การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 การสืบสวนและการสอบสวนมีความแตกต่างกัน จึงให้ท่านอธิบายถึงความแตกต่างของการสืบสวนและสอบสวนอย่างน้อย 4 ประเด็น
ธงคำตอบ
การสืบสวน หมายความถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด ตาม ป.วิอาญา มาตรา 2(10)
การสอบสวน หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(11)
จากนิยามความหมายดังกล่าว สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการสืบสวนและการสอบสวนได้ดังนี้
1 วิธีการ
– การสืบสวน เป็นลักษณะของการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งอาจจะเป็นขั้นตอนก่อนที่จะมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นก็ได้
– การสอบสวน เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นและมีการกล่าวหาในความผิดนั้น
2 สิ่งที่ต้องการ
– การสืบสวน สิ่งที่ต้องการคือ ข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด
– การสอบสวน สิ่งที่ต้องการคือ พยานหลักฐาน ซึ่งแบ่งได้เป็นพยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร
3 วัตถุประสงค์
– การสืบสวน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อทราบรายละเอียดแห่งความผิด
– การสอบสวน เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา หรือพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ซึ่งอาจจะไม่มีผู้กระทำผิดตามที่กล่าวหาก็ได้
4 เจ้าพนักงานที่มีอำนาจ
– การสืบสวน ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ รวมทั้งเจ้าพนักงานอื่นๆตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น
– การสอบสวน ได้แก่ พนักงานสอบสวน ซึ่งหมายถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 18, 19, 20 และ 21
5 เงื่อนไข
– การสืบสวน สามารถกระทำก่อน ขณะ หรือหลังจากเหตุเกิดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความผิดเกิดขึ้น
– การสอบสวน ต้องมีความผิดเกิดขึ้น หรือมีการกล่าวหาในความผิดนั้นจึงทำการสอบสวน
ข้อ 2 การตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอมีความสำคัญยิ่งสำหรับการสืบสวนและการสอบสวน จึงให้ท่านอธิบายถึงความหมายของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ และประโยชน์ของการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอโดยสังเขป
ธงคำตอบ
สารพันธุกรรมหรือ DNA เป็นสารที่มีความจำเพาะสูงในแต่ละบุคคล จึงใช้ในการตรวจพิสูจน์ตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็น DNA จากคราบโลหิต อสุจิ เซลล์ของรากผม ขน ชิ้นส่วนของกระดูก ฯลฯ โดยมีวิธีการคือ การนำสารพันธุกรรมที่ได้รับมาสกัดแยกและเพิ่มปริมาณตามเทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction) แล้วนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรวจสอบเฉพาะก็จะสามารถทำให้ทราบแบบของสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตนั้นได้
เทคนิคการตรวจหาสารพันธุกรรมนี้มีประโยชน์ในด้านการสืบสวนและการสอบสวนดังนี้ คือ
1 การตรวจพิสูจน์ในคดีข่มขืนกระทำชำเรา
2 การตรวจพิสูจน์ในคดีฆาตกรรม
3 การตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร
4 การตรวจพิสูจน์โครงสร้างกระดูกหรือชิ้นส่วนของมนุษย์เพื่อนำมาพิสูจน์ตัวบุคคลซึ่งถูกฆาตกรรมหรือสูญหายไป
5 การตรวจผลของ DNA เพื่อพิสูจน์การติดเชื้อเอดส์ (HIV) ของบุคคล
ข้อ 3 คดีความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 เป็นความผิดอันยอมความได้ ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ตามระเบียบพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนคดีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้อธิบายพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 121 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
วินิจฉัย
กรณีความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อาญา ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับความผิดต่อส่วนตัว ตาม ป.วิอาญา ในกรณีที่ผู้เสียยังไม่ได้ร้องทุกข์ตามระเบียบในความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนจึงทำการสอบสวนคดีนี้ไม่ได้ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 121 วรรคสอง เนื่องจากในคดีความผิดต่อส่วนตัว ถ้าสอบสวนโดยไม่มีคำร้องทุกข์หรือมีคำร้องทุกข์แต่เป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการสอบสวนคดีนั้น
ข้อ 4 เจมส์ออกเช็คหนึ่งฉบับสั่งจ่ายเงินห้าหมื่นบาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อคอมพิวเตอร์แก่เจน แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงินเจนได้นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นที่ธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย เจนจึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า “ขอแจ้งเรื่องเจมส์จ่ายเช็คไม่มีเงิน โดยแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อกันไม่ให้คดีขาดอายุความ ถ้าหากเจมส์ไม่ชำระเงินจะมาแจ้งความดำเนินคดีต่อไป” ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า การแจ้งความดังกล่าวถือเป็นการร้องทุกข์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
วินิจฉัย
การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า ว่า “ขอแจ้งเรื่องเจมส์จ่ายเช็คไม่มีเงิน โดยแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อกันไม่ให้คดีขาดอายุความ ถ้าหากเจมส์ไม่ชำระเงินจะมาแจ้งความดำเนินคดีต่อไป” นั้น ถือว่าการแจ้งความดังกล่าวนี้ไม่เป็นคำร้องทุกข์ กรณีที่จะถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(7) นั้น ผู้เสียหายจะต้องกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ แต่กรณีตามปัญหายังไม่ได้ความว่าเจน (ผู้เสียหาย) มีเจตนาให้เจมส์ผู้กระทำความผิดได้รับโทษแต่อย่างใด กรณีจึงไม่เป็นคำร้องทุกข์