การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3101 (LAW 3001) กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายแก้วโกรธแค้นนายก้อนจึงนําอาวุธปืนมาดักซุ่มยิง เมื่อนายก้อนเดินผ่านมานายแก้วได้ใช้อาวุธปืน ยิงใส่หลายนัด แต่กระสุนถูกบริเวณหน้าท้องของนายก้อนเพียง 1 นัด ขณะที่นายแก้ววิ่งหลบหนี ได้ยินเสียงนายก้อนร้องขอความช่วยเหลือ นายแก้วจึงย้อนกลับไปหานายก้อนแล้วใช้ไม้ไผ่ซึ่ง วางอยู่บริเวณนั้นทุบตีนายก้อนจนตาย และขณะที่นายแก้วกําลังมองหาที่ซุกซ่อนศพของนายก้อน นายก้านขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาเห็นเหตุการณ์โดยบังเอิญ นายแก้วได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่นายก้านจนรถจักรยานยนต์ล้ม นายก้านศีรษะกระแทกพื้นถึงแก่ความตาย ให้วินิจฉัยว่า นายแก้วมีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ…”
มาตรา 289 “ผู้ใด
(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทําความผิดอื่น เพื่อ ปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทําไว้
ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบด้วย
1. ฆ่า
2. ผู้อื่น
3. โดยเจตนา
การกระทําที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 288 นั้น นอกจากจะมีการกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการฆ่าบุคคลอื่นแล้ว ผู้กระทํายังต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในด้วยอาจจะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ได้
และถ้าผู้กระทําความผิดตามมาตรา 288 นั้น ได้กระทําการด้วยประการใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 289 ผู้กระทําก็จะต้องมีความผิดและต้องรับโทษฐานฆ่าคนตายในเหตุฉกรรจ์นั้นด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแก้วโกรธแค้นนายก้อน จึงนําอาวุธปืนมาดักซุ่มยิง และเมื่อนายก้อน เดินผ่านมา นายแก้วได้ใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงทําให้ถึงแก่ความตายได้ ยิงใส่นายก้อนหลายนัดและ กระสุนถูกบริเวณหน้าท้องซึ่งเป็นอวัยวะสําคัญของนายก้อน 1 นัด ย่อมถือว่านายแก้วมีเจตนาฆ่านายก้อนแล้ว และการที่นายแก้วรู้ว่านายก้อนยังไม่ถึงแก่ความตาย จึงย้อนกลับไปใช้ไม้ไผ่ซึ่งวางอยู่บริเวณนั้นทุบตีจนนายก้อน ถึงแก่ความตายนั้น ก็ด้วยเจตนาเดียวกันคือเจตนาฆ่านายก้อน จึงเป็นการกระทํากรรมเดียวกัน การกระทําของ นายแก้วจึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และเมื่อนายแก้วนําอาวุธปืนมาดักซุ่มยิงนายก้อน ดังนั้น การกระทําของ นายแก้วจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289 (4)
ส่วนการที่นายแก้วได้ใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงทําให้ถึงแก่ความตายได้ ยิงใส่นายก้านนั้นย่อมถือว่านายแก้วมีเจตนาฆ่านายก้านเช่นเดียวกันและการที่รถจักรยานยนต์ของนายก้านล้มลงจนศีรษะกระแทกพื้นถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าความตายของนายก้านเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการใช้อาวุธปืนยิงของนายแก้ว การกระทําของนายแก้ว จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และเมื่อเหตุเกิดจากการที่นายก้านขับรถจักรยานยนต์ ผ่านมาเห็นเหตุการณ์โดยบังเอิญ การที่นายแก้วมีเจตนาฆ่านายก้าน จึงเป็นการฆ่าเพื่อปกปิดความผิดฐานฆ่า นายก้อนอันเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่น ที่ตนได้กระทําไว้ตามมาตรา 289 (7) ดังนั้น การกระทําของนายแก้วกรณีนี้จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 289 (7)
สรุป นายแก้วมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) และมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่น ที่ตนได้กระทําไว้ตามมาตรา 289 (7)
ข้อ 2. นางสายมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับนางส้มซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอยู่เป็นประจํา สาเหตุมาจากบ้านของ นางส้มเปิดขายอาหารตามสั่งทําให้กลิ่นควันของอาหารลอยเข้ามาในบ้านของนางสาย ด้วยความโมโห นางสายได้โพสต์ข้อความลงในกลุ่มไลน์หมู่บ้านสวัสดีซึ่งมีสมาชิกจํานวน 100 คน และจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งหรือไขข่าวไปยังสมาชิกที่เป็นลูกบ้าน มีข้อความว่า “ร้านตามสั่งที่เยื้อง กับป้อมยามหมู่บ้าน ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า” ซึ่งปรากฏว่าในหมู่บ้านสวัสดี มีร้านอาหารตามสั่งของนางส้มเพียงร้านเดียว และตั้งอยู่เยื้องกับป้อมยามด้วย
ให้วินิจฉัยว่า นางสายมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียงฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ…”
มาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียงหรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศ ด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ประกอบด้วย
1. ใส่ความผู้อื่น
2. ต่อบุคคลที่สาม
3. โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
4. โดยเจตนา
คําว่า “ใส่ความ” ตามนัยมาตรา 326 หมายความว่า พูดหาเหตุร้ายหรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่น ได้รับความเสียหาย โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งกระทําต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสายได้โพสต์ข้อความว่า “ร้านตามสั่งที่เยื้องกับป้อมยามหมู่บ้าน ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า” ซึ่งปรากฏว่าในหมู่บ้านสวัสดีมีร้านอาหารตามสั่งของนางส้มเพียง ร้านเดียวและตั้งอยู่เยื้องกับป้อมยามด้วยนั้น บุคคลที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบและเข้าใจได้ทันทีว่า ร้านอาหารตามสั่งของนางส้มจําหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความดังกล่าวที่นางสายได้โพสต์ลงใน กลุ่มไลน์หมู่บ้านสวัสดีซึ่งมีสมาชิกจํานวน 100 คน จึงเป็นการใส่ความนางส้มต่อบุคคลที่สาม ทําให้นางส้มเสื่อมเสีย ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง การกระทําของนางสายจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 นั้น ผู้กระทําต้องเผยแพร่ข้อความ อันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่นางสายโพสต์ข้อความลงในกลุ่มไลน์ หมู่บ้านสวัสดีซึ่งมีสมาชิกจํานวน 100 คน และการจัดตั้งขึ้นมีลักษณะเพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งหรือไขข่าว ไปยังเฉพาะสมาชิกที่เป็นลูกบ้านซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การกระทําของนางสายจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328
สรุป นางสายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326
ข้อ 3. ขณะที่ น.ส.เอ กําลังเดินอยู่ในซอยคนเดียว นายดําได้เดินเข้ามาทางด้านหลังของ น.ส.เอ แล้วพูด ขึ้นว่ากระเป๋าสวยดี จากนั้นนายดําเข้าไปประชิดตัว น.ส.เอ พร้อมทั้งทําท่าจะล้วงเอาอาวุธจาก ขอบกางเกงด้านหลัง แล้วใช้มือข้างหนึ่งจับกระเป๋าสะพายที่คล้องอยู่ที่ไหล่ของ น.ส.เอ เอาไว้ แต่ น.ส.เอ ไม่ยอมจึงเกิดการฉุดกระชากกันขึ้น ระหว่างนั้นนายดําสังเกตเห็นว่า น.ส.เอ มีหน้าตาดีจึงเปลี่ยนใจปล่อยมือจากกระเป๋าสะพายแล้วเข้าปลุกปล้ําเพื่อหวังข่มขืนกระทําชําเราแทน ขณะที่ น.ส.เอ อ่อนแรงจากการต่อสู้ขัดขืนจนสลบไป นายดําเหลือบไปเห็นว่า น.ส.เอ มีสร้อยคอ ทองคําสวมอยู่ที่คอ นายดําจึงปลดเอาสร้อยคอทองคําของ น.ส.เอ แล้วลุกหนีไป ให้วินิจฉัยว่า นายดํามีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่การ กระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด
ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้
สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”
มาตรา 339 “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายเพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1. เอาไป
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต
กรณีตามอุทาหรณ์ การกระทําของนายดําเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่นายดําได้เดินเข้ามาทางด้านหลังของ น.ส.เอ แล้วพูดขึ้นว่ากระเป๋าสวยดี จากนั้นนายดําเข้าไปประชิดตัว น.ส.เอ พร้อมทั้งทําท่าจะล้วงเอาอาวุธจากขอบกางเกงด้านหลังนั้น ถือเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลัง ประทุษร้ายแล้ว เมื่อนายดําใช้มือข้างหนึ่งจับกระเป๋าสะพายที่คล้องอยู่ที่ไหล่ของ น.ส.เอ เอาไว้ แต่ น.ส.เอ ไม่ยอม จึงเกิดการฉุดกระชากกันขึ้น จึงเป็นการลงมือลักทรัพย์โดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลัประทุษร้ายเพื่อให้สะดวกแก่การลักทรัพย์ แต่เมื่อนายดํายังไม่ได้กระเป๋าสะพายซึ่งเป็นตัวทรัพย์มาไว้ในความครอบครอง จึงเป็นการลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด ดังนั้น นายดําจึงมีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ประกอบมาตรา 80
ส่วนการที่นายดําเปลี่ยนใจปล่อยมือจากกระเป๋าสะพายแล้วเข้าไปปลุกปล้ําเพื่อหวังข่มขืนกระทํา ชําเราแทน จึงมิใช่เป็นการใช้กําลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อตัวทรัพย์ที่เป็นสร้อยคอทองคําของ น.ส.เอ ตั้งแต่ต้น แต่การที่นายดําเหลือบไปเห็นว่า น.ส.เอ มีสร้อยคอทองคําสวมอยู่ที่คอ นายดําจึงปลดเอาสร้อยคอทองคํา ของ น.ส.เอ แล้วลุกหนีไปนั้น เป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การลักทรัพย์จึงแยกต่างหากจากการใช้กําลัง ประทุษร้าย การกระทําของนายดําจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สําเร็จตา
