การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายแดงเป็นชาวเขาบริเวณชายแดนจังหวัดเชียงรายได้รับโอนสัญชาติไทย  ต่อมานายแดงถูกตำรวจจับโดยข้อหาว่าค้ายาบ้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอาศัยอำนาจตาม  พ.ร.บ. สัญชาติฯจึงมีคำสั่งเพิกถอนสัญชาติของนายแดง  ดังนี้  นายแดงจะอุทธรณ์คำสั่งของรัฐมนตรีดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

มาตรา  44  วรรคแรก ภายใต้บังคับมาตรา  48  ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี  และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ  ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองในสิบห้าวัน  นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ สัญชาติฯได้มีคำสั่งเพิกถอนสัญชาติของนายแดงนั้น  ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง  ตามนัยของมาตรา  5  แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  เพราะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ดังนั้น  กา  รที่นายแดงจะอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้หรือไม่  จึงต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์เรื่องการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  44 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ซึ่งตาม  พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  44  วรรคแรกนั้นได้บัญญัติหลักไว้ว่า  คู่กรณีสามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ได้  ก็เฉพาะคำสั่งทางปกครองที่ไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี  และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองเป็นการเฉพาะ

แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น  คำสั่งทางปกครองที่ให้เพิกถอนสัญชาติของนายแดง  เป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระททรวงมหาดไทย  ดังนั้น  แม้นายแดงจะไม่พอใจในคำสั่งของรัฐมนตรีฯ  นายแดงก็จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีหาได้ไม่  เพราะต้องห้ามตามมาตรา  44  วรรคแรก  ดังกล่าวข้างต้น  นายแดงได้แต่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีฯ  ได้ต่อศาลปกครองโดยตรงเท่านั้น

สรุป  นายแดงจะอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนสัญชาติของรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ได้  เพราะต้องห้ามตามมาตรา  44  วรรคแรก  แห่งพ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

 


ข้อ  2  นายขาวได้รับบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง  ต่อมานายขาวถูกศาลตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลาย  ดังนี้ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้นายขาวออกจากราชการทันที  และเรียกเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคำสั่งให้ออกนั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

มาตรา  67  ผู้ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดตามมาตรา  53  วรรคหนึ่ง  มาตรา  55 มาตรา  56  มาตรา  63  มาตรา  64  และมาตรา  65  หากภายหลังปรากฏว่าขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือมีลักษณะต้องห้ามโดยไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา  36  ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการโดยพลัน  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่  และการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคำสั่งให้ออกนั้น

มาตรา  36  ข(6)  ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป  และไม่มีลักษณะต้องห้าม  ดังต่อไปนี้

ข.  ลักษณะต้องห้าม

(6)  เป็นบุคคลล้มละลาย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายขาวได้รับบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง  และต่อมานายขาวได้ถูกศาลตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น  กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะตามบทบัญญัติมาตรา  67  ประกอบกับมาตรา  36  ข(6)  กล่าวคือนายขาวเป็นผู้ที่ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ  แล้วต่อมาภายหลังปรากฏว่านายขาวมีลักษณะต้องห้ามคือเป็นบุคคลล้มละลายและไม่ได้รับการยกเว้น  ดังนั้น  ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้นายขาวออกจากราชการทันทีได้

แต่อย่างไรก็ตาม  การสั่งให้นายขาวออกจากราชการได้ทันทีนั้น  ตามมาตรา  67  ได้บัญญัติไว้ว่า  จะไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่นายขาวได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่และการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใด  ที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคำสั่งให้ออกนั้น  ดังนั้น  ผู้บังคับบัญชาจะเรียกเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคำสั่งให้ออกนั้นไม่ได้

สรุป  ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้นายขาวออกจากราชการทันทีได้  แต่จะเรียกเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนมีคำสั่งให้ออกนั้นไม่ได้

 


ข้อ  3  บริการสาธารณะคืออะไร  มีกี่ประเภท  จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคำตอบ

บริการสาธารณะ  (Public Service) หมายถึง  กิจการที่อยู่ในความอำนวยการหรือในกำกับดูแลของฝ่ายปกครองที่จัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

กิจกรรมที่จะถือว่าเป็นบริการสาธารณะนั้นจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข  2  ประการ  คือ

1)    จะต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในกฎหมายมหาชนหรือนิติบุคคลมหาชน  ซึ่งหมายถึง  นิติบุคคลมหาชนเป็นผู้ประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง  อันได้แก่  กิจกรรมที่รัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดำเนินการ  และยังหมายความรวมถึงกรณีที่รัฐมอบกิจกรรมของรัฐบางประเภทให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ  โดยฝ่ายปกครองใช้อำนาจกำกับดูแลบางประการและอยู่ภายใต้ระบบพิเศษด้วย

2)    จะต้องเป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและตอบสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

1       ประเภทของบริการสาธารณะ

บริการสาธารณะแบ่งออกเป็น  3  ประเภทใหญ่ๆดังนี้  คือ

1)    บริการสาธารณะปกครอง

บริการสาธารณะปกครอง  คือ  กิจการรมที่โดยสภาพแล้วเป็นงานในหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่จะต้องจัดทำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องการดูแลความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชน  ที่รัฐหรือฝ่ายปกครองจัดทำให้ประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  และนอกจากนี้  เนื่องจากเนื้อหาของบริการสาธารณะทางปกครองจะเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่เฉพาะของฝ่ายปกครองที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษ  รวมทั้งอำนาจพิเศษของฝ่ายปกครองตามกฎหมายมหาชนในการจัดทำบริการสาธารณะด้วย  ดังนั้นบริการสาธารณะประเภทนี้  ฝ่ายปกครองจึงไม่สามารถมอบให้องค์กรอื่นหรือเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนได้

