การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกกับนายโททะเลาะวิวาทกันจนแยกย้ายกันไปแล้ว แต่ระหว่างที่ทั้งสองคนจะกลับบ้าน นายเอกพูดว่า “จะไปเอาคืน” จากนั้นนายเอกชักชวนนายตรีให้ไปดักรอทําร้ายนายโทโดยที่นายตรี ไม่ทราบว่านายเอกพกอาวุธมีดติดตัวมาด้วย เมื่อนายโทขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา นายเอกกับ นายตรีก็วิ่งเข้าไปไล่ทําร้ายชกต่อยนายโทพร้อมกัน แต่ระหว่างนั้นนายเอกชักอาวุธมีดออกมาจ้วงแทง เข้าที่หน้าอกของนายโทจํานวน 3 ครั้ง จนนายโทล้มลงกองกับพื้นและเสียชีวิตทันที หลังเกิดเหตุนายเอกกับนายตรีได้วิ่งหลบหนีไปด้วยกัน

Advertisement

ให้วินิจฉัยว่านายตรีมีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 289 “ผู้ใด

(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน”

มาตรา 290 “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ…

ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ผู้กระทําต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบของความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1. ทําร้ายผู้อื่น
2. เป็นเหตุให้ผู้ถูกทําร้ายถึงแก่ความตาย
3. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกชักชวนนายตรีให้ไปดักรอทําร้ายนายโทโดยที่นายตรีไม่ทราบว่า นายเอกพกอาวุธมีดติดตัวมาด้วยนั้น นายตรีย่อมไม่อาจคาดหมายได้ว่านายเอกจะใช้อาวุธมีดแทงทําร้ายนายโท จนเสียชีวิต ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่านายตรีมีเจตนาฆ่านายโท แต่การที่นายตรีร่วมเดินทางไปกับนายเอกเพื่อดักรอทําร้าย นายโท แล้วเข้าทําร้ายชกต่อยนายโทพร้อมกัน และหลังเกิดเหตุได้วิ่งหลบหนีไปด้วยกันนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า นายตรีมีเจตนาที่จะร่วมทําร้ายนายโทโดยมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงฟังได้ว่านายตรีมีเจตนาเพียงต้องการทําร้ายนายโทโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น

เมื่อนายตรีร่วมทําร้ายนายโทและร่วมอยู่ในเหตุการณ์ที่นายเอกใช้อาวุธมีดแทงทําร้ายนายโทจนเสียชีวิต นายตรีจึงต้องยอมรับผลแห่งการกระทําคือความตายของนายโทด้วย ดังนั้น การกระทําของนายตรี จึงเป็นความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นนั้นถึงแก่ความตายตามมาตรา 290 วรรคหนึ่ง และเมื่อความผิดนั้น มีลักษณะเป็นการทําร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายตรีจึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4)

สรุป นายตรีมีความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุให้ผู้อื่นนั้นถึงแก่ความตาย
ตามมาตรา 290 ประกอบมาตรา 289 (4)

 

ข้อ 2. นายหนึ่งซื้อรถยนต์มือสองจากนายสามแล้วนําไปขายต่อจนได้กําไรถึง 50,000 บาท สืบเนื่องจาก นายสองเป็นผู้แนะนําให้นายหนึ่งกับนายสามได้รู้จักกัน แต่นายสองกําลังเจรจาจะซื้อรถยนต์ คันดังกล่าวจากนายสาม เช่นกัน ซึ่งหากนายหนึ่งไม่ชิงตัดหน้าซื้อรถยนต์คันนี้ไปก่อน นายสอง จะเป็นฝ่ายที่ได้กําไรจากการขายรถยนต์ นายสองเชื่อว่านายหนึ่งเป็นฝ่ายโกงตนเองจึงจับตัว นายหนึ่งมากักขังไว้แล้วเรียกเงินจํานวน 50,000 บาท จากภริยาของนายหนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว

ให้วินิจฉัยว่านายสองมีความผิดฐานเรียกค่าไถ่หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 313 “ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป
(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังประทุษร้าย ใช้อํานาจ ครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือ
(3) หน่วงเหนียว หรือกักขังบุคคลใด
ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา
313 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบด้วย

1. หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใด
2. โดยเจตนา
3. เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

“ค่าไถ่” หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง (ป.อาญา มาตรา 1 (13))

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งซื้อรถยนต์มือสองแล้วนําไปขายต่อจนได้กําไรถึง 50,000 บาทนั้น แม้จะสืบเนื่องมาจากนายสองเป็นผู้แนะนําให้นายหนึ่งกับนายสามรู้จักกัน ซึ่งหากนายหนึ่งไม่ชิงตัดหน้าซื้อรถยนต์ คันนี้ไปก่อน นายสองจะเป็นฝ่ายที่ได้กําไรจากการขายรถยนต์ก็ตาม ก็ไม่ทําให้การซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายหนึ่ง กับนายสามเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญาต่อนายสอง อันจะเป็นเหตุให้นายหนึ่งเป็นหนี้นายสอง ดังนั้น ถึงแม้ว่า นายสองจะเชื่อว่านายหนึ่งโกงตนเอง ย่อมเป็นเพียงความเชื่อของนายสอง ไม่เป็นเหตุให้นายหนึ่งเป็นหนี้นายสอง แต่อย่างใด ดังนั้น เงิน 50,000 บาทที่นายสองเรียกร้องจากภริยาของนายหนึ่งนั้น มิใช่เงินที่นายสองมีสิทธิที่จะได้ แต่เป็นเงินที่ใช้เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวนายหนึ่ง จึงเป็นค่าไถ่ตามนัยของมาตรา 1 (13)

