การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 290,000 บาท ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ศาลจังหวัดอุดรธานีสั่งรับประทับฟ้องและให้ ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยระหว่างส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยนายหนึ่งและนายสององค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้เห็นว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจศาลแขวงอุดรธานี จึงได้มีคําสั่งโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงอุดรธานี คําสั่งดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”
มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”
มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือ ศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาล ดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 290,000 บาทนั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอํานาจของศาลแขวงอุดรธานี ตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17
แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้นําคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานี และศาลจังหวัดอุดรธานี มีคําสั่งรับประทับฟ้องแล้ว กรณีเช่นนี้ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดให้ศาลจังหวัด อุดรธานีพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีไม่ได้ ดังนั้น การที่นายหนึ่งและนายสอง องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้เห็นว่า คดีนี้อยู่ในอํานาจศาลแขวงอุดรธานี จึงได้มีคําสั่งโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงอุดรธานี คําสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คําสั่งโอนคดีของนายหนึ่งและนายสององค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. นายธงชัยต้องการฟ้องนางสาวขวัญจิตตามสัญญากู้ยืมเงิน 3 ฉบับที่ทําไว้กับตน โดยระบุฉบับละ 300,000 บาท กรณีนี้ให้ท่านให้คําปรึกษานายธงชัยว่าจะต้องนําเอาสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวไปฟ้องที่ศาลใด หากคดีนี้อยู่ในเขตอํานาจของศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”
มาตรา 19 วรรคหนึ่ง “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีมีอํานาจพิจารณา พิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
วินิจฉัย
ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้องเป็น คดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายธงชัยต้องการฟ้องนางสาวขวัญจิตตามสัญญากู้ยืมเงิน 3 ฉบับที่ทําไว้ กับตน โดยระบุฉบับละ 300,000 บาทนั้น เมื่อคดีที่นายธงชัยจะฟ้องเป็นคดีที่มีโจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยคนเดียว ในสัญญากู้ 3 ฉบับ กรณีนี้ให้รวมสัญญากู้ทุกฉบับเข้าด้วยกันและฟ้องเป็นคดีเดียวได้ ดังนั้น เมื่อรวมทุนทรัพย์ ทั้งหมดแล้วจึงมีทุนทรัพย์เกิน 3 แสนบาท คดีนี้จึงนําไปฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือไม่ได้ ตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 จะต้องนําคดีนี้ไปฟ้องที่ศาลแพ่งเท่านั้น ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คําปรึกษาแก่นายธงชัยว่า ให้นําสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 3 ฉบับ ไปฟ้องที่ศาลแพ่ง เพราะศาลแขวงพระนครเหนือไม่มีอํานาจรับฟ้องคดีนี้
ข้อ 3. พนักงานอัยการฟ้องจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ต่อศาลจังหวัด นายม่วงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด
ได้จ่ายสํานวนคดีให้นายแดงผู้พิพากษาอาวุโสและนายขาวผู้พิพากษาประจําศาลเป็นองค์คณะ ร่วมกัน ในระหว่างสืบพยาน นายแดงตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และลาป่วยเพื่อเข้ารับการ รักษาทันที นายม่วงจึงมอบหมายให้นางส้มผู้พิพากษาศาลจังหวัดนั่งพิจารณาคดีร่วมกับนายขาวในคดีดังกล่าวแทน
ให้วินิจฉัยว่า การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน
และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือ
คดีอาญาทั้งปวง”
มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษา
ดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย”
มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ
ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ต่อศาลจังหวัด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึง สองแสนบาท) จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน เป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีตามมาตรา 26
การที่นายม่วงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดได้จ่ายสํานวนคดีให้นายแดงผู้พิพากษาอาวุโสและ นายขาวผู้พิพากษาประจําศาลเป็นองค์คณะร่วมกันนั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างสืบพยาน นายแดงตรวจพบว่า
ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และลาป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาทันที ถือเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ในระหว่างพิจารณาคดี ทําให้นายแดงผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในคดีนั้นไม่อาจนั่งพิจารณาคดีนั้นต่อไปได้ตาม มาตรา 30 ดังนั้น ผู้พิพากษาที่มีอํานาจนั่งพิจารณาคดีนี้แทน คือนายม่วงผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษา ในศาลชั้นต้นของศาลนั้นที่ได้รับมอบหมายจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ตามมาตรา 28 (3) ประกอบมาตรา 30
การที่นายม่วงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดได้มอบหมายให้นางส้มผู้พิพากษาศาลจังหวัด นั่งพิจารณาคดีร่วมกับนายขาวในคดีดังกล่าว จึงเป็นองค์คณะที่ชอบตามมาตรา 26 เพราะมีผู้พิพากษาประจําศาล ไม่เกินหนึ่งคน ดังนั้น การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
สรุป การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม