การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้ท่านอธิบายหลักเกณฑ์เงื่อนไขและผลทางกฎหมายเรื่อง “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ตามประเด็นสําคัญที่ท่านได้ศึกษาโดยละเอียด (คําตอบจะต้องมีเนื้อหาอย่างน้อยเต็มสองหน้ากระดาษคําตอบ)

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักเกณฑ์เงื่อนไขและผลทางกฎหมายของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน” มีดังนี้ คือ

1. การจัดตั้ง

ในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนนั้น จะประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 และมาตรา 1025 ดังนี้ คือ

(1) จะต้องมีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงทําสัญญาเพื่อที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนกัน ซึ่ง คําว่า “บุคคล” นั้นอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ เข้ามาแสดงเจตนาเพื่อเข้าร่วมกันเป็นหุ้นส่วน ในห้างหุ้นส่วนนั้น ซึ่งการแสดงเจตนานั้นอาจจะเป็นการแสดงเจตนาด้วยวาจาหรือด้วยลายลักษณ์อักษรก็ได้

(2) จะต้องมีการตกลงเข้าทุนกัน หรือตกลงที่จะลงทุนร่วมกันนั่นเอง ซึ่งทุนที่จะนํามาลงนั้น อาจจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น หรืออาจจะเป็นแรงงานก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1026)

(3) มีการตกลงว่าจะกระทํากิจการร่วมกัน ซึ่งกิจการที่จะทําร่วมกันนั้นอาจจะเป็นกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ได้ แต่ต้องเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ไม่เป็นการพ้นวิสัย และจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

(4) วัตถุประสงค์ของการทําสัญญาเพื่อเข้าเป็นหุ้นส่วนกันนั้น จะต้องมีความประสงค์ ที่จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทํานั้น

(5) ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนตกลงกันว่าจะรวมกันรับผิดเพื่อหนี้ของหุ้นส่วนหรือห้างหุ้นส่วนนั้น โดยไม่จํากัดจํานวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 2025 ซึ่งบัญญัติว่า “อันห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภท ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”

เมื่อครบหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการดังกล่าวแล้ว ห้างหุ้นส่วนก็จะเกิดขึ้นและเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ และถ้าไม่มีการจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวก็จะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เป็นเพียงห้างหุ้นส่วนสามัญ ทั่ว ๆ ไปที่เรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน” (แต่ถ้ามีการจดทะเบียนจะเรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียน” หรือ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล”)

2. ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วน โดยไม่จํากัดจํานวน กล่าวคือ ไม่ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญแต่ละคนจะได้ลงหุ้นคนละเท่าใด เมื่อ ห้างหุ้นส่วนเกิดหนี้สินขึ้นมา ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้นให้แก่เจ้าหนี้ของห้างจนกว่าจะครบโดยไม่คํานึงว่าหุ้นส่วนแต่ละคนจะได้ลงหุ้นไว้คนละเท่าใด และผู้เป็นหุ้นส่วนจะแบ่งแยกความรับผิดชอบตามส่วนที่ตนได้ลงหุ้นไว้ไม่ได้ รวมทั้งจะปฏิเสธว่าตนมิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการหรือไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างไม่ได้

เพียงแต่หนี้ของห้างหรือของหุ้นส่วนซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องร่วมกันรับผิดโดยไม่จํากัดจํานวนนั้น จะต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการที่หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของ ห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 1050) ซึ่งหนี้ที่ถือว่าเป็นหนี้ในทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น อาจจะเป็นหนี้ที่หุ้นส่วนได้จัดทําไปภายในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน หรือหนี้ที่เกิดจากการกระทําอันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนก็ได้

และความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนในกรณีที่ถูกเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนฟ้องร้องนั้น จะมีลักษณะที่แตกต่างจากห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนบางประการ เช่น

(1) เจ้าหนี้สามารถฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งหรือทุกคนได้โดยไม่ต้องฟ้องห้างหุ้นส่วน ก่อนหรือต้องรอให้ห้างหุ้นส่วนผิดนัดชําระหนี้ก่อนแต่อย่างใด เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญเมื่อไม่ได้จดทะเบียน ก็จะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล (ป.พ.พ. มาตรา 1015 และมาตรา 1070)

(2) เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นก็จะต้องชําระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้จนครบจะเกียงให้เจ้าหนี้ไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนก่อนไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1071)

(3) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ได้จดทะเบียนนั้น เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วน ย่อมมีสิทธิบังคับเอาผลกําไรหรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชําระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้น ตลอดจนถึงหุ้นของผู้เป็น หุ้นส่วนคนนั้นที่มีอยู่ในสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน แม้ว่าห้างหุ้นส่วนนั้นจะยังมิได้เลิกกัน (ป.พ.พ. มาตรา 1072)

3. การเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิจัดการงานของห้างหุ้นส่วนได้ และให้ถือว่าทุกคนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ป.พ.พ. มาตรา 1033) เว้นแต่จะมีการตกลงแต่งตั้งให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ป.พ.พ. มาตรา 1035)

4. การใช้สิทธิต่อบุคคลภายนอก

ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอก
ในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ (ป.พ.พ. มาตรา 1049)

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด อย่างน้อย 12 ประเด็น พร้อมทั้งอธิบายหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบ

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น
(มาตรา 1077)

3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดโดย ไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)

4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น
ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตน
หรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความ สามารถ โดยหลักห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมเป็นอันเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็น หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความสามารถไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้น
จะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 3. บริษัท รามรุ่งเรือง จํากัด จะทําการเรียกประชุมสามัญประจําปีผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 โดยมีวาระการประชุมคือการขอเพิ่มทุนของบริษัทอีกจํานวน 1 แสนหุ้น บริษัทได้ส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนโดยส่งไปรษณีย์แบบด่วน (อีเอ็มเอส) ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ครั้นถึงวันนัดประชุม ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นมาประชุมแค่ 5 คน จากจํานวน ผู้ถือหุ้นทั้งหมด 20 คน โดยผู้ถือหุ้นที่ไม่มาประชุมอ้างว่าไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุม ทําให้บริษัท ไม่สามารถทําการประชุมได้ ดังนี้ ให้ท่านให้คําแนะนําแก่บริษัท รามรุ่งเรือง จํากัด ว่าตามที่บัญญัติ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นจะต้องปฏิบัติอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุม ปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอให้ลงมติด้วย”

ตามมาตรา 1175 ได้กําหนดวิธีการในการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจํากัด ไว้ดังนี้ คือ

1. จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุม ไม่น้อยกว่า 7 วัน และ

2. จะต้องส่งคําบอกกล่าวเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน

ทั้ง 1. และ 2. นั้น ถ้าเป็นการบอกกล่าวเรียกประชุมเพื่อลงมติพิเศษแล้ว ให้กระทําการดังกล่าว ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน

3. คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น จะต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะ ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอ ให้ลงมตินั้นด้วย

ดังนั้น การที่บริษัท รามรุ่งเรือง จํากัด จะทําการเรียกประชุมสามัญประจําปีผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยมีวาระการประชุมคือการขอเพิ่มทุนของบริษัทอีกจํานวน 1 แสนหุ้นนั้น เมื่อการเพิ่มทุนของบริษัทจํากัดนั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายได้กําหนดไว้ว่าจะต้องใช้มติพิเศษ ข้าพเจ้าจะแนะนําให้บริษัทฯ ส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น ของบริษัทโดยให้ส่งคําบอกกล่าวเป็นจดทะเบียนส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในสมุดทะเบียน ผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน และจะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน ตามมาตรา 1175

Advertisement