การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 หลักการสัมภาษณ์พยานมีอะไรบ้าง ให้อธิบายโดยละเอียด
ธงคำตอบ
การสัมภาษณ์พยานจะต้องกระทำโดยยึดหลัก ดังนี้
1 จะไม่ถามเชิงแนะนำที่ดูเหมือนว่าต้องการคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่สืบสวนต้องมีแผนในการสัมภาษณ์เพื่อประหยัดเวลา
2 จะไม่ป้อนข่าวและข้อมูลให้แก่พยานที่ไม่รู้มาก่อน เพราะพยานอาจจะเพิ่มเติมเรื่องของตนเข้าไปผสมผสานกับคำแนะนำหรือความเห็นจากการป้อนข่าวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเป็นไปโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทำให้ผลที่ได้ในเรื่องดังกล่าวไม่ตรงกับที่พยานได้เห็นเหตุการณ์ในสถานที่เกิดเหตุนั้น
3 สิ่งที่ต้องการได้แก่เรื่องจริงที่จำได้เท่านั้นจึงจะเป็นลักษณะของงานสืบสวนที่กำลังปฏิบัติอยู่
4 ต้องไม่ย่อท้อเมื่อสัมภาษณ์พยานแต่ละคน จนกว่าจะสามารถรู้เรื่องที่พยานรู้และได้เห็นโดยตลอด และเข้าใจชัดเจนปรากฏเป็นรูปร่างขึ้นในความคิดขนาดที่ผู้สืบสวนคดีสามารถจินตนาการได้ว่าเป็นคนเห็นหรือได้ยินด้วยตนเองหรือเสมือนกับว่าตนได้อยู่ในที่นั้นด้วย
5 พิจารณาโดยมิให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกว่าพยานเชื่อถือได้ ไว้ใจได้ และมีความสามารถขนาดไหน ควรรู้จักธรรมชาติของพยานเพื่อสรุปอย่างตรงประเด็นว่าพยานรู้อะไร เห็นอะไร และไม่รู้อะไร ไม่เห็นอะไร
6 รักษามารยาทที่ดีงามตามแบบแผนและประเพณีของสังคม ทั้งต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ด้วย
ข้อ 2 ความแตกต่างระหว่างการฆ่าตัวตายกับการถูกฆาตกรรม พิจารณาเฉพาะบาดแผลมีอะไรบ้าง ให้อธิบายโดยละเอียด (ไม่น้อยกว่า 5 ลักษณะ)
ธงคำตอบ
กรณีตามปัญหาพิจารณาได้ดังนี้
จุดสังเกต |
การฆ่าตัวตาย |
การถูกฆาตกรรม |
1 ตำแหน่งของบาดแผล | จำกัดเฉพาะบริเวณที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ส่วนใหญ่จะมีบาดแผลด้านหน้า ส่วนใหญ่จะกระทำที่จุดสำคัญ เช่น ลำคอ อก ท้องข้อพับ แขน ข้อมือ และจะไม่กระทำในส่วนอื่นที่ไม่จำเป็น | หากพบบาดแผลที่ด้านหลังหรือส่วนอื่นที่ไม่ใช่จุดสำคัญของร่างกายแล้วเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะถูกฆ่า |
2 บาดแผลที่เกิดจากการพยายามฆ่าตัวตาย | – มักจะมีแผลที่เกิดจากการพยายามฆ่าตัวตาย บาดแผลที่เกิดจากการ พยายามฆ่าตัวตายเป็นตัวตัดสินว่าเป็นการฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพิจารณา
– มักจะขนานกับแผลที่ทำให้ถึงแก่ความตาย เช่น ส่วนใหญ่จะเป็นแผลที่ตื้น และมีหลายแห่ง – แต่ก็น้อยที่พบแผลที่เกิดจากการพยายามฆ่าตัวตายที่อยู่คนละตำแหน่งกับผลที่ทำให้ถึงแก่ความตายตามลำคอ อก ข้อพับแขน ข้อมือ ซึ่งบาดแผลที่เกิดจากการ พยายามฆ่าตัวตาย โดยการแทงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแผลตื้นที่แทงด้วยปลายของมีคมมักจะมีหลาย แห่ง |
– ไม่มีบาดแผลที่เกิดจากการพยายามฆ่าตัวตาย หากมีบาดแผลหลายแห่ง ทิศทางจะไม่คงที่ ผู้ถูกฆาตกรรมจะต่อสู้ดิ้นรน ดังนั้น จะไม่มีทางเป็นไปได้ที่บาดแผลอยู่ในแนวเดียวกัน
– อาจมีบางครั้งที่ทำให้ดูเหมือนกับเป็นการฆ่าตัวตายโดยการทำให้เกิดแผลที่เกิดจากการพยายามฆ่าตัวตาย ในกรณีนี้จะเป็นแผลที่ไม่ได้เกิดขึ้นขณะที่มีชีวิต |
3 จำนวนบาดแผลที่ทำให้ถึงแก่ ความตาย | ปกติบาดแผลที่ทำให้ถึงแก่ความตายจะมีเพียงที่เดียวเท่านั้น มีบ้างเป็นบางครั้งที่มีบาดแผลที่ทำให้ถึงแก่ความตายมากกว่า 2 แห่งพร้อมกัน | หากมีบาดแผลที่ทำให้ถึงแก่ความตายมากกว่า 2 แห่ง ให้พิจารณาว่าเป็นการถูกฆาตกรรม หากทำให้เกิดบาดแผลเป็นจำนวนมากให้พิจารณาว่าเกิดจากความโกรธแค้นอย่างรุนแรง |
