การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายชัยเป็นคนต่างด้าวได้แจ้งข้อความเท็จว่าเป็นคนไทยและแสดงเอกสารราชการปลอมในการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ต่อมาความสืบทราบยังกระทรวงมหาดไทย นายแดงเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอํานาจตามกฎหมายจึงมีคําสั่งเพิกถอนรายการทะเบียนหรือหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และคําสั่งเพิกถอนรายการบัตรหรือบัตรประจําตัวประชาชนของนายชัย โดยไม่ได้ให้นายชัย มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งก่อนมีคําสั่ง ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งของนายแดง ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มี ผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”
มาตรา 30 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และมีอํานาจตามกฎหมาย ได้มีคําสั่งเพิกถอน รายการทะเบียนหรือหลักฐานทางทะเบียนราษฎรและคําสั่งเพิกถอนรายการบัตรหรือบัตรประชาชนของนายชัย อันมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลคือนายชัย คําสั่งดังกล่าวจึงเป็นคําสั่ง ทางปกครองตามนัยของมาตรา 5 ดังนั้น เมื่อก่อนที่นายแดงเจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งทางปกครองดังกล่าว นายแดง ไม่ได้ให้นายชัยได้มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ของตน คําสั่งของนายแดงดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง)
สรุป
คําสั่งของนายเเดงดังกล่าวเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. คนงานของกรุงเทพมหานครได้ทําการขุดถนนเพื่อทําท่อระบายน้ำ ทําให้นายดําที่ขับรถมาในเวลากลางคืนมองไม่เห็นและขับรถตกหลุมที่ทางกรุงเทพมหานครขุดไว้และไม่ได้ปิดหลุมในเวลากลางคืน อีกทั้งไม่ได้ปักป้ายให้สัญญาณไว้ทําให้รถเสียหาย นายดําต้องการฟ้องกรุงเทพมหานครเพื่อให้ชดใช้ ค่าเสียหาย ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า นายดําจะต้องไปฟ้องที่ศาลใด เพราะเหตุใด ขอให้ท่านอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อํานาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คําสั่งทางปกครองหรือคําสั่งอื่น หรือ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร”
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) กรณีที่จะถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ การกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเรียกว่า “ละเมิดทางปกครอง” และจะเป็นคดี ที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ดังนี้ คือ
1 เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ
2 เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 กรณีดังต่อไปนี้ คือ
(1) การใช้อํานาจตามกฎหมาย
(2) การออกกฎ คําสั่งทางปกครอง หรือคําสั่งอื่น ๆ
(3) การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ
(4) การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คนงานของกรุงเทพมหานครได้ทําการขุดถนนเพื่อทําท่อระบายน้ํา ทําให้นายดําที่ขับรถมาในเวลากลางคืนมองไม่เห็นและขับรถตกหลุมที่ทางกรุงเทพมหานครขุดไว้และไม่ได้ปิดหลุม ในเวลากลางคืน อีกทั้งไม่ได้ปักป้ายให้สัญญาณไว้ทําให้รถเสียหายนั้น การกระทําของกรุงเทพมหานครไม่ถือว่า เป็นการละเมิดเนื่องจากการใช้อํานาจตามกฎหมายหรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด และไม่ใช่ เป็นการละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีอื่น ๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่เป็นการละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติ หน้าที่ทั่ว ๆ ไปของกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณี จึงไม่ใช่เป็นการกระทําละเมิด ทางปกครอง ดังนั้นข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอํานาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณา นายดําจึงต้อง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทําละเมิดทางแพ่งของกรุงเทพมหานครต่อศาลยุติธรรม
สรุป
นายดําจะต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรุงเทพมหานครเป็นคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรม เพราะข้อพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในอํานาจของศาลปกครองที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา
ข้อ 3. สํานักงานประกันสังคมได้ทําสัญญากับโรงพยาบาลรวมใจไทยซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคม ต่อมาโรงพยาบาลรวมใจไทย ทําผิดสัญญา ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า สํานักงานประกันสังคมจะต้องฟ้องโรงพยาบาลดังกล่าวให้รับผิด ตามสัญญาได้ภายในกําหนดอายุความเท่าใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมาย ประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งใน เรื่องดังต่อไปนี้
