การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016 กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงนํากฎหมายปกครองไปใช้ในการบริหารเทศบาลให้เป็นไปตามอํานาจหน้าที่ของเทศบาล พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบให้ครบถ้วนชัดเจน

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับอํานาจหน้าที่ในทางปกครอง รวมทั้ง หลักเกณฑ์ในการใช้อํานาจทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกฎหมายปกครอง อาจจะเป็นกฎหมายที่อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด หรือ อาจจะอยู่ในรูปของกฎหมายอื่น ๆ เช่น ในรูปของประมวลกฎหมาย เป็นต้น

อํานาจหน้าที่ในทางปกครองตามกฎหมายปกครอง หมายถึง การใช้อํานาจปกครองในการออก กฎและคําสั่งทางปกครอง การกระทําทางปกครองรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองนั่นเอง ซึ่งหน่วยงาน ทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีอํานาจหน้าที่ในทางปกครองต่าง ๆ ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายปกครอง บัญญัติไว้ และการใช้อํานาจปกครองดังกล่าวก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายปกครองได้กําหนดไว้ด้วย

เทศบาล เป็นหน่วยงานทางปกครองในรูปแบบของหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และ มีสภาพเป็นนิติบุคคล ส่วนเจ้าหน้าที่ของเทศบาล เช่น นายกเทศมนตรี ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งเทศบาลและ เจ้าหน้าที่ของเทศบาล จะมีอํานาจและหน้าที่ในการบริหารงานของเทศบาล ตามที่ พ.ร.บ. เทศบาล ซึ่งเป็น กฎหมายปกครองได้บัญญัติไว้ เช่น มีหน้าที่จัดให้มีและบํารุงทางบกและทางน้ำ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ของประชาชน มีหน้าที่ป้องกันและระงับโรคติดต่อ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมในเขตเทศบาลนั้น

ซึ่งในการบริหารงานของเทศบาลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น เทศบาลและเจ้าหน้าที่ ของเทศบาลจําเป็นต้องมีการใช้อํานาจทางปกครองไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง รวมทั้งการกระทํา ทางปกครองในรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองด้วย ดังตัวอย่าง เช่น

1 เทศบาลได้ออกเทศบัญญัติซึ่งเป็นกฎ ห้ามประชาชนในเขตเทศบาลเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ในขณะที่กําลังมีโรคไข้หวัดนกระบาด เพื่อเป็นการป้องกันและระงับโรคติดต่อ เป็นต้น

2 การออกคําสั่งทางปกครอง เช่น นายกเทศมนตรี ได้มีคําสั่งให้นายดํา รองนายกเทศมนตรี พ้นจากตําแหน่งเพราะนายดําได้กระทําการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นต้น

3 การกระทําทางปกครองรูปแบบอื่น เช่น การที่เจ้าหน้าที่ของเทศบาลดําเนินการซ่อมแซม และทําความสะอาดถนนหรือทางระบายน้ำ เป็นต้น

4 การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่เทศบาลได้ทําสัญญาจ้างบริษัทเอกชนทําถนน หรือเก็บและกําจัดขยะมูลฝอย เป็นต้น

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการบริหารราชการของเทศบาลไม่ว่าจะเป็นการจัดทําบริการสาธารณะ หรือ การใช้อํานาจทางปกครองต่าง ๆ เทศบาลจะสามารถดําเนินการได้ก็จะต้องมีกฎหมายซึ่งก็คือ กฎหมายปกครอง ได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย และจะต้องใช้อํานาจหน้าที่นั้นตามที่กฎหมายปกครองได้กําหนดไว้ ซึ่งกฎหมายปกครองดังกล่าว ได้แก่ พ.ร.บ. เทศบาลฯ รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

และในการบริหารราชการของเทศบาลนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนั้นเป็นผู้ใช้อํานาจ ตามกฎหมายเพื่อบริหารราชการให้เป็นไปตามนโยบาย และในการบริหารราชการของเทศบาลของเจ้าหน้าที่ ดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายในการบริหารบ้านเมืองที่ดีนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องใช้อํานาจตาม หลักกฎหมายปกครองด้วย ซึ่งการใช้อํานาจตามหลักกฎหมายปกครองนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น

