การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  บริการสาธารณะคืออะไร  มีกี่ประเภท  จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา 

ธงคำตอบ

บริการสาธารณะ  (Public Service) หมายถึง  กิจการที่อยู่ในความอำนวยการหรือในกำกับดูแลของฝ่ายปกครองที่จัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

กิจกรรมที่จะถือว่าเป็นบริการสาธารณะนั้นจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข  2  ประการ  คือ

1)    จะต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในกฎหมายมหาชนหรือนิติบุคคลมหาชน  ซึ่งหมายถึง  นิติบุคคลมหาชนเป็นผู้ประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง  อันได้แก่  กิจกรรมที่รัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดำเนินการ  และยังหมายความรวมถึงกรณีที่รัฐมอบกิจกรรมของรัฐบางประเภทให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ  โดยฝ่ายปกครองใช้อำนาจกำกับดูแลบางประการและอยู่ภายใต้ระบบพิเศษด้วย

2)    จะต้องเป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและตอบสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

1       ประเภทของบริการสาธารณะ

บริการสาธารณะแบ่งออกเป็น  3  ประเภทใหญ่ๆดังนี้  คือ

1)    บริการสาธารณะปกครอง

บริการสาธารณะปกครอง  คือ  กิจการรมที่โดยสภาพแล้วเป็นงานในหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่จะต้องจัดทำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องการดูแลความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชน  ที่รัฐหรือฝ่ายปกครองจัดทำให้ประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  และนอกจากนี้  เนื่องจากเนื้อหาของบริการสาธารณะทางปกครองจะเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่เฉพาะของฝ่ายปกครองที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษ  รวมทั้งอำนาจพิเศษของฝ่ายปกครองตามกฎหมายมหาชนในการจัดทำบริการสาธารณะด้วย  ดังนั้นบริการสาธารณะประเภทนี้  ฝ่ายปกครองจึงไม่สามารถมอบให้องค์กรอื่นหรือเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนได้

ตัวอย่างบริการสาธารณะทางปกครองดังกล่าวข้างต้น  เช่น  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบภายใน  การป้องกันประเทศ  การสาธารณสุข  การอำนวยความยุติธรรม  การต่างประเทศ  และการคลัง  เป็นต้น  ซึ่งแต่เดิมนั้น  บริการสาธารณะทุกประเภทจัดว่าเป็นบริการสาธารณะทางปกครองทั้งสิ้น  แต่ต่อมาเมื่อกิจกรรมเหล่านี้มีมากขึ้น  และมีรูปแบบและวิธีการในการจัดทำที่แตกต่างกันออกไป  จึงเกิดประเภทใหม่ๆของบริการสาธารณะขึ้นมาอีก

2)    บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม

บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม  คือ  บริการสาธารณะที่เน้นทางด้านการผลิต  การจำหน่าย  การให้บริการ  และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน  (วิสาหกิจเอกชน)  ซึ่งมีความแตกต่างกับบริการสาธารณะทางปกครองอยู่ด้วยกัน  4 ประการ  คือ

(1) วัตถุแห่งบริการ  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีวัตถุแห่งบริการเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว  ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น  มีวัตถุแห่งบริการด้านเศรษฐกิจเหมือนกับวิสาหกิจเอกชน  คือ  เน้นทางด้านการผลิต  การจำหน่าย  การให้บริการ  และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน

(2) วิธีปฏิบัติงาน  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีวิธีปฏิบัติงานที่รัฐสร้างขึ้นมาเป็นแบบเดียวกัน  มีระบบบังคับบัญชาซึ่งใช้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน  ในขณะที่บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีวิธีปฏิบัติงานที่สร้างขึ้นมาเองแตกต่างไปจากบริการสาธารณะที่มีลักษณะทางปกครอง  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเหมาะสมในการดำเนินการ

(3) แหล่งที่มาของเงินทุน  บริการสาธารณะทางปกครองจะมีแหล่งที่มาของเงินทุนจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว  โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินทุนทั้งหมดที่นำมาใช้จ่ายในการดำเนินการ  ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น  แหล่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากค่าตอบแทนการบริการของผู้ใช้บริการ

(4) ผู้ใช้บริการ  สถานภาพของผู้ใช้บริการสาธารณะทางปกครองนั้นจะถูกกำหนดโดยกฎข้อบังคับทั้งหมด  ซึ่งรวมตั้งแต่การกำหนดองค์กร  การจัดองค์กร  และการปฏิบัติงาน  ดังนั้น  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการสาธารณะประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขและไม่เท่าเทียมกัน  ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการของบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีลักษณะเสมอภาคกัน  เพราะถูกกำหนดโดยสัญญาตามกฎหมายเอกชน

