การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 เครื่องจับเท็จ (Polygraph) คืออะไร มีหลักการวิเคราะห์และประโยชน์อย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
“เครื่องจับเท็จจริง” คือ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจและบันทึกการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางสรีระที่ไม่สามารถสังเกตจากภายนอกได้ ซึ่งจะบันทึกออกมาในรูปกราฟที่สามารถนำมาประเมินผลวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในเรื่องการพูดจริงหรือเท็จ
หลักการวิเคราะห์
เพื่อบันทึกข้อมูลความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และการเปลี่ยนแปลงความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง แล้วนำข้อมูลที่แสดงเป็นรูปกราฟนั้นมาวิเคราะห์
ประโยชน์ในการใช้เครื่องจับเท็จ
เครื่องจับเท็จเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกของเครื่องมาเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ว่าบุคคลนั้นพูดจริงหรือพูดเท็จ
เครื่องจับเท็จใช้ในงานด้านการสืบสวนเพื่อประโยชน์ ดังนี้
1) ตรวจพยานบุคคลว่าเชื่อถือได้เพียงใด
2) เพื่อคัดแยกผู้บริสุทธิ์ออก
3) จำกัดจำนวนผู้ต้องสงสัย
4) ช่วยพนักงานสอบสวนในการสืบหาตัวผู้กระทำผิด
ข้อ 2 ให้อธิบายความหมายของการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และมีหลักการปฏิบัติในการตรวจอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ หมายความถึง การตรวจวิเคราะห์สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มแรกของการกระทำความผิดทั้งหลาย รวมทั้งบริเวณที่เกี่ยวเนื่องจากการกระทำผิดนั้นๆด้วย โดยมีวัตถุประสงค์จะแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ในการติดตามตัวคนร้ายและพิสูจน์การกระทำความผิด ผู้ที่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุจำต้องตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วยความละเอียดรอบคอบเพื่อให้ทราบเบื้องต้นว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด กระทำอย่างไร ด้วยวิธีการใด วันเวลาที่เกิดเหตุ และมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการกระทำผิดอย่างไร เนื่องจากโดยหลักการแล้วไม่มีอาชญากรรมใดที่กระทำได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ทิ้งร่องรอยใดๆไว้ในสถานที่เกิดเหตุ ดังนั้น ถ้าผู้ตรวจที่เกิดเหตุได้ทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุอย่างมีระเบียบแบบแผน ขั้นตอน ตามหลักการแล้ว จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากพยานวัตถุต่างๆในสถานที่เกิดเหตุซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จสามารถคลี่คลายคดีนั้นๆได้
หลักการตรวจสถานที่เกิดเหตุ
ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ มีหลักปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1 เมื่อได้รับแจ้งเหตุต้องรีบเดินทางไปให้ถึงสถานที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด เพราะว่าถ้าปล่อยไว้เนิ่นนาน ร่องรอยพยานหลักฐานอาจถูกทำลาย สูญหาย หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ซึ่งการไปถึงสถานที่เกิดเหตุด้วยความรวดเร็วจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น สามารถระงับเหตุได้ทันท่วงที ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามอันทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง นอกจากนี้หากคนร้ายยังอยู่ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจพบตัวคนร้ายและทำการจับกุมตัวได้
2 เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุแล้ว ต้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากบริเวณที่เกิดเหตุแล้วจึงเริ่มลงมือตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วยความละเอียดถี่ถ้วน เพราะการป้องกันรักษาสถานที่เกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุดถือว่าเป็นหัวใจของการตรวจสถานที่เกิดเหตุเพื่อนำไปสู่การคลี่คลายคดีได้ในที่สุด
3 ทำแผนที่สังเขปและถ่ายรูปสิ่งต่างๆในที่เกิดเหตุ ซึ่งการถ่ายรูปไว้จะช่วยในการพิจารณาในภายหลังได้อีกในกรณีที่เรามองข้ามบางสิ่งบางอย่างไป
4 การค้นหาร่องรอยและพยานหลักฐานต้องทำการเก็บให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อป้องกันการผิดพลาด และสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในขั้นพิจารณาของศาลได้ หรือสามารถส่งไปตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ โดยวัตถุที่ส่งไปตรวจไม่เสียหาย