1 หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ จะใช้อํานาจได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ อํานาจไว้ด้วย เพราะถ้าเป็นการใช้อํานาจโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อํานาจนอกเหนือจากที่กฎหมาย บัญญัติให้อํานาจไว้ ก็จะเป็นการใช้อํานาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2 หลักประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือ การใช้อํานาจนั้นจะต้องกระทําเพื่อประโยชน์แก่ ประชาชนส่วนรวม มิใช่กระทําเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

3 หลักความซื่อสัตย์สุจริต กล่าวคือ การใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องกระทําด้วย ความเหมาะสมและตามสมควร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

4 หลักความเป็นธรรม กล่าวคือ การใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่นั้นจะต้องกระทําต่อบุคคล ทุกคนโดยยึดหลักว่าบุคคลทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีความเสมอภาคกัน และต้องเป็นการกระทําเพียงเพื่อให้ บรรลุตามเป้าประสงค์ของกฎหมายเท่านั้น รวมทั้งจะต้องไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนจนเกินควร

และในกรณีที่เทศบาลหรือเจ้าหน้าที่ของเทศบาลได้ใช้อํานาจทางปกครองโดยไม่ชอบด้วย กฎหมาย เช่น ออกกฎหรือคําสั่งทางปกครองโดยไม่มีอํานาจ หรือโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ย่อมก่อให้เกิดข้อพิพาททางปกครองขึ้น และสามารถนําข้อพิพาททางปกครองดังกล่าวไปฟ้องร้องเป็นคดีต่อ ศาลปกครองได้ เพราะข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้อํานาจปกครองของเทศบาลนั้น เป็นข้อพิพาททางปกครองหรือ ที่เรียกว่า คดีปกครองที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองประเภทหนึ่ง

 

ข้อ 2. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหมายถึงอะไร และมีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษา อย่างไร พร้อมยกตัวอย่างให้ครบถ้วน

ธงคําตอบ

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5)

จากความหมายของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การดําเนินการของ เจ้าหน้าที่ที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนั้น จะต้องเป็นกรณีการเตรียมการและ การดําเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครองหรือกฎ

ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใด เป็นการเฉพาะ

วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับตัวข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะนับตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดจนกระทั่งตาย จะต้องเกี่ยวข้องกับกฎหรือคําสั่งทางปกครองที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ ตลอด ซึ่งในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะออกกฎหรือคําสั่งทางปกครอง และกฎหรือคําสั่งทางปกครองนั้นจะมีผลกระทบ ต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของข้าพเจ้า (รวมทั้งบุคคลอื่น ๆ) ก่อนที่จะมีการออกกฎหรือคําสั่งทางปกครอง ดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมการและดําเนินการตามที่กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการได้กําหนดไว้ด้วย และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎหรือคําสั่งทางปกครองโดยชอบแล้ว ข้าพเจ้าก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหรือคําสั่งทางปกครอง ดังกล่าวนั้น ตัวอย่างเช่น

เมื่อข้าพเจ้า (หรือบุคคลอื่น ๆ) ได้เกิดมาแล้ว กฎหมายบังคับว่าจะต้องมีการแจ้งเกิด และเมื่อได้ตายไปแล้ว ก็ต้องมีการแจ้งการตายต่อเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งกรณีที่มีการแจ้งเกิด และเจ้าหน้าที่รับแจ้ง โดยการออกใบสูติบัตรให้ หรือเมื่อมีการแจ้งการตาย และเจ้าหน้าที่ออกใบมรณะบัตรให้ การออกใบสูติบัตรหรือ ใบมรณะบัตรของเจ้าหน้าที่นั้น คือการออกคําสั่งทางปกครองนั่นเอง

หรือในขณะที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ เมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ก็ต้องเข้าโรงเรียน ต้องทําบัตร ประชาชน รวมทั้งการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย (ของรัฐ) ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ได้ทําการรับสมัครเข้าเรียน ในโรงเรียน หรือในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ได้ออกใบประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรให้เมื่อเรียนจบ หรือการที่เจ้าหน้าที่ออกบัตรประชาชนให้ ถือว่าเป็นการออกคําสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น

หรือในกรณีที่ข้าพเจ้ายื่นคําขอจดทะเบียนสมรส หรือยื่นขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ การที่เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียน หรือออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้ก็ถือว่าเป็นการออกคําสั่งทางปกครอง

จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่ข้าพเจ้า (รวมทั้งบุคคลอื่น ๆ) ได้ดําเนินการใน เรื่องต่าง ๆ นั้น ก็จะต้องปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ด้วย และการที่เจ้าหน้าที่ จะใช้อํานาจปกครองเพื่อออกคําสั่งทางปกครองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นแก่ข้าพเจ้า ก่อนออกคําสั่งทางปกครอง เจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีการเตรียมการและการดําเนินการตามที่กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และตามที่กฎหมายวิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครองได้กําหนดไว้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 3. หลักการกระจายอํานาจปกครองเพื่อจัดทําบริการสาธารณะทางปกครองให้กรุงเทพมหานคร แตกต่างจากวิธีกระจายอํานาจปกครองเพื่อให้การไฟฟ้านครหลวงจัดทําบริการสาธารณะในการผลิตและ จําหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยวิธีการที่รัฐ จะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรทางปกครองอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของราชการบริหารส่วนกลาง เพื่อไปจัดทํา บริการสาธารณะบางอย่าง โดยมีความเป็นอิสระ เช่น การมอบอํานาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดูแลและ จัดทําบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งองค์กรทางปกครองนั้นไม่ต้องขึ้นอยู่ใน ความบังคับบัญชาของส่วนกลางเพียงแต่ขึ้นอยู่ในความกํากับดูแลเท่านั้น

การกระจายอํานาจปกครองแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1 การกระจายอํานาจทางเขตแดนหรือทางพื้นที่ เป็นวิธีการกระจายอํานาจให้แก่ ส่วนท้องถิ่น โดยให้ส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาแยกต่างหากจากส่วนกลาง และให้มีสภาพเป็นนิติบุคคล ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา แล้วส่วนกลางก็จะมอบอํานาจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเหล่านั้นไปดําเนินจัดทํากิจการบริการสาธารณะตามอํานาจ หน้าที่ที่กฎหมายได้กําหนดไว้ โดยจะมีการกําหนดขอบเขตหรือพื้นที่ไว้ ซึ่งโดยหลักทั่วไปองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้น ก็จะไปจัดทํากิจการนอกเขตหรือนอกพื้นที่ที่กําหนดไว้ไม่ได้ นอกจากจะมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้โดยเฉพาะ

ซึ่งวิธีการกระจายอํานาจให้แก่ส่วนท้องถิ่นวิธีนี้ กระทําโดยการมอบอํานาจการจัดทํา กิจการบริการสาธารณะหลาย ๆ อย่างให้แก่ส่วนท้องถิ่นไปจัดทําโดยเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง และด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเพื่อสนองตอบต่อความต้องการส่วนรวมของประชาชน ในท้องถิ่นนั้น ๆ