3)    บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม

บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม  คือ  บริการสาธารณะที่เป็นการให้บริการทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องการความอิสระคล่องตัวในการทงานโดยไม่มุ่นเน้นการแสวงหากำไร  เช่น  การแสดงนาฏศิลป์  พิพิธภัณฑ์  การกีฬา  การศึกษาวิจัยฯ

 


ข้อ  2  นายแดงเป็นข้าราชการพลเรือน  กระทำความผิดอาญาโดยเจตนา  และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก  5  ปี  ดังนี้  ตาม พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2551  ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  จะดำเนินการทางวินัย  ตลอดจนลงโทษทางวินัยต่อนายแดงได้หรือไม่  อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

มาตรา 85  การกระทำผิดวินัยในลักษณะดังต่อไปนี้  เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

(6)   กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก  โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก  หรือให้รับโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก  เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

มาตรา  97  ภายใต้บังคับวรรคสอง  ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี  ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้  แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก

ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนหรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง  หรือผู้มีอำนาจตามมาตรา  94  เห็นว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  ส่งเรื่องให้  อ.ก.พ. จังหวัด  อ.พ.ก. กรม หรือ  อ.ก.พ. กระทรวงวึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่  แล้วแต่พิจารณา  เมื่อ อ.ก.พ.  ดังกล่าวมีมติเป็นประการใด  ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น  ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน  กระทำความผิดอาญาโดยเจตนา  และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเป็นเวลา  5  ปี  และเมื่อความผิดนั้นมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท  หรือเป็นความผิดลหุโทษ  ดังนั้น  ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2551  มาตรา 85(6)  ถือว่า  นายแดงได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ซึ่งผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  สามารถดำเนินการทางวินัยตลอดจนลงโทษทางวินัยต่อนายแดงฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้ตามมาตรา  97  โดยให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี

ซึ่งการลงโทษทางวินัยต่อนายแดงนั้น  ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  ส่งเรื่องให้  อ.ก.พ. จังหวัด  อ.ก.พ. กรม  หรือ อ.ก.พ. กระทรวง  ซึ่งนายแดงสังกัดอยุ่แล้วแต่กรณี  เมื่อ อ.ก.พ. มีมติเป็นประการใดระหว่างลงโทษปลดออกหรือไล่ออก  ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น  ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.

สรุป  ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  สามารถดำเนินการทางวินัยและลงโทษทางวินัยต่อนายแดงได้  โดยปฏิบัติตามมาตรา  97  ดังกล่าวข้างต้น

 


ข้อ  3  นายดำได้ก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน  อันเป็นการกระทำความผิดตาม  พ.ร.บ.  ควบคุมอาคาร  พ.ศ.2552  เจ้าหน้าที่มาพบเข้าจึงมีคำสั่งให้นายดำรื้อถอนในส่วนที่ต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเสีย  ในกรณีดังกล่าว  หากนายดำฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่จะดำเนินมาตรการบังคับทางปกครองได้หรือไม่  อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  มาตรา  58  บัญญัติว่า

คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ  ถ้าผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม  เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1)  เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการด้วยตนเอง  หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน  โดยผู้อยู่ในบังคับบัญชาของคำสั่งทางปกครอง  จะต้องชดใช้ค่าใช้จ่าย  และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบห้าต่อปีของค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่

(2) ให้มีการชำระค่าปรับทางปกครองตามจำนวนที่สมควรแก่เหตุ  แต่ต้องไม่เกินสองหมื่นบาทต่อวัน

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่เจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งให้นายดำรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่อเติมอาคารที่นายดำได้ทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น  คำสั่งดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นคำสั่งทางปกครองและเป็นคำสั่งที่มีลักษณะให้กระทำการ  เมื่อนายดำซึ่งเป็นผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองนั้นฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตาม  ดังนี้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินมาตรการบังคับทางปกครองแก่นายดำได้ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539  มาตรา  58  กล่าวคือ

(1)  เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการด้วยตนเอง  หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน  โดยนายดำจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่าย  และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบห้าต่อปีของค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ หรือ

(2) ให้นายดำชำระค่าปรับทางปกครองตามจำนวนที่สมควรแก่เหตุ  แต่ต้องไม่เกินสองหมื่นบาทต่อวัน อย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา  58  ดังกล่าว  เจ้าหน้าที่จะต้องมีคำเตือนเป็นหนังสือให้นายดำกระทำการรื้อถอนในส่วนที่ต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำสั่งนั้น  ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสมควรแก่กรณีด้วย  (มาตรา 59 วรรคหนึ่ง)

 


