การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

1. ที่ดินของโจทก์ทางทิศเหนือตั้งอยู่ติดต่อกับลําคลองขนาดใหญ่ซึ่งโจทก์และประชาชนทั่วไปนิยม
ใช้ลําคลองเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ําได้เป็นอย่างดี และส่วนที่ดินของโจทก์ทางทิศใต้ตั้งอยู่ติดกับ ทางถนนพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ซึ่งโจทก์ใช้สัญจรนาน ๆ ครั้งแต่ไม่นิยมสัญจรบ่อย เพราะมีวัชพืชปกคลุมอย่างหนาแน่นบนทางถนนพิพาทนั้น ต่อมาจําเลยเข้ายึดถือครอบครองถนนพิพาทโดยทําการไถทางแล้วปลูกต้นสักในเส้นทางถนนดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากการกระทําของจําเลย ขอให้ จําเลยหยุดการไถทางถนนและปลูกต้นสักในเส้นทางถนนพิพาทดังกล่าว จําเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ถนนพิพาท และโจทก์มีลําคลองใหญ่เป็น เส้นทางสัญจรได้เป็นอย่างดีอยู่แล้วจึงไม่เสียหาย อีกทั้งทางถนนพิพาทประชาชนไม่นิยมสัญจรแล้ว จําเลยขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

Advertisement

ให้ท่านวินิจฉัยว่าคําให้การของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือ บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อศาล ส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ที่ดินของโจทก์ทางทิศเหนือตั้งอยู่ติดต่อกับลําคลองขนาดใหญ่ซึ่งโจทก์
และประชาชนทั่วไปนิยมใช้ลําคลองเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ําได้เป็นอย่างดี และส่วนที่ดินของโจทก์ทางทิศใต้ ตั้งอยู่ติดกับทางถนนพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ซึ่งโจทก์ใช้สัญจรนาน ๆ ครั้งแต่ไม่นิยมสัญจรบ่อยเพราะมี วัชพืชปกคลุมอย่างหนาแน่นบนทางถนนพิพาทนั้น การที่จําเลยเข้ายึดถือครอบครองถนนพิพาทโดยทําการไถทาง แล้วปลูกต้นสักในเส้นทางถนนดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ในการใช้เส้นทางสาธารณะ ประโยชน์ อันถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337 แล้ว โดยไม่ต้องคํานึง ว่าโจทก์จะมีเส้นทางอื่นออกสู่สาธารณะหรือไม่ ทั้งไม่ต้องคํานึงว่าประชาชนไม่นิยมใช้เป็นเส้นทางสัญจรหรือเลิกใช้เส้นทางดังกล่าวแล้ว เพราะตราบใดที่ยังไม่มีประกาศยกเลิกโดยทางการก็ยังคงสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่ ดังนั้น การกระทําของจําเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามนัย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอํานาจฟ้อง จําเลยเพื่อให้หยุดการไถทางถนนและปลูกต้นสักในเส้นทางถนนพิพาทดังกล่าวได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 9183/2551) และเมื่อโจทก์ได้ยื่นฟ้องจําเลยดังกล่าวแล้ว การที่จําเลยได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ถนนพิพาท และโจทก์มีลําคลองใหญ่เป็นเส้นทางสัญจรได้เป็นอย่างดีอยู่แล้วจึงไม่เสียหาย อีกทั้งทางถนนพิพาทประชาชนไม่นิยมสัญจรแล้ว ขอให้ศาลยกฟ้องนั้น คําให้การดังกล่าวของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป คําให้การของจําเลยฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. นายสมควรมีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างอยู่ที่อําเภอหัวหิน (ในเขตอํานาจศาลจังหวัดหัวหิน) นายบังอาจ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างมีทะเบียนบ้านอยู่ที่จังหวัดชลบุรี (ในเขตอํานาจศาลจังหวัดชลบุรี) ได้ไป รับเหมาก่อสร้างที่จังหวัดเพชรบุรี (ในเขตอํานาจศาลจังหวัดเพชรบุรี) จึงได้ไปซื้อสินค้าจาก นายสมควรที่ร้านค้าของนายสมควรโดยนายสมควรตกลงว่าจะไปส่งให้นายบังอาจที่จังหวัดเพชรบุรีโดยที่นายบังอาจยังไม่ได้มีการชําระราคาสินค้านั้น เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วนายบังอาจได้ย้ายภูมิลําเนา ไปอยู่ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลา 1 ปี และไม่ได้ชําระราคาค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้นายสมควร กรณีเช่นนี้ นายสมควรจะสามารถฟ้องนายบังอาจได้ยังเขตอํานาจศาลใดได้บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 3 “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคําฟ้อง

(1) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอํานาจ

(2) ในกรณีที่จําเลยไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร

(ก) ถ้าจําเลยเคยมีภูมิลําเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกําหนดสองปีก่อนวันที่มีการเสนอคําฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลําเนาของจําเลย
…”

