การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016 กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. เมื่อท่านสําเร็จการศึกษาแล้วได้เข้าไปเป็นปลัดอําเภอ จงอธิบายว่าปลัดอําเภอกับกฎหมายปกครองเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพื่อจุดประสงค์ใด

ธงคําตอบ

ปลัดอําเภอกับกฎหมายปกครอง มีความเกี่ยวข้องกัน ดังนี้คือ

“กฎหมายปกครอง” เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่ หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอํานาจและหน้าที่ในทางปกครองนั้น ได้แก่ อํานาจหน้าที่ในการจัดทํา บริการสาธารณะซึ่งเป็นกิจกรรมของฝ่ายปกครอง รวมทั้งการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ และการทําสัญญาทางปกครอง

“หน่วยงานทางปกครอง” ได้แก่ หน่วยงานบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ได้รับมอบ ให้ใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมาย

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทาง ปกครองตามกฎหมาย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือคณะกรรมการที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือ หน่วยงานทางปกครอง

ดังนั้นเมื่อข้าพเจ้าสําเร็จการศึกษาและสอบเข้าเป็นปลัดอําเภอได้ การรับราชการในตําแหน่ง ปลัดอําเภอนั้น ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในตําแหน่งปลัดอําเภอนั้น ส่วนใหญ่ มักจะเป็นเรื่องของการใช้อํานาจทางปกครอง เพื่อการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการดําเนินการทาง ปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การกระทําทางปกครองที่เรียกว่าปฏิบัติการทางปกครอง และการทําสัญญาทาง ปกครองทั้งสิ้นซึ่งในการใช้อํานาจทางปกครองดังกล่าวนั้น ก็เพื่อจุดประสงค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริการสาธารณะนั้นเอง

ในการใช้อํานาจทางปกครองดังกล่าวนั้น ปลัดอําเภอจะใช้อํานาจทางปกครองได้ก็จะต้องมี กฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อํานาจไว้ด้วย และในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้อํานาจไว้แต่กฎหมายได้บัญญัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือขั้นตอนในการใช้อํานาจทางปกครองไว้ด้วย ดังนี้การใช้อํานาจทางปกครองของปลัดอําเภอ ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือขั้นตอนที่กฎหมายได้กําหนดไว้ด้วย

ในกรณีที่ปลัดอําเภอได้ใช้อํานาจทางปกครอง เช่น การออกคําสั่งทางปกครองมาโดยที่ไม่มี กฎหมายบัญญัติให้อํานาจไว้หรือออกคําสั่งทางปกครองมาโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือขั้นตอนที่กฎหมาย ได้กําหนดไว้ คําสั่งทางปกครองนั้นก็จะเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจทําให้เกิดข้อพิพาททาง ปกครองขึ้นได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองขึ้น ก็จะต้องนําข้อพิพาทหรือที่เรียกว่าคดีปกครองนั้น ขึ้นฟ้องเป็นคดี ต่อศาลปกครอง เพราะศาลปกครองเป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาททางปกครอง หรือคดีปกครอง

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า กฎหมายปกครองมีความสําคัญและเกี่ยวข้องต่อการปฏิบัติราชการใน ตําแหน่งปลัดอําเภอเป็นอย่างมาก ปลัดอําเภอจึงต้องทราบว่ากฎหมายปกครองต่าง ๆ นั้นได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่ปลัดอําเภอไว้อย่างไรหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทําให้ปลัดอําเภอได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจ ทางปกครองได้อย่างถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง

 

ข้อ 2. พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาตรา 5 และ 11 บัญญัติว่า “มาตรา 5 ผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น การเช่าที่ดินที่มีเนื้อที่เกินกว่าหนึ่งร้อยไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวงให้อธิบดีมีอํานาจเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่า มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจออกกฎกระทรวง…”

จงอธิบายว่า ในมาตรา 5 และ 11 ดังกล่าวมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกฎหมายปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือไม่ หากมีได้แก่เรื่องอะไรบ้าง พร้อมอธิบายประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” คือ กฎหมายที่มีบทบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่ หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอํานาจหน้าที่ในทางปกครองนั้น ก็คือการใช้อํานาจตามกฎหมายของ เจ้าหน้าที่ในการออกคําสั่งทางปกครอง ออกกฎ หรือการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ได้แก่ ปฏิบัติการทาง ปกครอง รวมถึงการทําสัญญาทางปกครอง นั่นเอง โดยการใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป เป็นต้น

การใช้อํานาจทางปกครองในการออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การรับรอง การรับจดทะเบียน เป็นต้น

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5)

เมื่อพิจารณาความหมายของคําว่า “กฎหมายปกครอง” ดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ถือว่าเป็นกฎหมายปกครอง ฉบับหนึ่ง เพราะเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครองและ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของมาตรา 5 และมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่ามีบทบัญญัติบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครอง และวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ดังนี้

ตามมาตรา 5 บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คือ บทบัญญัติที่ว่า

1 “ผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น และการเช่าที่ดินที่มีเนื้อที่เกินกว่า 100 ไร่จะต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดี” เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ (คืออธิบดี) เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง (การอนุมัติ)

2 “ ได้รับอนุมัติจากอธิบดี” การได้รับอนุมัติจากอธิบดีนั้น ถือได้ว่า การอนุมัติของ อธิบดีเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมายปกครอง คือตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในการ ออกคําสั่งทางปกครอง (การอนุมัติ)

3 “ ให้อธิบดีมีอํานาจเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่า” การเพิกถอนการจดทะเบียน การเช่าเป็นคําสั่งทางปกครอง และการที่อธิบดีจะเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่จะใช้อํานาจ ทางปกครองตามกฎหมายปกครองเพื่อออกคําสั่งทางปกครองและในการออกคําสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนนั้น ถ้าจะให้คําสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายและไม่ ก่อให้เกิดข้อพิพาททางปกครอง เจ้าหน้าที่ที่จะออกคําสั่งก็จะต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมาย ได้บัญญัติไว้ ซึ่งการเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครองนั้น เรียกว่าวิธี ปฏิบัติราชการทางปกครองนั่นเอง

ตามมาตรา 11 บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครอง คือบทบัญญัติที่ว่า “รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย มีอํานาจออกกฎกระทรวง” ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และ มีอํานาจออกกฎกระทรวง กฎกระทรวงถือว่าเป็น “กฎ” การออกกฎกระทรวงของรัฐมนตรีฯ ถือว่าเป็นการใช้อํานาจ ทางปกครองในการออกกฎ

และในการออกกฏดังกล่าวของเจ้าหน้าที่นั้น ถ้าจะให้เป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายและ ไม่ก่อให้เกิดข้อพิพาททางปกครอง เจ้าหน้าที่ผู้ออกกฎก็จะต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมาย ได้บัญญัติไว้ ซึ่งเรียกว่าวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนั่นเอง

 

ข้อ 3.ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้หลักการ รวมอํานาจปกครอง (Centralization) และหลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) จงอธิบายโดยละเอียด

ธงคําตอบ

ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (การจัดตั้งองค์กรทางปกครองหรือการจัดส่วนราชการ) ของไทยนั้น จะใช้หลักการที่สําคัญอยู่ 2 หลัก คือ หลักการรวมอํานาจปกครองและหลักการกระจายอํานาจปกครอง

หลักการรวมอํานาจปกครอง เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยการมอบอํานาจ ปกครองให้แก่ราชการบริหารส่วนกลาง และมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ใช้อํานาจปกครอง ซึ่งหลักการรวมอํานาจปกครองนี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การรวมศูนย์อํานาจปกครอง และการกระจาย การรวมศูนย์อํานาจปกครองหรือการแบ่งอํานาจปกครอง

1 การรวมศูนย์อํานาจปกครอง คือ การรวมอํานาจวินิจฉัยสั่งการทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลาง หรือส่วนกลาง และต้องมีระบบการบังคับบัญชาที่เคร่งครัด มีการรวมกําลังในการบังคับต่าง ๆ คือ กําลังทหาร และกําลังตํารวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง และมีลําดับชั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่

2 การแบ่งอํานาจปกครองหรือการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครอง เป็นรูปแบบ ที่อ่อนตัวลงมาของการรวมศูนย์อํานาจปกครอง โดยการมอบอํานาจในการตัดสินใจหรือการวินิจฉัยสั่งการบางอย่าง ให้แก่องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจําอยู่ในแต่ละท้องที่การปกครอง โดยองค์กรหรือ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังคงอยู่ในระบบบังคับบัญชาของส่วนกลาง

