การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3104 (LAW 3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 300,000 บาท ต่อศาลจังหวัด อุดรธานuต่อมาจําเลยให้การโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจําเลยโดยการครอบครองปรปักษ์
ศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอํานาจของศาลแขวงอุดรธานี จึงมีคําสั่งโอนคดี
ไปยังศาลแขวงอุดรธานี
คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดอุดรธานีชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมี พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 300,000 บาท ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งโดยหลักแล้วการฟ้องขับไล่นั้นเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อัน ไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อจําเลยให้การโต้แย้งว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของจําเลย คดีดังกล่าวจึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจ คํานวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์ในคดีนี้คือ 300,000 บาท ทําให้คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ใน อํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงอุดรธานีตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 และแม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทําให้คดีนี้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์และเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ตาม ตามมาตรา 19/1 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติให้ ศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้นต่อไป ดังนั้น ศาลจังหวัดอุดรธานีจึงต้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีไม่ได้ การที่ศาลจังหวัดอุดรธานีมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีนั้น คําสั่งโอนคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดอุดรธานีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมายเหตุ มาตรา 18 และมาตรา 19/1 ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมใหม่ โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 และ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562

 

ข้อ 2. นายอุดมต้องการฟ้องเรียกเงินคืนตามสัญญาเล่นแชร์ 3 สัญญา (วงแชร์) กับนางชม้อยเพื่อนสนิท โดยสัญญา (วงแชร์) ระบุฉบับ (วงแชร์) ละ 3 แสนบาท เนื่องจากนางชม้อยไม่ยอมให้เงินตนทั้งที่ตน เปียแชร์ได้ทั้ง 3 วง นายอุดมจึงมาปรึกษาท่านว่า หากตนจะฟ้องคดีแชร์ทั้ง 3 สัญญา (วงแชร์) นี้ เป็นคดีเดียว จะต้องนําเอาคดีไปฟ้องศาลใด ระหว่างศาลจังหวัดสมุทรปราการหรือศาลแขวง สมุทรปราการ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19 วรรคหนึ่ง “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่ง พระโขนง และศาลแพ่งมีนบุรี มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของ ศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้องเป็น คดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอุดมต้องการฟ้องเรียกเงินคืนตามสัญญาเล่นแชร์ 3 สัญญา (วงแชร์) กับนางชม้อย โดยสัญญา (วงแชร์) ระบุฉบับ (วงแชร์) ละ 3 แสนบาทนั้น เมื่อคดีนี้นายอุดมจะฟ้องเป็นคดีที่มี โจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยคนเดียวตามสัญญาเล่นแชร์ทั้ง 3 สัญญา กรณีนี้จึงต้องรวมสัญญาเล่นแชร์ทุกฉบับ เข้าด้วยกันและฟ้องเป็นคดีเดียว ซึ่งเมื่อรวมทุนทรัพย์ทั้งหมดแล้วจะมีทุนทรัพย์ 9 แสนบาท (ซึ่งเกิน 3 แสนบาท) ดังนั้น จึงต้องนําคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จะนําคดีไปฟ้องที่ศาลแขวง สมุทรปราการไม่ได้ เพราะเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

สรุป เมื่อนายอุดมมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนําให้นายอุดมนําสัญญาเล่นแชร์ทั้ง 3 ฉบับ ไปฟ้องที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพราะศาลแขวงสมุทรปราการไม่มีอํานาจรับฟ้องคดีนี้

 

ข้อ 3. นายทองฟ้องนายธนาในข้อหาทําร้ายร่างกายผู้อื่น (ระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ) ต่อศาลจังหวัดนครพนม จังหวัดนครพนมไม่มีศาลแขวง) มีนายพุธ เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมคนเดียวเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ เมื่อนายพุธพิจารณาคดี เสร็จแล้วมีความเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจําคุกหนึ่งปี นายพุธจึงนําสํานวนคดีดังกล่าวไปปรึกษา นายศุกร์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนม นายศุกร์ได้มอบหมายให้นางจันทร์ผู้พิพากษา

ศาลจังหวัดนครพนมตรวจสํานวนคดีและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกับนายพุธ

ให้วินิจฉัยว่า การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้ หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนดไว้ ในมาตรา 30 แล้ว ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(2) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 25 (5) แล้วเห็นว่าควรพิพากษา ลงโทษจําคุกเกินกว่าหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับนั้นอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองฟ้องนายธนาในข้อหาทําร้ายร่างกายผู้อื่น ซึ่งมีระวางโทษจําคุก ไม่เกิน 2 ปี ต่อศาลจังหวัดนครพนม โดยมีนายพุธเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมเพียงคนเดียวเป็นองค์คณะ พิจารณาคดีนั้น เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูง ไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี ตามมาตรา 25 (5) และเมื่อนายพุธพิจารณาคดีเสร็จแล้วมีความเห็นว่าควรพิพากษา ลงโทษจําคุก 1 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษจําคุกเกินกว่า 6 เดือน และเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษา ได้นั้น ถือเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (2) ซึ่งตามมาตรา 29 (3) ได้กําหนดให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคือนายศุกร์มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษาในคดีนี้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายศุกร์ได้มอบหมายให้นางจันทร์ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมเป็นผู้ตรวจสํานวนคดีดังกล่าวและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกับนายพุธ การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

Advertisement