียวแล้วส่งสํานวนพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องนายหนึ่งไปยังพนักงานอัยการโดยไม่แจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับ พนักงานสอบสวนในการทําสํานวนสอบสวนแต่อย่างใด ดังนั้น การทําสํานวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 155/1 วรรคหนึ่ง

สรุป การชันสูตรพลิกศพนายสอง และการทําสํานวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. นายหน่อไม้เจ้าของบ้านได้เชิญ พ.ต.ต.กล้าหาญให้เข้าไปรับประทานอาหารในบ้านของนายหน่อไม้ ขณะที่ พ.ต.ต.กล้าหาญอยู่ในบ้านของนายหน่อไม้ พ.ต.ต.กล้าหาญเห็นนายเทายกปืนขึ้นเล็งไปที่ นายลองกอง พ.ต.ต.กล้าหาญจึงแจ้งนายเทาว่าต้องถูกจับและเข้าจับกุมนายเทาทันทีโดยที่ไม่มี หมายจับและหมายค้น

ดังนี้ การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญเข้าจับกุมนายเทาในบ้านของนายหน่อไม้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่

1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือพบ ในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”

มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตามบทบัญญัติ ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”

มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากําลังกระทําลงในที่รโหฐาน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญได้จับนายเทาในบ้านของนายหน่อไม้นั้น ถือเป็นการจับ ในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้จะต้องมีอํานาจในการจับโดยมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมายให้ทําการจับได้ โดยไม่ต้องมีหมายและต้องทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่ รโหฐาน คือ มีอํานาจการค้นโดยมีหมายค้นหรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญเห็นนายเทายกปืนขึ้นเล็งไปที่นายลองกองนั้น การกระทําของนายเทาถือเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายลองกองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และถือเป็นความผิดซึ่งหน้าอย่างแท้จริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง ดังนั้น พ.ต.ต.กล้าหาญจึงมีอํานาจในการจับนายเทาแม้จะไม่มีหมายจับ และเมื่อเป็นกรณีที่นายเทา ได้กระทําผิดซึ่งหน้าในบ้านของนายหน่อไม้ซึ่งเป็นที่รโหฐาน จึงถือว่า พ.ต.ต.กล้าหาญได้ทําตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ มีอํานาจในการค้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 81 ประกอบมาตรา 92 (2) แล้ว อีกทั้งการที่ พ.ต.ต.กล้าหาญได้เข้าไปในบ้านของนายหน่อไม้ซึ่งเป็นที่ รโหฐานอันถือเสมือนเป็นการค้นในที่รโหฐานนั้น ก็เป็นการเข้าไปโดยชอบเนื่องจากนายหน่อไม้เจ้าของผู้ครอบครอง ที่รโหฐานได้เชื้อเชิญเข้าไป พ.ต.ต.กล้าหาญจึงไม่ต้องขอหมายค้นของศาลเพื่อเข้าไปค้นบ้านที่ตนอยู่ในบ้าน โดยชอบแล้ว ดังนั้น การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญจับกุมนายเทาในบ้านของนายหน่อไม้จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญเข้าจับกุมนายเทาในบ้านของนายหน่อไม้ชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement