การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3102 (LAW 3002) ป.พ.พ. ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 นายเอ นายบี และนายซี ได้ตกลงเข้าทุนกันเป็นเงินเพื่อกระทํากิจการ ร้านค้าขายน้ํามันปาล์มในเขตพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้ จากกิจการที่ทํานั้น โดยนายซีได้นําเงินจํานวนหนึ่งล้านบาทซึ่งเป็นสินสมรสของนายซีกับนางดีคู่สมรสไปชําระเพื่อร่วมลงทุนในกิจการดังกล่าวนั้น ปีต่อมานายปีและนายซีต้องการขายน้ํามันปาล์มให้แก่ นางสาวไฮลี่ตามราคาตลาด แต่นายเอได้ทักท้วงเนื่องจากต้องการขายน้ํามันปาล์มส่วนดังกล่าว ให้แก่นางสาวอีกี้ผู้เป็นที่รักของนายเอ ปีต่อมานายเอต้องการขายต้นปาล์มแก่นางสาวอลิซ แต่นายบีและนายซีร่วมกันทักท้วงเป็นเสียงข้างมากเนื่องจากเป็นการขายที่กําหนดราคาสูงกว่าราคาตลาดจึงเกรงว่าจะเสียภาพลักษณ์ของกิจการ ปีต่อมานางดีต้องการขายน้ํามันปาล์มให้กับนางสาวยอร์น ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่นายเอ นายบี และนายซีร่วมกันทักท้วงเนื่องจากนางสาวยอร์นมีกิจการขาย น้ํามันปาล์มด้วย จึงเกรงว่าจะเป็นการกักตุนสินค้าและเป็นการแข่งขันกับกิจการของตนเอง ให้ท่านวินิจฉัยว่า รายการซื้อขายดังกล่าวนั้นบุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิกระทําการซื้อขายนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุผลอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1012 “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทํากิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น”
มาตรา 1025 “อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”
มาตรา 1033 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็น หุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้าทําสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วน อีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
ในกรณีเช่นนี้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอ นายบี และนายซี ได้ตกลงเข้าทุนกันเป็นเงินเพื่อกระทํากิจการ ค้าขายน้ํามันปาล์มในเขตพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทํานั้น ย่อมถือว่านายเอ นายบี และนายซีได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้งห้างหุ้นส่วนกันแล้วตามมาตรา 1012 และ เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1025 และแม้ว่าในการลงหุ้นของนายซีนั้น นายที่จะได้นําเงินจํานวนหนึ่งล้านบาท ซึ่งเป็นสินสมรสของนายซีกับนางดีคู่สมรสไปชําระเพื่อร่วมลงทุนในกิจการดังกล่าว ก็ไม่ทําให้นางดีกลายเป็นหุ้นส่วนด้วยในห้างหุ้นส่วนนั้นแต่อย่างใด เนื่องจากนางดีไม่ได้ตกลงเข้าหุ้นเพื่อร่วมทํากิจการดังกล่าวด้วย
และเมื่อในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวของนายเอ นายบี และนายซีนั้น ไม่ได้มีการตกลง กันว่าจะให้ใครเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงมีผลตามมาตรา 1033 กล่าวคือ ให้ถือว่าทั้ง 3 คน ต่างก็เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการทุกคน และทุกคนย่อมมีสิทธิจัดการงานของห้างหุ้นส่วนได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้า
ทําสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปีและนายซีต้องการขายน้ํามันปาล์ม นายเอต้องการขายต้นปาล์ม และนางดีต้องการขายน้ํามันปาล์มนั้น บุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิกระทําการซื้อขายได้หรือไม่ แยกวินิจฉันได้ดังนี้
1. การที่นายปีและนายซีต้องการขายน้ํามันปาล์มให้แก่นางสาวไฮลี่นั้น แม้จะเป็นการทําสัญญา ที่เกี่ยวกับการจัดการตามวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่านายเอได้ทักท้วงแล้ว นายปีและนายซี จึงไม่อาจที่จะกระทําการซื้อขายน้ํามันปาล์มกับนางสาวไฮลี่ได้ เนื่องจากต้องห้ามตามมาตรา 1033
2. การที่นายเอต้องการขายต้นปาล์มให้แก่นางสาวอลิซนั้น เป็นการทําสัญญาที่ไม่เกี่ยวกับ การจัดการตามวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด เนื่องจากห้างหุ้นส่วนนั้นมีวัตถุประสงค์ในการทํากิจการ ค้าขายน้ํามันปาล์มไม่เกี่ยวกับการค้าขายต้นปาล์ม ดังนั้น แม้ว่านายปีและนายที่จะได้ร่วมกันทักท้วง ก็ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 1033 นายเอจึงมีสิทธิที่จะกระทําการซื้อขายต้นปาล์มกับนางสาวอลิซได้
3. การที่นางดีต้องการขายน้ำมันปาล์มให้แก่นางสาวยอร์นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางดี ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนั้นแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่านายเอ นายบี และนายซีจะได้ร่วมกันทักท้วงหรือไม่ ก็ตาม กรณีดังกล่าวก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1033 นางดีจึงไม่มีสิทธิที่จะกระทําการซื้อขายน้ำมันปาล์มกับ นางสาวยอร์นได้
สรุป
นายบีและนายซีไม่มีสิทธิกระทําการซื้อขายน้ํามันปาล์มกับนางสาวไฮลี่
นายเอมีสิทธิกระทําการซื้อขายต้นปาล์มกับนางสาวอลิซ
