การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3102 (LAW 3002) ป.พ.พ.ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. จงตอบคําถามต่อไปนี้

Advertisement

1.1 เอก โท และตรี ตกลงเข้าหุ้นกันโดยออกเงินคนละ 10 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินแปลงหนึ่งใน ราคา 30 ล้านบาท โดยมีเจตนาจะนําที่ดินนั้นมาทําการจัดสรรขาย โดยแบ่งเป็นแปลง ๆ ละ 150 ตารางวา เมื่อซื้อมาแล้วก็เกิดการระบาดของโรคโควิด ทําให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ดี ทั้งสามคนจึงเลิกล้มโครงการจัดสรรที่ดิน และตกลงขายที่ดินดังกล่าวไปในราคา 60 ล้านบาท โดยเอกรับเงินจากผู้ซื้อที่ดินไปทั้งหมดและไม่ยอมแบ่งให้โทและตรี ดังนี้ ถ้าโทและตรีจะ เรียกร้องให้เอกแบ่งเงินให้จะต้องฟ้องในฐานะเป็นหุ้นส่วนกัน หรือฟ้องในฐานะกรรมสิทธิ์รวม

1.2 การเข้าหุ้นโดยนําที่ดินและอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินมาให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วน
จําเป็นต้องทําหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ หรือจะต้องทําอย่างไร เพื่อให้ที่ดินและอาคารนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วน

ธงคําตอบ

1.1 หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1012 “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทํากิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น”

มาตรา 1356 “ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง “การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทําโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1012 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ ดังนี้คือ

1. จะต้องมีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
2. จะต้องมีการตกลงเข้าทุนกัน
3. จะต้องมีการกระทํากิจการร่วมกัน
4. จะต้องมีความประสงค์ที่จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอก โท และตรี ตกลงเข้าหุ้นกันโดยออกเงินคนละ 10 ล้านบาท เพื่อซื้อ ที่ดินแปลงหนึ่งในราคา 30 ล้านบาท โดยมีเจตนาจะนําที่ดินนั้นมาทําการจัดสรรขาย โดยแบ่งเป็นแปลง ๆ ละ 150 ตารางวานั้น แม้ในตอนแรกเอก โท และตรี จะมีเจตนาเข้าหุ้นกันเพื่อกระทํากิจการร่วมกันก็ตาม แต่เมื่อ

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อทั้งสามได้ซื้อที่ดินมาแล้วก็เกิดการกระบาดของโรคโควิด ทําให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ดี ทั้งสามคนจึงเลิกล้มโครงการจัดสรรที่ดิน และตกลงขายที่ดินดังกล่าวไปในราคา 60 ล้านบาทนั้น จึงขาดหลักเกณฑ์ ของการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนประการที่ 3 เพราะมิได้มีการกระทํากิจการร่วมกัน เงิน 60 ล้านบาท ที่ได้มาจาก การขายที่ดินแปลงดังกล่าว จึงไม่ใช่กําไรที่เกิดจากการทํากิจการของห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อการออกเงิน ของเอก โท และตรี เพื่อซื้อที่ดิน ไม่ใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1012 การที่เอกรับเงินจากผู้ซื้อที่ดิน ไปทั้งหมดและไม่ยอมแบ่งให้โทและตรี โทและตรีจะเรียกร้องให้เอกแบ่งเงินให้โดยจะฟ้องในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนจึงไม่อาจทําได้

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เอก โท และตรีได้ร่วมกันออกเงินเพื่อซื้อที่ดินดังกล่าวนั้น ย่อมถือว่าเอก โท และตรี เป็นเจ้าของรวมในที่ดินแปลงนั้นร่วมกันตามมาตรา 1356 เมื่อมีการขายที่ดินไปแล้วและเอกรับเงินจากผู้ซื้อที่ดินไปทั้งหมดโดยไม่ยอมแบ่งให้โทและตรี ดังนี้ ถ้าโทและตรีจะเรียกร้องให้เอกแบ่งเงินให้ โทและตรี จึงสามารถฟ้องเอกได้ในฐานะกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1364 วรรคหนึ่ง

สรุป โทและตรีสามารถฟ้องให้เอกแบ่งเงินให้แก่ตนได้ แต่ต้องฟ้องในฐานะกรรมสิทธิ์รวม จะฟ้อง ในฐานะการเป็นหุ้นส่วนกันไม่ได้ เพราะเอก โท และตรีไม่ได้อยู่ในฐานะของการเป็นหุ้นส่วนกัน

1.2 หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1030 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งเป็นการลงหุ้นด้วยไซร้
ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชํารุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายนี้ ว่าด้วยซื้อขาย”

อธิบาย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1030 เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้เอาทรัพย์สินมาลงหุ้นโดยให้ทรัพย์สินนั้น ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วน ซึ่งกฎหมายให้นําบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับในเรื่องการส่งมอบและ ซ่อมแซม ความรับผิดเพื่อชํารุดบกพร่อง ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิ และข้อยกเว้นความรับผิดเท่านั้น แต่ไม่ได้ กําหนดให้นําบทบัญญัติในเรื่องแบบของสัญญาซื้อขายตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแต่อย่างใด