5 ในขณะทำการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุควรสอบถามว่ามีผู้ใดเข้าไปในที่เกิดเหตุหรือมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของใดหรือไม่ และถ้าพบบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ให้รีบซักถามหรือสอบสวนทันที
6 ในคดีสำคัญๆถ้าเห็นว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุอาจไม่ละเอียดเพียงพอหรือต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วย ก็ให้ป้องกันรักษาสถานที่เกิดเหตุให้คงสภาพเดิมมากที่สุด เช่น กรณีสถานที่เกิดเหตุอยู่ในอาคาร ตัวบ้าน ห้อง ให้กั้นโดยการปิดล็อกทางเข้าทุกทาง หรือหากสถานที่เกิดเหตุอยู่นอกอาคาร เช่น บนทางเท้า สวนสาธารณะ ให้ใช้เชือกหรือแผงเหล็กจราจรกั้นล้อมบริเวณที่เกิดเหตุไว้ ห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุได้ หรืออาจจัดยามเฝ้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดเข้าไปทำลายพยานหลักฐานเพื่อประโยชน์ในการตรวจในคราวต่อไป
7 กรณีพบผู้บาดเจ็บในสถานที่เกิดเหตุ ให้ทำการปฐมพยาบาลแล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นอันดับแรก ในการนำส่งผู้บาดเจ็บควรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปด้วยทุกครั้ง เพราะผู้บาดเจ็บอาจพูดอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีได้ โดยเฉพาะคำกล่าวของคนใกล้ตายที่รู้ว่าจะถึงแก่ความตายสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานทางคดีได้ ในกรณีที่พบศพห้ามเคลื่อนย้ายจนกว่าจะได้รับการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย
8 สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดแรกควรปฏิบัติขณะที่รอผู้ชำนาญการมาถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานที่เกิดเหตุไม่ควรปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ ควรใช้เวลาระหว่างการรอคอยนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วย
ข้อ 3 เอ็มได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารแห่งหนึ่งเป็นจำนวนหนึ่งพันบาท หลังจากนั้นไม่ได้เอาเงินฝากอีกเลย ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารได้นำเงินฝากจำนวนสองหมื่นบาทของอ้วนซึ่งเป็นลูกค้าอีกรายหนึ่งของธนาคารเข้าบัญชีของเอ็มโดยผิดพลาด เอ็มรู้ว่ามีการนำเงินของผู้อื่นเข้าบัญชีของตนโดยผิดพลาด แต่เอ็มก็ยังถอนเงินดังกล่าวออกไปใช้จนหมด การกระทำดังกล่าวของเอ็มจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อาญา มาตรา 352 วรรคสอง ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ในความผิดดังกล่าวนี้ใครเป็นผู้เสียหาย เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2(4) ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
วินิจฉัย
การที่เจ้าหน้าที่ธนาคารได้นำเงินฝากจำนวนสองหมื่นบาทของอ้วนซึ่งเป็นลูกค้าอีกรายหนึ่งของธนาคารเข้าบัญชีของเอ็มโดยผิดพลาด และเอ็มได้ถอนเงินดังกล่าวออกไปใช้จนหมด ถือว่าธนาคารเป็นผู้เสียหาย เพราะเงินที่จ่ายไปเป็นของธนาคาร กล่าวคือ ธนาคารเป็นที่รับฝากเงิน ธนาคารสามารถนำเงินที่ฝากนั้นออกไปใช้ได้ แต่ธนาคารต้องคืนเงินที่ฝากให้กับผู้รับฝากจนครบจำนวน แม้เงินที่ฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ดังนั้น ธนาคารจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอก ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(4)
ข้อ 4 เกรียงไกรงัดตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วเอาเหรียญกษาปณ์ที่ค้างอยู่ในตู้ไป โดยเงินดังกล่าวนั้นเป็นเงินของประชาชนที่มาใช้โทรศัพท์แล้วไม่สามารถติดต่อปลายทางได้ ทำให้เหรียญกษาปณ์ตกลงไปในช่องคืนเหรียญ แต่เจ้าของเหรียญกษาปณ์ยังเอาเหรียญกษาปณ์คืนไปไม่ได้เพราะเหรียญกษาปณ์ติดค้างอยู่บนกระดาษที่เกรียงไกรเอาไปอุดไว้ หลังจากนั้นเกรียงไกรก็เข้าไปงัดตู้โทรศัพท์โดยใช้ลวดเขี่ยให้เหรียญกษาปณ์ไหลลงมาแล้วเอาเหรียญนั้นไป ปรากฏว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับเกรียงไกรในความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การร้องทุกข์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2(4) ในประมวลกฎหมายนี้
(5) ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 2(7) ในประมวลกฎหมายนี้
(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดรับโทษ
วินิจฉัย
ถือได้ว่าเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวนั้นยังเป็นของผู้ใช้โทรศัพท์อยู่ เพราะเหตุที่เหรียญติดค้างเพราะกระดาษที่เกรียงไกรเอาไปอุดไว้ความครอบครองยังอยู่กับเจ้าของเหรียญกษาปณ์อยู่ ผู้เสียหายในคดีนี้ก็คือ ประชาชนที่มาใช้โทรศัพท์ ดังนั้น การร้องทุกข์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายตาม ป. วิอาญา มาตรา 2(4) (7)