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นใน เขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบังอาจซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างมีทะเบียนบ้านอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ได้ไปซื้อสินค้าจากนายสมควรที่ร้านค้าของนายสมควรซึ่งมีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างอยู่ที่อําเภอหัวหิน (ในเขตอํานาจ ศาลจังหวัดหัวหิน) นั้น แม้นายสมควรจะได้ตกลงว่าจะนําสินค้าไปส่งให้นายบังอาจที่จังหวัดเพชรบุรีก็ตาม กรณี ดังกล่าวนี้ย่อมถือว่ามูลคดีหรือต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทําให้เกิดอํานาจฟ้องนั้นเกิดขึ้นที่สถานที่ ที่มีการทําสัญญาซื้อขายกันคือที่อําเภอหัวหิน ดังนั้น เมื่อนายบังอาจไม่ชําระราคาค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้นายสมควร นายสมควรย่อมสามารถฟ้องนายบังอาจได้ที่ศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือ นายสมควรจะฟ้องนายบังอาจที่ศาลจังหวัดหัวหินซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าต่อมานายบังอาจได้ย้ายภูมิลําเนาไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลา 1 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่านายบังอาจเคยมีภูมิลําเนาอยู่ในประเทศไทยมาก่อน คือเคยมีภูมิลําเนาอยู่ที่ จังหวัดชลบุรีมาก่อนภายใน 2 ปีก่อนที่จะมีการเสนอคําฟ้อง ดังนั้น นายสมควรจึงสามารถยื่นฟ้องนายบังอาจต่อศาลจังหวัดชลบุรีที่นายบังอาจเคยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 3 (2) (ก)

สรุป นายสมควรสามารถฟ้องนายบังอาจได้ที่ศาลจังหวัดชลบุรีหรือศาลจังหวัดหัวหินศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องจําเลยว่าจําเลยทําสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์โดยไม่ได้ชําระค่าเช่ามาเป็นเวลา 5 เดือน คือ เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2562 จึงขอให้ขับไล่จําเลยออกไปจากที่ดิน ต่อมาภายหลังจากที่จําเลยยื่นคําให้การและมีการสืบพยานไปบ้างแล้วโจทก์เห็นว่าตนไม่ได้เรียกเงินค่าเช่ามาในคําขอท้ายฟ้องซึ่งสามารถเรียกได้ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท เป็นเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน รวมมูลค่า 500,000 บาท กรณีเช่นนี้โจทก์จะยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องขอให้จําเลย ชําระเงิน 500,000 บาท หรือโจทก์จะสามารถนําคดีไปฟ้องใหม่เพื่อให้จําเลยชําระค่าเช่าจํานวน 500,000 บาทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…”

มาตรา 179 “โจทก์หรือจําเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคําฟ้อง หรือคําให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้

(1) เพิ่ม หรือลด จํานวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ

(2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคําฟ้องเพิ่มเติม หรือเสนอคําฟ้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง หรือ

(3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคําฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลัง
ที่ได้ยื่นคําฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คําฟ้องเดิมและคําฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณา และชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”

มาตรา 180 “การแก้ไขคําฟ้องหรือคําให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทําเป็นคําร้องยื่นต่อ ศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุ อันสมควรที่ไม่อาจยื่นคําร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 โจทก์จะยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงิน 500,000 บาทได้หรือไม่
การที่โจทก์ฟ้องจําเลยว่าจําเลยทําสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์โดยไม่ได้ชําระค่าเช่ามาเป็นเวลา 5 เดือน
คือเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2562 จึงขอให้จําเลยออกไปจากที่ดิน แต่ต่อมาภายหลังจากที่จําเลยยื่น คําให้การและมีการสืบพยานไปบ้างแล้ว โจทก์เห็นว่าตนไม่ได้เรียกเงินค่าเช่ามาในคําขอท้ายฟ้องซึ่งสามารถเรียกได้

ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท เป็นเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน รวมมูลค่า 500,000 บาท โจทก์จึงยื่นคําร้อง ขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงิน 500,000 บาทนั้น จะเห็นได้ว่าคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องที่ยื่น ในภายหลังกับคําฟ้องเดิมนั้นมีความเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 วรรคสาม อีกทั้งคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมคําฟ้องเดิม ให้บริบูรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 วรรคสอง (2) ดังนั้น โดยหลักแล้วโจทก์ย่อมสามารถยื่นคําร้องขอแก้ไข เพิ่มเติมคําฟ้องเดิมในกรณีนี้ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180 ได้กําหนดไว้ว่า โจทก์จะต้องทําเป็นคําร้องยื่นต่อศาลก่อนวันเริ่มต้นสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า โจทก์ได้ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องภายหลังจากได้มีการสืบพยานไปบ้างแล้ว อีกทั้งกรณีดังกล่าวก็ไม่เข้า ข้อยกเว้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180 ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถยื่นคําร้องขอ แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องกรณีนี้ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180

