การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. หนึ่งขับรถมาด้วยความเร็วสูงเห็นคนกําลังข้ามถนนก็มิได้ลดความเร็วลงเพียงแต่ขับเบี่ยงหลบแต่หลบไม่พ้นจึงเฉี่ยวชนสองซึ่งกําลังข้ามถนนล้มลงได้รับอันตรายสาหัส ขณะเกิดเหตุนางสมศรี มารดาของสองยืนรอสองอยู่อีกฝั่งถนน เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ตกใจกลัวลูกตายจนตนเองช็อค หมดสติและถึงแก่ความตาย ดังนี้หนึ่งจะต้องรับผิดในความตายของนางสมศรีหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคสี่ “กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทํา โดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดย พลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํากฎหมายนั้นมาใช้บังคับ เพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”
มาตรา 291 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษ…”
มาตรา 300 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300 ประกอบด้วย
1. กระทําด้วยประการใด ๆ
2. โดยประมาท
3. เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งขับรถมาด้วยความเร็วสูงเห็นคนกําลังข้ามถนนก็มิได้ลดความเร็วลงเพียงแต่ขับเบี่ยงหลบแต่หลบไม่ทันจึงเฉี่ยวชนสองซึ่งกําลังข้ามถนนล้มลงได้รับอันตรายสาหัสนั้น การกระทําของสองถือว่าเป็นการกระทําโดยประมาท กล่าวคือเป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคล ในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ ให้เพียงพอไม่ตามมาตรา 59 วรรคสี่ เมื่อรถที่หนึ่งขับมาเฉียวชนสองล้มลงได้รับอันตรายสาหัส หนึ่งจึงมีความผิด ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300
ส่วนกรณีที่นางสมศรีมารดาของสองซึ่งยืนรอสองอยู่อีกฝั่งถนนเห็นเหตุการณ์โดยตลอดทําให้ตกใจกลัวลูกตายจนตนเองช็อคหมดสติและถึงแก่ความตายนั้น จะถือว่าเป็นการกระทําโดยประมาทของหนึ่งด้วย
ไม่ได้เพราะเป็นผลที่เกิดขึ้นห่างไกลเกินเหตุ ซึ่งตามปกติแล้วการที่เห็นผู้อื่นถูกรถชนนั้นไม่น่าจะทําให้คนตกใจช็อคหมดสติและถึงแก่ความตายได้ ดังนั้นจึงถือว่าความตายของนางสมศรีมารดาของสองไม่มีความสัมพันธ์กับการกระทําของหนึ่ง หนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้น อีกทั้งการกระทําของหนึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทํา โดยพลาดตามมาตรา 60 ด้วย เพราะมิใช่เป็นกรณีที่หนึ่งเจตนากระทําต่อสองแล้วไปเกิดผลร้ายแก่นางสมศรี มารดาของสองแต่อย่างใด ดังนั้น หนึ่งจึงไม่มีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291
สรุป หนึ่งไม่ต้องรับผิดในความตายของนางสมศรี
ข้อ 2. นายอาทิตย์ อายุ 21 ปี ได้คบหาเป็นคู่รักอยู่กับนางสาวพลอย อายุ 17 ปีเศษ แต่บิดามารดาของนางสาวพลอยคอยกีดกันเพราะเห็นว่านางสาวพลอยยังมีอายุน้อยและกําลังเรียนหนังสือ วันหนึ่ง นายอาทิตย์มีตารางสอบที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนายอาทิตย์จึงชวนนางสาวพลอยไปเป็นเพื่อนโดยไม่ได้ขออนุญาตบิดามารดาของนางสาวพลอย ขณะที่ทําการสอบนางสาวพลอยก็นั่งรออยู่ชั้นล่างของตึก หลังจากสอบเสร็จแล้วนายอาทิตย์ก็พานางสาวพลอยไปเดินเที่ยวต่อที่ห้างสรรพสินค้าแล้วจึงพานางสาวพลอยมาส่งที่ปากทางเข้าบ้าน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า การกระทํา ของนายอาทิตย์เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 319 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1. พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปีแต่ยังไม่เกิน 18 ปี
2. ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
3. โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย
4. โดยเจตนา
5. เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจาร
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ได้ชวนนางสาวพลอยอายุ 17 ปีเศษไปเป็นเพื่อนโดยนางสาวพลอย เต็มใจไปด้วยแต่ไม่ได้ขออนุญาตบิดามารดาของนางสาวพลอยนั้น ถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ซึ่งมีอายุ 15 ปีแต่ยัง ไม่เกิน 18 ปีไปเสียจากบิดามารดาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากสอบเสร็จ นายอาทิตย์ ได้พานางสาวพลอยไปเดินเที่ยวต่อที่ห้างสรรพสินค้าแล้วจึงพานางสาวพลอยมาส่งที่ปากทางเข้าบ้าน ซึ่งการกระทําของนายอาทิตย์ดังกล่าวนั้น นายอาทิตย์ไม่มีเจตนาพรากนางสาวพลอยไปเพื่อหากําไรหรือเพื่ออนาจารแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทําของนายอาทิตย์จึงไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง
สรุป การกระทําของนายอาทิตย์ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์
