การสอบซ่อมภาค 2 และภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ผู้เสียหายในคดีอาญามีความหมายว่าอย่างไร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ให้อธิบายมาโดยละเอียด พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 2(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4 5 และ 6
จากนิยามความหมายดังกล่าว สามารถแยกอธิบายได้ดังนี้
1 ผู้เสียหายโดยตรง คือ ผู้เสียหายที่แท้จริง ซึ่งการจะพิจารณาว่าบุคคลใดจะเป็นผู้เสียหายโดยตรงหรือเป็นผู้เสียหายโดยแท้จริงนั้น มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้ คือ
ต้องมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น
บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้น
เป็นความเสียหายต่อสิทธิ
บุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
2 ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย คือ แม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหายแท้จริงแต่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในความหมายของคำว่า ผู้เสียหาย ด้วย
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
มาตรา 4 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามีและเป็นผู้เสียหายโดยตรง หญิงมีสามีนั้นสามารถฟ้องคดีอาญาได้เองโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน ตามกฎหมายถือว่าหญิงมีสามีมีอำนาจเต็มทุกประการ ทั้งนี้ตาม ป.วิอาญา มาตรา 4 วรรคแรก
มาตรา 4 วรรคสอง มามีมีอำนาจจัดการ (ฟ้องคดีอาญา) แทนภริยาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5(2) ด้วย
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
มาตรา 5 บุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 5 นั้นได้แก่
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามมาตรา 6
กรณีที่จะมีการร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลนั้นตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตามมาตรา 6 นั้น มีอยู่ 2 ประการ คือ
(1) ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด หรือผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์
(2) ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถ ไม่มีผู้อนุบาล หรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด หรือผู้อนุบาลมีผลประโยชน์ขัดกันกับคนไร้ความสามารถ
ข้อ 2 คำร้องทุกข์กับคำกล่าวโทษแตกต่างกันอย่างไร ให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
คำร้องทุกข์กับคำกล่าวโทษเป็นกระบวนการในการดำเนินคดีอาญาภายใต้ระบบกล่าวหา โดยมีข้อแตกต่างกันดังนี้
คำร้องทุกข์ หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ (ป. วิอาญา มาตรา 2(7))
คำกล่าวโทษ หมายถึง การที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น (ป. วิอาญา มาตรา 2(8))
ข้อ 3 นางสาวน้ำ อายุ 17 ปี ถูกนายเสือกระทำอนาจาร ให้วินิจฉัยว่า นางสาวน้ำซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่จะไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยตนเองเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายเสือได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 (4) ผู้เสียหาย หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4 , 5 และ 6
มาตรา 2 (7) คำร้องทุกข์ หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
วินิจฉัย
นางสาวน้ำซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่สามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยตนเองเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายเสือได้ ตามมาตรา 2(4) , (7) เนื่องจากศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า การร้องทุกข์ไม่ใช่การทำนิติกรรม เมื่อมีอายุพอสมควรย่อมร้องทุกข์เองได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด
ข้อ 4 นายเมฆเป็นทนายความของนายหมอก (ตัวความ) ต่อมาปรากฏว่านายเมฆรับชำระเงินจำนวนห้าหมื่นบาทจากฝ่ายตรงข้าม โดยที่นายหมอกไม่ได้มอบหมายให้นายเมฆมีอำนาจรับเงินจากฝ่ายตรงข้าม และนายเมฆได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของตนโดยทุจริต นายหมอกจึงไปแจ้งข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายเมฆ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 121 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
วินิจฉัย
คดีนี้ผู้เสียหายคือคู่ความฝ่ายตรงข้ามที่เป็นเจ้าของเงินในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน เนื่องจากในคดีความผิดต่อส่วนตัว ถ้าสอบสวนโดยไม่มีคำร้องทุกข์หรือมีคำร้องทุกข์แต่เป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการสอบสวนคดีนั้น ตาม ป. วิ. อาญา มาตรา 121 วรรคสอง