ประเด็นที่ 2 โจทก์จะสามารถนําคดีไปฟ้องใหม่เพื่อให้จําเลยชําระค่าเช่าจํานวน 500,000 บาทได้หรือไม่
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ได้กําหนดไว้ว่า ถ้าคดีเดิมอยู่ในระหว่างการพิจารณาโจทก์ ในคดีเดิมจะยื่นฟ้องจําเลยคนเดียวกันในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นฟ้องซ้อนซึ่งต้องห้ามตาม
กฎหมาย และตามอุทาหรณ์เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจําเลยว่าจําเลยทําสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์แล้ว ไม่ได้ชําระค่าเช่ามาเป็นเวลา 5 เดือนนั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแล้วโจทก์คนเดิมจะฟ้องจําเลยคนเดิม เป็นคดีใหม่โดยให้จําเลยชําระค่าเช่าที่ค้างชําระ 5 เดือน เป็นเงิน 500,000 บาทนั้น ถือว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่ง ข้อหาในคดีก่อนกับคดีหลังเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถนําคดีไปฟ้องเป็นคดีใหม่เพื่อให้จําเลยชําระ ค่าเช่าจํานวน 500,000 บาทได้ เพราะจะเป็นฟ้องซ้อนซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

สรุป โจทก์จะยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงิน 500,000 บาทไม่ได้ หรือ จะนําคดีไปฟ้องเป็นคดีใหม่เพื่อให้จําเลยชําระค่าเช่าจํานวน 500,000 บาทไม่ได้เช่นเดียวกันเพราะจะเป็นฟ้องซ้อน

 

ข้อ 4. นายยิ่งยวดเป็นโจทก์ฟ้องนางหนึ่งเป็นจําเลยต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้นางหนึ่งรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนจากทําละเมิดจํานวน 7 แสนบาท นางหนึ่งยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่านางหนึ่ง ไม่ได้ทําละเมิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในวันนัดสืบพยานนัดแรก นายยิ่งยวดมาศาล แต่นางหนึ่งไม่มาศาล ศาลจึงสืบพยานของนายยิ่งยวดไปฝ่ายเดียว ต่อมาในวันสืบพยานนัดที่สอง นายยิ่งยวดและนางหนึ่งมาศาลโดยนางหนึ่งได้ยื่นคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อศาล

ให้วินิจฉัยว่านางหนึ่งมีสิทธิยื่นคําขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 200 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา”

มาตรา 204 “ถ้าจําเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว”

มาตรา 206 วรรคสาม “ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้วและแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดําเนินคดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลไม่เคยมีคําสั่งให้พิจารณาตามคําขอของคู่ความฝ่ายนั้นมาก่อนตามมาตรา 199 ตรี ซึ่งให้นํามาใช้บังคับกับการขาดนัดพิจารณาตาม มาตรา 207 ด้วย ให้ศาลมีคําสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่…”

มาตรา 207 “เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี ให้นําบทบัญญัติมาตรา 199 และคู่ความฝ่ายนั้นอาจมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ทั้งนี้ให้นําบทบัญญัติมาตรา 199 ตรี… มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายยิ่งยวดเป็นโจทก์ฟ้องนางหนึ่งเป็นจําเลยต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษา ให้นางหนึ่งรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทําละเมิด 7 แสนบาท นางหนึ่งยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่านางหนึ่ง ไม่ได้ทําละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น เมื่อปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานนัดแรกซึ่งเป็นวันเริ่มต้น สืบพยานนั้น นายยิ่งยวดโจทก์มาศาล แต่นางหนึ่งจําเลยไม่มาศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ย่อมถือว่า นางหนึ่งจําเลยขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 200 วรรคหนึ่งและจะมีผลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 204 คือให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว

เมื่อศาลได้สืบพยานของนายยิ่งยวดโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วต่อมาในวันสืบพยานนัดที่สอง นายยิ่งยวด โจทก์และนางหนึ่งจําเลยมาศาลโดยนางหนึ่งได้ยื่นคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อศาลนั้น กรณีดังกล่าวเมื่อคดีนี้ ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาฝ่ายเดียวโดยศาลยังไม่ได้พิพากษาให้นางหนึ่งจําเลยที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี ดังนั้น ถ้าหากนางหนึ่งจะขอให้พิจารณาคดีใหม่จึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคสาม กล่าวคือ นางหนึ่ง จะต้องแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดําเนินคดี และเมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณาของนางหนึ่งนั้น มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลไม่เคยมีคําสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคําขอของนางหนึ่งมาก่อน ก็ให้ศาลมีคําสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่

สรุป นางหนึ่งมีสิทธิยื่นคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้โดยต้องดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคสาม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

Advertisement