ข้อ 3. แดงเบิกเงินจากธนาคาร 100,000 บาท แต่แดงลืมนําเงินกลับบ้านแดงถือแต่ร่มกลับไปโดยลืม เงินของตนไว้บนเก้าอี้ในธนาคารนั้นเอง ขณะนั้นดํานั่งอยู่ข้าง ๆ ดํารีบหยิบเงินของแดงที่บรรจุ อยู่ในซองออกไปจากธนาคารทันที หลังจากนั้นอีกประมาณ 15 นาทีแดงกลับมาไม่พบเงินที่ตน ลืมวางไว้ แดงถามเขียวซึ่งยังไม่ออกไปจากธนาคาร เขียวบอกแดงว่าเห็นดําถือของวางอยู่ที่เก้าอี้ ที่ติดกันกับตนนั่งอยู่ออกไปจากธนาคารแล้ว ให้วินิจฉัยว่า ดํามีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทํา ความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”
มาตรา 352 “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบัง เอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ…
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทําความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสําคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทําความผิดเก็บได้ ผู้กระทําต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1. เอาไป
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต
กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง
ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ โดยอาจจะเป็นการครอบครองเพราะเจ้าของส่งมอบการครอบครองให้โดยชอบ หรือเพราะเจ้าของส่งมอบให้โดยสําคัญผิด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้เอาไปนั้นเก็บได้ ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน ลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินหายแล้วแต่กรณีตามมาตรา 352
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเบิกเงินจากธนาคาร 100,000 บาท แต่แดงลืมนําเงินกลับบ้านโดยลืม เงินของตนไว้บนเก้าอี้ในธนาคารนั้นเอง หลังจากนั้นอีกประมาณ 15 นาทีแดงกลับมาแต่ไม่พบเงินที่ตนลืมวางไว้นั้น ถือว่าแดงยังมีการครอบครองเงินนั้นอยู่ยังไม่ได้สละการครอบครอง เงินดังกล่าวจึงไม่เป็นทรัพย์สินหาย ดังนั้น การที่ได้หยิบเงินของแดงที่บรรจุอยู่ในซองออกไปจากธนาคารทันทีนั้น การกระทําของดําย่อมเป็นการกระทํา โดยรู้อยู่แล้วหรือควรรู้ว่าทรัพย์นั้นเจ้าของกําลังติดตามเอาทรัพย์นั้นคืนอยู่ การกระทําของดําจึงเป็นการเอาทรัพย์ ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ดําจึงมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 มิใช่ความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายตามมาตรา 352 วรรคสอง
สรุป ดํามีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
ข้อ 4. นายดี นายเด่น และนายดังตกลงเข้ากันทําธุรกิจโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาพักอาศัย โดยนายดี เป็นผู้ลงทุนที่ดิน ส่วนนายเด่นและนายดังลงทุนเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างคนละ 1 ล้านบาท และตกลงว่าจะแบ่งรายได้กันคนละครึ่ง นอกจากนี้บุคคลทั้งสามยังพักอาศัยอยู่ในโฮมสเตย์คนละ 1 หลังอีกด้วย ต่อมานายดีมีปัญหาเรื่องส่วนแบ่งรายได้กับนายเด่นและนายดัง บุคคลทั้งสอง จึงร่วมกันใช้อาวุธปืนบังคับข่มขืนใจให้นายดีออกจากโฮมสเตย์ไปแล้วนายเด่นกับนายดังร่วมกันเข้าครอบครองทําประโยชน์ในโฮมสเตย์ดังกล่าวแต่เพียงสองคน ให้วินิจฉัยว่า นายเด่นและนายดัง มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทํา ความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”
มาตรา 352 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1. เอาไป
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต
องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1. ครอบครอง
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
4. โดยเจตนา
5. โดยทุจริต
กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง
ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา352 วรรคหนึ่ง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดี นายเด่น และนายดังตกลงเข้ากันทําธุรกิจโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยว มาพักอาศัย โดยนายที่เป็นผู้ลงทุนที่ดิน ส่วนนายเด่นและนายดังลงทุนเป็นเงินคนละ 1 ล้านบาท และตกลงว่า จะแบ่งรายได้กันคนละครึ่ง โดยบุคคลทั้งสามยังพักอาศัยอยู่ในโฮมสเตย์คนละ 1 หลังอีกด้วยนั้น ถือว่าบุคคล ทั้งสามต่างครอบครองทรัพย์ซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย พฤติการณ์ที่นายเด่นและนายดังร่วมกันใช้อาวุธปืนบังคับข่มขืนใจให้นายดีออกจากโฮมสเตย์ไปแล้วเข้าครอบครองทําประโยชน์ในโฮมสเตย์ดังกล่าวแต่เพียงสองคนย่อมเป็นเหตุให้นายดีไม่สามารถครอบครองใช้ประโยชน์ในโฮมสเตย์ดังกล่าว และไม่อาจรับผลประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินจากโฮมสเตย์นั้นได้อีก ถือว่าการกระทําของบุคคลทั้งสองเป็นการร่วมกันเบียดบังเอาทรัพย์ที่ นายที่เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเป็นของตนเองโดยทุจริต ดังนั้น การกระทําของนายเด่นและนายดังจึงเป็นความผิด ทางอาญาฐานร่วมกันยักยอกตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง
สรุป นายเด่นและนายดังมีความผิดฐานร่วมกันยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคหนึ่ง