ตัวอย่างบริการสาธารณะทางปกครองดังกล่าวข้างต้น  เช่น  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบภายใน  การป้องกันประเทศ  การสาธารณสุข  การอำนวยความยุติธรรม  การต่างประเทศ  และการคลัง  เป็นต้น  ซึ่งแต่เดิมนั้น  บริการสาธารณะทุกประเภทจัดว่าเป็นบริการสาธารณะทางปกครองทั้งสิ้น  แต่ต่อมาเมื่อกิจกรรมเหล่านี้มีมากขึ้น  และมีรูปแบบและวิธีการในการจัดทำที่แตกต่างกันออกไป  จึงเกิดประเภทใหม่ๆของบริการสาธารณะขึ้นมาอีก

2)    บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม

บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม  คือ  บริการสาธารณะที่เน้นทางด้านการผลิต  การจำหน่าย  การให้บริการ  และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน  (วิสาหกิจเอกชน)  ซึ่งมีความแตกต่างกับบริการสาธารณะทางปกครองอยู่ด้วยกัน  4 ประการ  คือ

(1) วัตถุแห่งบริการ  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีวัตถุแห่งบริการเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น  มีวัตถุแห่งบริการด้านเศรษฐกิจเหมือนกับวิสาหกิจเอกชน  คือ  เน้นทางด้านการผลิต  การจำหน่าย  การให้บริการ  และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน

(2) วิธีปฏิบัติงาน  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีวิธีปฏิบัติงานที่รัฐสร้างขึ้นมาเป็นแบบเดียวกัน  มีระบบบังคับบัญชาซึ่งใช้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน  ในขณะที่บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีวิธีปฏิบัติงานที่สร้างขึ้นมาเองแตกต่างไปจากบริการสาธารณะที่มีลักษณะทางปกครอง  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเหมาะสมในการดำเนินการ

(3) แหล่งที่มาของเงินทุน  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีแหล่งที่มาของเงินทุนจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว  โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินทุนทั้งหมดที่นำมาใช้จ่ายในการดำเนินการ  ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น  แหล่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากค่าตอบแทนการบริการของผู้ใช้บริการ

(4) ผู้ใช้บริการ  สถานภาพของผู้ใช้บริการสาธารณะทางปกครองนั้นจะถูกกำหนดโดยกฎข้อบังคับทั้งหมด  ซึ่งรวมตั้งแต่การกำหนดองค์กร  การจัดองค์กร  และการปฏิบัติงาน  ดังนั้น  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการสาธารณะประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขและไม่เท่าเทียมกัน  ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการของบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีลักษณะเสมอภาคกัน  เพราะถูกกำหนดโดยสัญญาตามกฎหมายเอกชน

3)    บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม

บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม  คือ  บริการสาธารณะที่เป็นการให้บริการทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องการความอิสระคล่องตัวในการทงานโดยไม่มุ่นเน้นการแสวงหากำไร  เช่น  การแสดงนาฏศิลป์  พิพิธภัณฑ์  การกีฬา  การศึกษาวิจัยฯ

 


ข้อ  4  เมื่อวันที่  10  มกราคม  พ.ศ.2554  นายเอกและราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลยางชุม  อำเภอสูงเนิน  ได้ทราบว่าได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินอำเภอสูงเนินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2554  นายเอกและประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าวเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาฯฉบับนี้  ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทบต่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและจะส่งผลกระทบต่อราษฎรฯ ผู้ขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต่อทางราชการเพราะจะทำให้ราษฎรฯไม่สามารถขอออกหนังสือแสดงสิทธิต่อทางราชการได้  ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2555  นายเอกและราษฎรฯเห็นว่ากรณีเพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองสิทธิของตน  จึงได้ยื่นฟ้องกรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครองฯ  เพื่อขอให้ศาลปกครองฯ เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาฯดังกล่าว  ดังนี้  หากท่านเป็นศาลปกครองฯ  ท่านจะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตาม พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

มาตรา  49  “การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี  หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี  เว้นแต่จะได้มีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา  52  “การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว  ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ  ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายใน  90  วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี (มาตรา 49)  ซึ่งตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกและราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลยางชม  อำเภอสูงเนินได้ทราบว่าได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินอำเภอสูงเนินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน  พ.ศ. 2554  เมื่อวันที่ 10  มกราคม  พ.ศ.2554  ซึ่งนายเอกและราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาฯ  ฉบับนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทบต่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะฯ  ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองสิทธิของตน  นายเอกและราษฎรฯ  จึงได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง  เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาฯ  ดังกล่าว  เมื่อวันที่  20  มีนาคม  2555

กรณีตามอุทาหรณ์  จะเห็นได้ว่านายเอกและราษฎรฯ  ได้ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา  49  แล้ว  และกรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ  ตามมาตรา  52  วรรคหนึ่ง  ที่ผู้ฟ้องคดีจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้  ดังนั้นโดยหลักแล้วศาลปกครองจะไม่รับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา

แต่อย่างไรก็ดี  ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม  และจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของราษฎรตามมาตรา  52 วรรคสอง  ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาได้  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลปกครอง  ข้าพเจ้าจะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลปกครองจะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาตามมาตรา  52  วรรคสอง  แห่ง  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542

Advertisement