4 ความลึกของบาดแผล | ส่วนใหญ่เป็นบาดแผลที่ตื้น | มีแผลลึกเป็นจำนวนมากหรือแทงจนทะลุ |
5 จุดเริ่มต้นของบาดแผล | – บาดแผลเริ่มจากฝั่งตรงข้ามของมือที่ถนัดและถูกปาดไปทางด้านมือที่ถนัด
– จุดเริ่มต้นบาดแผลนั้นจะลึก |
– ตำแหน่งทิศทางและลักษณะของบาดแผลจะไม่คงที่เมื่อเปรียบเทียบจากมือที่ถนัด |
6 บาดแผลที่กระดูก |
– กรณีแทงบริเวณด้านหน้าอกมักจะหลีกเลี่ยงกระดูกหน้าอกหรือกระดูกซี่โครง จะแทงระหว่างกระดูกซี่โครง – แต่หากของมีคมนั้นมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดบาดแผลที่กระดูกซี่โครงด้วย |
– หากแทงที่กระดูกหน้าอกให้พิจารณาว่าเป็นการฆาตกรรม และหากเป็นการแทงจนกระทั่งทำให้กระดูกซี่โครงถูกตัดขาดให้พิจารณาว่าน่าจะเป็นการฆาตกรรม |
7 มีบาดแผลเกิดจากการต่อสู้ป้องกันตัวหรือไม่ | มือหรือแขนไม่มีบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้ป้องกันตัว มีบ้างเป็นบางครั้งที่ถูกของมีคมนั้นพลาดทำให้เกิดบาดแผลขึ้น | มักจะพบเห็นบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้ป้องกันตัวตามแขน ขา เนื่องจากกำหรือใช้มือรับอาวุธของฝ่ายตรงข้าม |
ข้อ 3 ดินออกเช็คหนึ่งฉบับชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่ฟ้า จำนวนเงินที่ระบุในเช็คคือ 120,000 บาท ซึ่งจำนวนเงิน 120,000 บาทนี้ เป็นเงินต้น 100,000 บาท และเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน เป็นเวลาสองเดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 20,000 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ ฟ้าได้นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ฟ้าจะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับดินในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2(4) ผู้เสียหายหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4 5 และ 6
มาตรา 2(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
วินิจฉัย
จำนวนเงินในเช็คพิพาทได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นอัตราที่ผิดกฎหมาย ถือได้ว่าฟ้าเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่ฟ้าคิดเกินอัตราตามกฎหมาย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ฟ้าก็ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย กรณีจึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(4) ฟ้าจึงร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(7) ไม่ได้
ข้อ 4 จากข้อเท็จจริงตามข้อสอบในข้อ 3 ข้างต้นนั้น ให้ท่านวินิจฉัยว่า ถ้าฟ้าได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับดินแล้ว พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 2(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
มาตรา 121 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
วินิจฉัย
การแจ้งข้อกล่าวหาของฟ้าไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(7) พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง เนื่องจากการดำเนินคดีอาญาของไทยเป็นระบบกล่าวหา ไม่ใช่ระบบไต่สวน ดังนั้น เจ้าพนักงานของรัฐจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีอาญาได้นั้น ก็ต้องปรากฏว่ามีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายโดยถูกต้องตามกำหมายก่อนนั่นเอง