ดังนั้น เมื่อนายสองนําตัวนายหนึ่งมาหน่วงเหนี่ยวกักขังเอาไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ และได้กระทํา
โดยเจตนา การกระทําของนายสองจึงเป็นความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313

สรุป นายสองมีความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313

 

ข้อ 3. นายเด่นแสดงตัวต่อนางเดือนว่าตนเองเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและสอบถามนางเดือนว่าเสพยาเสพติด มาหรือไม่ แล้วขอตรวจค้นตัวนางเดือนก่อนที่นายเด่นจะล้วงเอาบุหรี่ 1 ซองของนางเดือนไป จากนั้น นายเด่นบอกกับนางเดือนว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ โดยหากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไป แต่นางเดือนอาศัยจังหวะที่นายเด่นเผลอวิ่งหลบหนีไปเสียก่อน

ให้วินิจฉัยว่านายเด่นมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทํา ความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ

มาตรา 339 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1. เอาไป
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1. ลักทรัพย์
2. โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย
3. โดยเจตนา
4. เจตนาพิเศษ เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเด่นแสดงตัวต่อนางเดือนว่าตนเองเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและ สอบถามนางเดือนว่าเสพยาเสพติดมาหรือไม่ แล้วขอตรวจค้นตัวนางเดือนก่อนที่นายเด่นจะล้วงเอาบุหรี่ 1 ซอง ของนางเดือนไปนั้น พฤติการณ์ที่นายเด่นล้วงเอาบุหรี่ 1 ซองของนางเดือนไป ถือเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป โดยเจตนาและโดยทุจริตแล้ว การกระทําของนายเด่นจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

แต่อย่างไรก็ดี การที่นายเด่นได้แสดงตัวต่อนางเดือนดังกล่าว และบอกกับนางเดือนว่าจะพาไป ตรวจปัสสาวะโดยหากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้นยังไม่ถือว่าเป็นการใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายแต่อย่างใด การกระทําของนายเด่นจึงไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดฐาน ชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ดังนั้น นายเดนจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์

สรุป นายเด่นมีความผิดแต่เพียงฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4. นางสร้อยสั่งหน้ากากอนามัยจากนายสนจํานวน 1,000 ชิ้น เพื่อนําไปจําหน่าย โดยมีข้อตกลงว่า นางสร้อยต้องนําเงินมาชําระค่าหน้ากากอนามัยให้แก่นายสนภายใน 1 เดือนนับแต่วันได้รับสินค้า เมื่อได้รับหน้ากากอนามัยแล้ว นางสร้อยนําไปจําหน่ายและรับเงินมาจากลูกค้า แต่นางสร้อยมิได้ นําเงินดังกล่าวไปชําระคืนให้กับนายสน

ให้วินิจฉัยว่านางสร้อยมีความผิดฐานยักยอกหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 352 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1. ครอบครอง
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย 3. เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
4. โดยเจตนา
5. โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสร้อยสั่งหน้ากากอนามัยจากนายสนจํานวน 1,000 ชิ้น เพื่อนําไป จําหน่าย โดยมีข้อตกลงว่านางสร้อยต้องนําเงินมาชําระค่าหน้ากากอนามัยให้แก่นายสนภายใน 1 เดือนนับแต่ วันที่ได้รับสินค้านั้น ถือว่าเป็นการตกลงในการทําสัญญาซื้อเชื่อหน้ากากอนามัยกัน มีผลทําให้กรรมสิทธิ์ในสินค้า ดังกล่าวได้โอนไปเป็นของนางสร้อยแล้ว มิใช่เป็นกรณีที่นางสร้อยได้รับไว้ในฐานะตัวแทนของนายสนแต่อย่างใด

เมื่อนางสร้อยได้นําหน้ากากอนามัยไปจําหน่ายให้แก่ลูกค้าและรับเงินมาจากลูกค้า เงินที่นางสร้อย ได้รับมาจากลูกค้าย่อมมิใช่รับไว้ในฐานะตัวแทนของนายสน แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสร้อย จึงไม่ถือว่าเป็นกรณี ที่นางสร้อยได้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ดังนั้น การที่นางสร้อยมิได้นําเงิน จากการขายหน้ากากอนามัยดังกล่าวไปชําระคืนให้กับนายสน จึงมิใช่เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็น ของตนโดยทุจริต นางสร้อยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง เพียงแต่เป็นการผิดสัญญา ในทางแพ่งเท่านั้น

สรุป นางสร้อยไม่มีความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352

Advertisement