มาตรา 334
สรุป การกระทําของนายดําเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานพยายามชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ประกอบมาตรา 80 และฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
ข้อ 4. นายหนึ่งได้แอบอ้างว่าตนเองเป็นแพทย์แล้วเสนอขายวัคซีนต้านโควิดให้กับนายสามและนายสี่
ในราคาเข็มละ 2,000 บาท ขณะเดียวกันนางสองซึ่งเป็นภรรยาของนายหนึ่งก็ได้พูดสนับสนุนชักจูงให้นายสามและนายสี่ซื้อวัคซีนดังกล่าวโดยอ้างว่าตนเองและครอบครัวรวมถึงญาติพี่น้องก็ฉีดวัคซีนดังกล่าวและปลอดภัยดีทุกคน จนนายสามและนายสี่ตกลงซื้อวัคซีนจากนายหนึ่งคนละ 2 เข็ม นายหนึ่งจึงฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับบุคคลทั้งสองโดยมีนางสองเป็นผู้ช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์ ให้นายหนึ่ง หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว นายสามจ่ายเงินเป็นค่าวัคซีนเข็มแรกจํานวน 2,000 บาท ให้แก่นายหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีก 2,000 บาท จะจ่ายเมื่อได้รับการฉีดเข็มที่สองแล้ว ส่วนนายสี่จะ จ่ายครั้งเดียว 4,000 บาท หลังจากได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ระหว่างนั้นนายหนึ่งและนางสอง ถูกตรวจพบว่าสิ่งที่ฉีดให้กับนายสามและนายสี่เป็นเพียงเกลือแร่เท่านั้น ไม่ใช่วัคซีนต้านโควิดตามที่แอบอ้าง
ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งและนางสองมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่การ กระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด
ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้
สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วม กระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด ข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง
ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย
1. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ
(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2. โดยการหลอกลวงนั้น
(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
(ข) ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ
3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้แอบอ้างว่าตนเองเป็นแพทย์แล้วเสนอขายวัคซีนต้านโควิด ให้กับนายสามและนายสี่ในราคาเข็มละ 2,000 บาท และได้ฉีดเข็มแรกให้กับบุคคลทั้งสอง ทั้งที่ความจริงแล้ว เป็นเพียงเกลือแร่ไม่ใช่วัคซีนต้านโควิด แต่นายหนึ่งกลับหลอกลวงว่าเป็นวัคซีนต้านโควิดนั้น การกระทําของ
นายหนึ่งจึงเป็นการกระทําโดยทุจริตหลอกลวงนายสามและนายสี่ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิด ข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงของนายหนึ่งนั้นทําให้นายหนึ่งได้ไปซึ่งเงินจํานวน 2,000 บาท จากนายสาม ดังนั้น การกระทําของนายหนึ่งต่อนายสามจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 นายหนึ่งจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341
ส่วนการกระทําของนายหนึ่งต่อนายสี่ เป็นกรณีที่นายหนึ่งได้ลงมือกระทําความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว
แต่การกระทํานั้นยังไม่บรรลุผล เนื่องจากนายที่ยังไม่ได้ชําระเงินให้แก่นายหนึ่ง ทําให้นายหนึ่งยังไม่ได้ไปซึ่ง ทรัพย์สินจากนายสี่ผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้น การกระทําของนายหนึ่งต่อนายสี่จึงเป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 80
ส่วนนางสองซึ่งเป็นภรรยาของนายหนึ่งได้พูดสนับสนุนชักจูงให้นายสามและนายสี่ซื้อวัคซีนจาก นายหนึ่ง และยังคอยช่วยเหลือนายหนึ่งในการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ การกระทําของนางสองถือว่ามีเจตนา ร่วมกับนายหนึ่งในการกระทําความผิดเพียงแต่แบ่งหน้าที่กันทํากับนายหนึ่ง จึงถือว่านางสองเป็นตัวการร่วมกัน
กับนายหนึ่งในการหลอกลวงนายสามและนายสี่ ดังนั้น นางสองจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และมีความผิดฐานพยายามฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83
สรุป นายหนึ่งและนางสองมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 80 และ มีความผิดฐานพยายามฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83