2 การกระจายอํานาจทางบริการหรือทางเทคนิค เป็นวิธีการกระจายอํานาจ โดยที่ ส่วนกลางจะมอบบริการสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวให้แก่องค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยมิได้อยู่ในสังกัดของส่วนกลาง ได้แก่ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน รับไปดําเนินงานด้วยเงินทุนและด้วย เจ้าหน้าที่ขององค์การนั้น ๆ เช่น การมอบอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถไฟทั่วทั้งประเทศให้แก่องค์การของรัฐ คือการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการมอบอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตและจําหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การให้อํานาจแก่กรุงเทพมหานครในการจัดทําบริการสาธารณะทาง ปกครองและการให้อํานาจแก่การไฟฟ้านครหลวงในการจัดทําบริการสาธารณะในการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าใน พื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น จะเหมือนกันตรงที่เป็นการใช้หลักการกระจายอํานาจปกครอง แต่ที่จะแตกต่างกันใน สาระสําคัญตรงที่ว่า การกระจายอํานาจบกครองให้แก่กรุงเทพมหานครนั้น เป็นการให้อํานาจแก่กรุงเทพมหานคร ในการจัดทําบริการสาธารณะได้หลายอย่าง โดยผู้บริหารจะมาจากการเลือกตั้ง และจะมีการกําหนดขอบเขต หรือพื้นที่ไว้ ส่วนการกระจายอํานาจให้แก่การไฟฟ้านครหลวงนั้น เป็นการมอบอํานาจกิจการทางเทคนิคหรือทาง เศรษฐกิจเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวไปดําเนินการจัดทํา โดยไม่ถือเอาอาณาเขตหรือพื้นที่เป็นข้อจํากัด และโดยไม่ถือว่าการเลือกตั้งผู้บริหารเป็นเงื่อนไขในการจัดตั้งองค์กรที่ได้รับมอบอํานาจดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ข้อ 4. ตามกฎหมายการพนันบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตจัดให้มีการเล่นพนันชนไก่ในเขตพื้นที่แต่ละจังหวัดเท่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งอยู่ในฐานะ ผู้บังคับบัญชามีนโยบายไม่ให้ออกใบอนุญาตจัดให้มีการเล่นพนันชนไก่เพิ่มเติมอีก เพราะเกรงว่า ประชาชนจะมัวเมาลุ่มหลงเป็นอบายมุข มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดซึ่งเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายการพนัน มิให้ออกใบอนุญาตการเล่นการพนันชนไก่เพิ่มเติมอีกโดยเด็ดขาด ดังนี้ หนังสือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเป็นการกระทําทางปกครองประเภทใด หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

“การกระทําทางปกครอง” หมายถึง การกระทําขององค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าย ปกครอง หรือผลิตผลของการใช้อํานาจรัฐตามพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเสมอพระราชบัญญัติ เช่น พระราชกําหนด เป็นต้น

การกระทําทางปกครอง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1 “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติ ท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด หรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

2 “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

3 “การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น” ได้แก่ การกระทําทางปกครองทั้งหลายที่ ไม่ใช่การออกกฎ หรือการออกคําสั่งทางปกครอง ซึ่งมักจะเรียกกันว่า “ปฏิบัติการทางปกครอง”

4 “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้ จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

กรณีตามปัญหา การออกใบอนุญาตจัดให้มีการเล่นพนันชนไก่ในเขตพื้นที่แต่ละจังหวัดนั้น ถือเป็นการใช้อํานาจปกครองตามกฎหมายการพนัน ซึ่งกฎหมายได้กําหนดให้แต่เฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น เป็นเจ้าพนักงานที่มีอํานาจออกใบอนุญาตได้ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งอยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชา มีอํานาจเพียงวางนโยบายหรือแนวปฏิบัติเป็นการทั่วไปเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองทั่วไป การที่ รัฐมนตรีฯ ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายการพนันมิให้ ออกใบอนุญาตเล่นการพนันชนไก่เพิ่มเติมอีกโดยเด็ดขาดนั้น หนังสือของรัฐมนตรีฯ ดังกล่าว จึงไม่ใช่ผลิตผล ของการใช้อํานาจปกครองตามกฎหมายการพนัน ดังนั้น หนังสือของรัฐมนตรีฯ ดังกล่าวจึงมิใช่การกระทํา ทางปกครองประเภทใดเลย ไม่ว่าจะเป็นกฎ คําสั่งทางปกครอง สัญญาทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครอง ในรูปแบบอื่น

สรุป

หนังสือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวไม่เป็นการกระทําทางปกครอง ประเภทใดเลย เพราะมิใช่ผลิตผลของการใช้อํานาจปกครองตามกฎหมายการพนัน

Advertisement