นางดีไม่มีสิทธิกระทําการซื้อขายน้ํามันปาล์มกับนางสาวยอร์น
ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเชิงวิเคราะห์เรื่อง “ลักษณะสําคัญของหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด อย่างน้อย 15 รายการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยห้างหุ้นส่วน
ธงคําตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยห้างหุ้นส่วน ได้บัญญัติถึง “ลักษณะของหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด” ไว้หลายประการ ซึ่งในการวิเคราะห์ถึงลักษณะของหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้น จะต้อง พิจารณาถึงลักษณะของหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดประกอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงลักษณะของหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดได้เป็นอย่างดี ซึ่งตามกฎหมายนั้นได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กับ “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ
1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)
2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น (มาตรา 1077)
3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน
ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด
จะต้องรับผิดโดยไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)
4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)
5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)
6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)
7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตน
ได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)
8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)
9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)
10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)
11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย จะไม่เป็น เหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)
12. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย จะไม่เป็น เหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)
13. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนจํากัด ย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่ง ตกเป็นคนไร้ความสามารถ จะไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)
14. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนนั้นคุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนถือว่าเป็นสาระสําคัญ
แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้นคุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เป็นสาระสําคัญ
15. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)
ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเชิงวิเคราะห์เรื่อง “กรณีผู้ถือหุ้นบริษัทจํากัดที่ไม่สามารถใช้สิทธิ ลงคะแนนเพื่อกําหนดมติในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัท” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจํากัด
ธงคําตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจํากัดนั้น โดยปกติแล้วผู้ถือหุ้นทุกคนย่อม มีสิทธิที่จะเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นได้เสมอไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่สามัญหรือประชุมใหญ่วิสามัญ (มาตรา 1176) หรืออาจทําเป็นหนังสือมอบฉันทะให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนก็ได้ (มาตรา 1187) แต่อย่างไรก็ตาม ในการลงมติออกเสียงในที่ประชุมใหญ่นั้น ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเพื่อกําหนดมติในที่ประชุมใหญ่นั้น กฎหมายได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ คือ
1. จะต้องมีหุ้นเท่ากับจํานวนที่ข้อบังคับของบริษัทได้กําหนดไว้ ถ้าผู้ถือหุ้นหลายคนมีจํานวนหุ้น ไม่เท่าจํานวนดังกล่าว ย่อมมีสิทธิที่จะนําหุ้นมารวมกันเพื่อให้เท่าจํานวนหุ้นดังกล่าว แล้วตั้งให้ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่ง
เป็นผู้รับฉันทะในการลงมติออกเสียงแทนในที่ประชุมใหญ่นั้น (มาตรา 1183)
2. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งได้ชําระเงินค่าหุ้นตามที่บริษัทได้เรียกเก็บเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ถือหุ้นคนใด ยังมิได้ชําระเงินค่าหุ้นซึ่งบริษัทได้เรียกเก็บให้เสร็จสิ้น ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน (มาตรา 1184)
3. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ผู้ถือหุ้นคนใด มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในเรื่องนั้น (มาตรา 1185)
4. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้ทรงใบหุ้นชนิดระบุชื่อ ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือจะมีสิทธิ ออกเสียงลงคะแนนได้ก็ต่อเมื่อได้นําใบหุ้นของตนมาวางไว้แก่บริษัทก่อนเวลาประชุม (มาตรา 1186)