การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  4  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายความหมายของพยานหลักฐาน  และคุณค่าของพยานวัตถุ

ธงคำตอบ

พยานหลักฐาน  หมายถึง  พยานวัตถุ  พยานเอกสาร  หรือพยานบุคคล  ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์  ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้  แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดจากการจูงใจ  มีคำมั่นสัญญา  ขู่เข็ญ  หลอกลวง  หรือมิชอบประการอื่นๆ

คุณค่าของพยานหลักฐาน  ความสำคัญของพยานหลักฐานอยู่ที่การยอมรับของศาล  หากศาลยอมรับถือว่าพยานมีน้ำหนักรับฟังได้

คุณค่าของพยานวัตถุ

1       เป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงการเกิดขึ้นจริงของคดี  หรือเป็นการพิสูจน์ว่ามีความผิดเกิดขึ้น

2       เชื่อมโยงผู้ต้องสงสัยให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือสถานที่เกิดเหตุ

3       สามารถชี้ตัวผู้กระทำความผิด  และป้องกันผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาได้

4       สามารถยืนยันคำให้การของผู้เสียหาย

5       ทำให้เกิดการรับสารภาพ

6       เชื่อถือได้มากกว่าประจักษ์พยาน

7       ช่วยศาลในการวินิจฉัยคดี  โดยเฉพาะพยานที่ผ่านการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์

8       ใช้ในการยุติข้อโต้แย้งของคดี

 

ข้อ  2  ความแตกต่างระหว่างการฆ่าตัวตายกับการถูกฆาตกรรมในการสืบสวนมีหลักการพิจารณาสำคัญๆอะไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ความแตกต่างระหว่างการฆ่าตัวตายกับการถูกฆาตกรรมในการสืบสวนมีหลักการพิจารณา  ดังนี้

1       พิจารณาจากบาดแผล

–                    ตำแหน่งของบาดแผล  จำนวนบาดแผล  จุดเริ่มต้นของบาดแผล  บาดแผลที่กระดูก  บาดแผลจากการป้องกันตัว

–                    แผลที่เกิดจากการพยายามฆ่าตัวตาย

–                    การฉีกขาดของเครื่องแต่งกาย

–                    คราบโลหิตที่มือ

–                    อาวุธ  การเลือกอาวุธ  จำนวนอาวุธ

–                    ร่องรอย  สิ่งของต่างๆ  เช่น  เสื้อผ้า  กางเกง

–                    การไหลของโลหิต

2       ร่องรอยการต่อสู้ในสถานที่เกิดเหตุ

–                    รอยโลหิต  ร่องรอยการดิ้นรนต่อสู้  การล้มลงของเฟอร์นิเจอร์

–                    ร่อยรอยอาวุธ  กรณีพบรอย  เช่น  รอยมีด  รอบขวาน  รอยถูกยิง  ปลอกกระสุน

–                    บาดแผลป้องกันตัว

–                    รอบขีดข่วน  รอยถลอกตามร่างกาย

–                    สภาพของเสื้อผ้าฉีกขาด

3       เหตุจูงใจในการตาย

สภาพปัญหาทางร่างกาย  จิตใจ  ปัญหาครอบครัว  การเรียน  การทำงาน  ปัญหาทางเศรษฐกิจ  อาจสอบถามจากญาติ เพื่อน  คนใกล้ชิด

 4       สภาพทางเข้า  ออก ของสถานที่เกิดเหตุ

5       ร่องรอยอาชญากรรมอื่นในสถานที่เกิดเหตุ

 

ข้อ  3  นายต้น  อายุ  21  ปี  เป็นบุตรบุญธรรมของนายต้อม  ต่อมานายต้นถูกนายเตี้ยฆ่าตาย  นายต้อมจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายเตี้ย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การร้องทุกข์ของนายต้อมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)  ในประมวลกฎหมายนี้

(4) ผู้เสียหาย  หมายความถึง  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5 และ  6

มาตรา  2(7)  ในประมวลกฎหมายนี้

(7) คำร้องทุกข์  หมายความถึง  การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม  ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดรับโทษ

มาตรา  3 (1)  บุคคลดังระบุในมาตรา  4, 5 และ  6  มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

(1) ร้องทุกข์

มาตรา  5(2)  บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา  ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

วินิจฉัย

บุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดาน  ปละผู้รับบุตรบุญธรรมก็ไม่ใช่บุพการีของบุตรบุญธรรมเช่นกัน  ตามมาตรา  5(2)  นายต้อมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายประเภทเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน  ตามมาตรา  2(4)  ประกอบมาตรา  5(2)  ดังนั้น  การร้องทุกข์ของนายต้อมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  2  (7)  ประกอบมาตรา 3 (1)

ข้อ  4  จากข้อเท็จจริงตามข้อสอบในข้อ  3  ให้วินิจฉัยว่า  พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  121  วรรคแรก  พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง

วินิจฉัย

การที่นายต้นถูกนายเตี้ยฆ่าตาย  เป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดิน  พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้  แม้การร้องทุกข์ของนายต้อมไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม  เนื่องจากในคดีความผิดอาญาแผ่นดินนั้น  พนักงานสอบสวนชอบที่จะทำการสอบสวนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  121  วรรคแรก  (ฎ. 1681/2535 ฎ. 784/2483)

Advertisement