ดังนั้น การเข้าหุ้นเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยการนําที่ดินและอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินซึ่งเป็น อสังหาริมทรัพย์มาให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วน จึงไม่ต้องนําบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาตรา 456 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ กล่าวคือ ไม่ต้องมีการทําหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่จะต้องนํา มาตรา 462 เรื่องการส่งมอบมาใช้บังคับ กล่าวคือ จะต้องมีการส่งมอบที่ดินและอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินนั้น ให้ห้างฯ เข้าครอบครอง ซึ่งเมื่อได้ปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ย่อมถือว่าที่ดินและอาคารดังกล่าวก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของห้างหุ้นส่วนทันที

 

ข้อ 2. ผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจํากัด จะต้องรับผิดโดยไม่จํากัดจํานวน ในหนี้สินของห้างฯ ในกรณีใดบ้าง

ธงคําตอบ

โดยหลักแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจํากัด ย่อมต้องรับผิดเพื่อหนี้ ของห้างหุ้นส่วนจํากัดโดยจํากัดเพียงเฉพาะจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้น (มาตรา 1077)
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดอาจจะต้องรับผิดโดยไม่จํากัดจํานวนในหนี้สินของห้างฯ ก็ได้ หากเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้คือ

1. กรณีที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และได้ก่อให้เกิดหนี้ขึ้นก่อนที่ ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะได้จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดหรือ ไม่จํากัดความรับผิดก็ต้องรับผิดในหนี้นั้นโดยไม่จํากัดจํานวน ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1079 “อันห้าง หุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน”

2. กรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเรียกขานระคนเป็นชื่อ ห้างหุ้นส่วนจํากัด

มาตรา 1082 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดยินยอมโดย แสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อ บุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดฉะนั้น”

3. กรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดแสดงให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้ มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียน (ซึ่งจะต้องรับผิดเท่ากับจํานวนซึ่งตนได้แสดงไว้)

มาตรา 1085 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้งความหรือด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใด ท่านว่าผู้นั้น
จะต้องรับผิดเท่าถึงจํานวนเพียงนั้น”

4. กรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจํากัด มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน”

 

ข้อ 3. คณะกรรมการบริษัท สามสหาย จํากัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 13 คน อันประกอบด้วย แดง ดํา และ ขาว ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่มีจํานวนหุ้นรวมกันเกิน 50% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด และมีผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ อีก 10 คน โดยมีแดงเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท แต่แดงไม่ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่อง ปล่อยปละละเลย ไม่ติดต่อทวงถามหนี้จากลูกหนี้รายหนึ่งของบริษัท เนื่องจากลูกหนี้รายนี้เป็นญาติ ของแดง จนหนี้ดังกล่าวขาดอายุความฟ้องร้อง ดําและขาวเห็นว่าการกระทําของแดงทําให้บริษัท ได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลลดลง ดําและขาวจึงยื่นฟ้องแดงเพื่อเรียกเอาค่าเสียหายจากแดงเป็นการส่วนตัว โดยไม่ได้ฟ้องเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของบริษัท ดังนี้ ถามว่า ดําและขาวจะฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1168 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม “ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น กรรมการ ต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง

อนึ่งท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใด ๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็น การแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าหุ้นส่วน ไม่จํากัดความรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของ บริษัท โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น”

มาตรา 1169 “ถ้ากรรมการทําให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้

อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้ของบริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1168 วรรคหนึ่งและวรรคสามนั้น กฎหมายได้กําหนดให้เป็นหน้าที่และ ความรับผิดเฉพาะตัวของผู้เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งหากกรรมการบริษัทผู้ใดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว บริษัท ย่อมสามารถฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนจากกรรมการคนนั้นได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้น
คนใดคนหนึ่งจะฟ้องร้องกรรมการคนนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท สามสหาย จํากัด มีผู้ถือหุ้น 13 คน มีคณะกรรมการประกอบด้วย แดง ดํา และขาวซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่มีจํานวนหุ้นรวมกันเกิน 50% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด และมีผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ อีก 10 คน โดยมีแดงเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท แต่แดงไม่ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่อง ปล่อยปละละเลย ไม่ติดต่อทวงถามหนี้จากลูกหนี้รายหนึ่งของบริษัทเนื่องจากลูกหนี้รายนี้เป็นญาติของแดง จนหนี้ดังกล่าวขาดอายุ ความฟ้องร้องนั้น ย่อมถือว่าแดงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1168 วรรคหนึ่งแล้ว กล่าวคือ แดงไม่ใช้ความเอื้อเฟื้อ สอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง จนทําให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทย่อม สามารถฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากแดงได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง และเมื่อ ปรากฏว่าบริษัทฯ มีกรรมการอีก 2 คน คือ ดําและขาว ดังนั้น ดําและขาวย่อมมีสิทธิฟ้องร้องแดงแทนบริษัทได้

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ดําและขาวจะฟ้องร้องแดงเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 1169 นั้น นอกจากจะฟ้องร้องแทนบริษัทแล้ว จะต้องเป็นการฟ้องร้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทด้วย จะฟ้องร้องเพื่อเรียก เอาค่าเสียหายเป็นการส่วนตัวไม่ได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าดําและขาวจะยื่นฟ้องแดงเพื่อเรียกเอา ค่าเสียหายจากแดงเป็นการส่วนตัว โดยไม่ได้ฟ้องเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของบริษัท ดําและขาวจึงไม่อาจฟ้องได้

สรุป ดําและขาวจะฟ้องแดงเพื่อเรียกเอาค่าเสียหายจากแดงเป็นการส่วนตัว โดยไม่ได้ฟ้อง เรียกร้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทไม่ได้

Advertisement