การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ในทางคดีอาญา  การตรวจสถานที่เกิดเหตุถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากพยานหลักฐานต่างๆในสถานที่เกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ให้อธิบายว่าหลักการตรวจสถานที่เกิดเหตุควรมีหลักปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างไร

ธงคำตอบ

1       เมื่อได้รับแจ้งเหตุต้องรีบเดินทางไปให้ถึงสถานที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุดและปลอดภัย

2       เมื่อไปถึงต้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณที่เกิดเหตุ  แล้วจึงเริ่มลงมือตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วยความละเอียดถี่ถ้วน  ป้องกันสถานที่เกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเดิมให้มากที่สุด

3       ทำแผนที่สังเขป  และถ่ายรูปสิ่งต่างๆในที่เกิดเหตุไว้

4       ค้นหาร่องรอยและพยานหลักฐาน  ต้องทำการเก็บให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายและตามหลักวิทยาศาสตร์  เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้

5       ในขณะทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุควรสอบถามว่ามีผู้ใดเข้าไปในที่เกิดเหตุหรือไม่  มีการเคลื่อนย้ายสิ่งของใดหรือไม่

6       ในคดีสำคัญควรเรียกผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วย

7       กรณีมีผู้บาดเจ็บให้ปฐมพยาบาลแล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

ข้อ  2  วิธีการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุมีกี่วิธี  อะไรบ้าง

ธงคำตอบ

การตรวจสถานที่เกิดเหตุสามารถทำได้  5  วิธี  คือ

1       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบแถวหน้ากระดาน

2       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบแถวหน้ากระดานประยุกต์

3       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบวงล้อ

4       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบวงกลม/ก้นหอย

5       วิธีการตรวจที่เกิดเหตุแบบแบ่งโซน

 

ข้อ  3  คดีความผิดฐานลักทรัพย์  เมื่อความผิดปรากฏต่อพนักงานสอบสวน  แต่ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ตามระเบียบ  พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนคดีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  121  วรรคแรก  พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง

วินิจฉัย

ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดิน  เมื่อความผิดปรากฏต่อพนักงานสอบสวน  พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้  เนื่องจากในคดีความผิดต่ออาญาแผ่นดินนั้น  พนักงานสอบสวนจึงชอบที่จะทำการสอบสวนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  121  วรรคแรก  (ฎ. 1681/2535  ฎ.  784/2483)

ข้อ  4  เป้เป็นเจ้าของร้านอาหาร  เป้ได้มอบหมายให้โป้งซึ่งเป็นลูกเขยเป็นผู้ดูแลร้านอาหารนั้น  โดยโป้งพักอาศัยอยู่ที่ร้านอาหารนั้นด้วย  ปรากฏว่าปอนด์ได้บุกรุกเข้าไปในร้านอาหาร  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  โป้งจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีกับปอนด์ในข้อหาความผิดฐานบุกรุกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)    ผู้เสียหายหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา  4  ,  5     และ   6

มาตรา  2(7)  คำร้องทุกข์  หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น  จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ย่อมเป็นผู้เสียหาย  แต่ในบางกรณีผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ในขณะที่เกิดการกระทำความผิดก็เป็นผู้เสียหายได้เช่นกัน  จากข้อเท็จจริงแม้เป้จะเป็นเจ้าของร้านอาหาร  แต่การที่เป้ได้มอบหมายให้โป้งซึ่งเป็นลูกเขยเป็นผู้ดูแลร้านอาหารนั้น  โดยโป้งพักอาศัยอยู่ในร้านอาหารนั้นด้วย  กรณีจึงต้องสงสัยว่าโป้งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในร้านอาหารดังกล่าวนั้น  เมื่อปอนด์บุกรุกเข้าไปในร้านอาหาร  โป้งจึงเป็นผู้เสียหาย  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  2(4)  และมีอำนาจร้องทุกข์ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  1(7)  ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีกับปอนด์ในข้อหาความผิดฐานบุกรุกได้  (ฎ. 1284/2514)

Advertisement