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง”
มาตรา 51 “การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปีและการฟ้องคดี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ให้ยื่นฟ้องภายในห้าปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี”
และตามมาตรา 3 ได้บัญญัติให้คํานิยามของ “สัญญาทางปกครอง” ไว้ว่า
“สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น หน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทํา บริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สํานักงานประกันสังคมได้ทําสัญญากับโรงพยาบาลรวมใจไทย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคมนั้น เป็นสัญญาที่ทําขึ้นระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเอกชน และเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการให้จัดทํา บริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยของมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และเมื่อต่อมาโรงพยาบาลรวมใจไทยทําผิดสัญญา จึงเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองขึ้นมา และเป็น คดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ซึ่งทําให้สํานักงานประกันสังคม สามารถฟ้องให้โรงพยาบาลรวมใจไทยรับผิดตามสัญญาต่อศาลปกครองได้ โดยสํานักงานประกันสังคมจะต้อง ฟ้องให้โรงพยาบาลรวมใจไทยรับผิดตามสัญญาภายในกําหนด 5 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51
สรุป
สํานักงานประกันสังคมจะต้องฟ้องโรงพยาบาลรวมใจไทยให้รับผิดตามสัญญาภายใน กําหนด 5 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
ข้อ 4. นายเขียวเป็นข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดวินัยร้ายแรง นายขาวซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายเขียวจะทําการสอบสวนวินัยของนายเขียวด้วยตนเอง และหากเห็นว่านายเขียว กระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงจริงจะใช้ดุลยพินิจของตนในการมีคําสั่งไล่นายเขียวออกจากราชการ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
มาตรา 93 “ในกรณีที่ผลการสืบสวนหรือพิจารณาตามมาตรา 91 ปรากฏว่ากรณีมีมูลอันเป็น ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ในการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งรับฟังคําชี้แจงของผู้ถูก กล่าวหา เมื่อคณะกรรมการสอบสวนดําเนินการเสร็จ ให้รายงานผลการสอบสวนและความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57
ถ้าผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทําผิดตาม ข้อกล่าวหาให้สั่งยุติเรื่อง แต่ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําผิดตามข้อกล่าวหาให้ดําเนินการต่อไปตามมาตรา 96 หรือมาตรา 97 แล้วแต่กรณี”
มาตรา 97 “ภายใต้บังคับวรรคสอง ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนํามาประกอบการพิจารณา ลดโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนหรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง หรือผู้มีอํานาจตามมาตรา 94 เห็นว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ แล้วแต่กรณีพิจารณา เมื่อ อ.ก.พ. ดังกล่าวมีมติเป็นประการใด ให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจ สั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎ ก.พ.
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวเป็นข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดวินัย ร้ายแรงนั้น นายขาวซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายเขียวจะทําการสอบสวนวินัยของนายเขียวด้วยตนเองไม่ได้ จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทําการสอบสวนว่านายเขียวได้กระทําความผิดวินัยร้ายแรงจริงหรือไม่ (มาตรา 93 วรรคหนึ่ง) และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนดําเนินการเสร็จและเห็นว่านายเขียวกระทําความผิดวินัย ร้ายแรงจริง นายขาวจะใช้ดุลพินิจของตนในการมีคําสั่งไล่นายเขียวออกจากราชการทันทีไม่ได้ จะต้องส่งเรื่อง ไปให้ อ.ก.พ. ที่นายเขียวสังกัดใช้ดุลพินิจพิจารณาโทษของนายเขียววาจะให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ และเมื่อ อ.ก.พ. มีมติประการใด ก็ให้นายขาวสั่งลงโทษนายเขียวตามมตินั้น (มาตรา 93 วรรคสอง และมาตรา 97)
สรุป
นายขาวจะทําการสอบสวนวินัยนายเขียวด้วยตนเอง และจะใช้ดุลพินิจของตนในการ มีคําสั่งไล่นายเขียวออกจากราชการไม่ได้ จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 93 และ 94 ดังกล่าวข้างต้น