ประเทศไทยได้นําหลักการรวมอํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยการนําหลักการรวมศูนย์อํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง โดยการแบ่งส่วนราชการ ออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น และนําหลักการกระจายการรวมศูนย์อํานาจปกครองหรือหลักการแบ่งอํานาจ ปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็นจังหวัดและอําเภอ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยส่วนกลาง จะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่น ซึ่งไม่ใช่องค์กรของส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เช่น การมอบอํานาจ ปกครองให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทําบริการสาธารณะด้วยตนเอง โดยมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ ในความบังคับบัญชาของส่วนกลาง แต่จะอยู่ภายใต้การกํากับดูแล

ประเทศไทยได้นําหลักการกระจายอํานาจปกครองมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่น โดยจัดแบ่งส่วนราชการออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

จากหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ว่าราชการ จังหวัดมีความเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้หลักการรวมอํานาจปกครอง และ หลักการกระจายอํานาจปกครอง ดังนี้คือ

ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นราชการส่วนกลางไปประจํายังเขตการปกครองระดับจังหวัดซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค ทั้งราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาคใช้หลักการรวมอํานาจปกครองในการจัดระเบียบบริหารราชการ ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดกับราชการส่วนกลางจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ตามหลักการรวมอํานาจปกครอง และ ผู้ว่าราชการจังหวัดถือเป็นตัวแทนของราชการบริหารส่วนกลางในการกํากับดูแลราชการส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมาย ได้กําหนดไว้ เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล เป็นต้น ซึ่งลักษณะของการกํากับดูแลนั้นจะแตกต่างกับ การบังคับบัญชา เพราะอํานาจกํากับดูแลจะกระทําได้ก็แต่เฉพาะที่กฎหมายได้บัญญัติไว้เท่านั้น แต่อํานาจบังคับบัญชานั้น ผู้บังคับบัญชาจะสามารถควบคุมได้ทั้งความชอบด้วยกฎหมายและดุลพินิจด้วย

 

ข้อ 4. นายดําเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยร้ายแรงกรณีมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้บังคับบัญชาจึงมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายดํา ซึ่ง ตามกฎหมายข้าราชการพลเรือนว่าด้วยการสอบสวน กําหนดให้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย จะต้องแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาโดยระบุวัน เวลา สถานที่ และการกระทําที่มี ลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหา โดยคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจะระบุชื่อของพยานบุคคล หรือไม่ก็ได้ ภายหลังการสอบสวนคณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือถึงนายดํา แจ้งรายชื่อพยานบุคคลโดยไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนการกระทําและข้อกล่าวหาว่านายดํา มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อีกทั้งคณะกรรมการฯ ยังมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชานายดําว่า นายดํามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริง และเสนอความเห็นให้มีคําสั่งลงโทษไล่นายดําออกจาก ราชการ และในที่สุดผู้บังคับบัญชามีคําสั่งลงโทษไล่นายดําออกจากราชการตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ ซึ่งนายดําเห็นว่าไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ดังนี้ นายดํามาปรึกษาท่านว่า หนังสือของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่ตนเองได้รับและแจ้งแต่รายชื่อพยานบุคคลเท่านั้น มิได้มีการแจ้งสรุปพยานหลักฐานฯ ดังกล่าว เป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อม หลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองนั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้น ระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

กรณีตามปัญหา การที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ได้มีหนังสือถึงนายดํา โดยในหนังสือ ดังกล่าวได้แจ้งแต่รายชื่อพยานบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนการกระทําและ ข้อกล่าวหาว่านายดํามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การกระทําของคณะกรรมการสอบสวนวินัยดังกล่าว จึง ไม่ถือว่าเป็นการกระทําที่มุ่งผลในทางกฎหมาย คือมิได้เป็นการกระทําที่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ขึ้นในระหว่างบุคคล จึงขาดองค์ประกอบของคําสั่งทางปกครองในข้อ 3. ดังนั้นหนังสือของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่นายดํา ได้รับ จึงไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง

สรุป หนังสือของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงทุนายดําได้รับไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบของคําสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

 

Advertisement