ข้อ  4  สภาองค์การบริหารส่วนตำบลสวนนก  ได้มีมติให้นายเอกพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภา  อบต.ฯ  โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่เสื่อมเสียแก่องค์การบริหารส่วนตำบลฯ  ต่อมานายเอกได้อุทธรณ์มติของสภา  อบต.ฯ ต่อนายอำเภอ  ซึ่งนายอำเภอได้อาศัยอำนาจตาม  พ.ร.บ.  สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ มาตรา  47 ตรี  ซึ่งบัญญัติให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์และให้คำวินิจฉัยของนายอำเภอเป็นที่สุด  ทั้งนี้โดยนายอำเภอได้มีคำวินิจฉัยยืนยันตามมติของสภา  อบต.ฯ  ที่ให้นายเอกพ้นจากตำแหน่ง  และได้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้นายเอกทราบ  โดยมิได้แจ้งสิทธิในการฟ้องคดี  วิธีพิจารณาคดี  และระยะเวลาสำหรับยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ไว้ในคำสั่งเพื่อให้นายเอกทราบแต่อย่างใด  ดังนั้นหากต่อมาอีก  4  เดือน  นายเอกเห็นว่าคำสั่งฯของนายอำเภอที่ให้ตนพ้นจากตำแหน่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงได้มาปรึกษาท่านเพื่อจะฟ้องเพิกถอนคำสั่งฯของนายอำเภอ  เป็นคดีต่อศาลปกครอง  ท่านจะให้คำแนะนำแก่นายเอกในกรณีนี้อย่างไร 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล  พ.ศ. 2537

มาตรา  47  ตรี  วรรคหนึ่ง (8)  บัญญัติหลักไว้ว่า

สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงเมื่อ

(8)   สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง  โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบล  หรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (8) ผู้นั้นอาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไปยังนายอำเภอได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รับทราบมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล  และให้นายอำเภอสอบสวนและวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์หรือโต้แย้ง  คำวินิจฉัยของนายอำเภอให้เป็นที่สุด

และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1)  คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใด

มาตรา  49  การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี

มาตรา  50  คำสั่งใดที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้  ให้ผู้ออกคำสั่งระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งนั้นด้วย

ในกรณีที่ปรากฏต่อผู้ออกคำสั่งใดในภายหลังว่า  ตนมิได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง  ให้ผู้นั้นดำเนินการแจ้งข้อความซึ่งพึงระบุตามวรรคหนึ่งให้ผู้รับคำสั่งทราบโดยไม่ชักช้า

ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่ตามวรรคสองและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปี  ให้ขยายระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องเป็นเวลาหนึ่งปีนับแต่ได้รับคำสั่ง

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดี  ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1)    สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง  หรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมด  หรือบางส่วน  ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  9(1)

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  ประกอบกับหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  เมื่อนายเอกมาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายเอกดังนี้คือ

ประเด็นที่ 1  การที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลสวนนก  ได้มีมติให้นายเอกพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภา  อบต.ฯนั้น  ถือว่าสมาชิกภาพสมาชิกสภา อบต.ฯ  ของนายเอกสิ้นสุดลงตามมาตรา  47 ตรี (8) แห่ง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ  แต่นายเอกอาจอุทธรณ์มติดังกล่าวต่อนายอำเภอได้  และเมื่อนายเอกได้อุทธรณ์มตินั้นไปยังนายอำเภอแล้ว  นายอำเภอได้มีคำวินิจฉัยยืนยันตามมติของสภา  อบต.ฯที่ให้นายเอกพ้นจากตำแหน่ง  ดังนี้  ถือว่าคำวินิจฉัยของนายอำเภอให้เป็นที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีที่ถือว่า  คำวินิจฉัยของนายอำเภอให้เป็นที่สุดนั้น  หมายความว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่อาจอุทธรณ์  หรือโต้แย้งได้ต่อไปในฝ่ายปกครองเท่านั้น  เมื่อนายเอกเห็นว่าคำสั่งทางปกครองดังกล่าว  เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  นายเอกก็สามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง  เพื่อให้ศาลปกครองสั่งให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้นได้ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง(1)  ประกอบกับมาตรา  72(1)

ประเด็นที่ 2  การที่นายเอกจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น  นายเอกไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายใน  90  วัน  นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือของนายอำเภอ  ดังนี้นายเอกยังคงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่  กรณีนี้เห็นว่าเมื่อนายอำเภอได้มีคำวินิจฉัย  และได้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้นายเอกได้ทราบนั้น  นายอำเภอไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา  50  วรรคหนึ่ง  คือ  ไม่ได้แจ้งสิทธิในการฟ้องคดี  วิธีการฟ้องคดี  และระยะเวลาสำหรับยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ในคำสั่งเพื่อให้นายเอกทราบแต่อย่างใด  และไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งใหม่ตามวรรคสอง  ดังนั้นตามมาตรา  50  วรรคสาม  ได้กำหนดให้ขยายระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเป็นเวลา  1  ปี  นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง  จึงมีผลทำให้นายเอกสามารถฟ้องเพิกถอนคำสั่งฯ  ของนายอำเภอ  เป็นคดีต่อศาลปกครองได้  แม้จะเกิน 90  วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งฯ ของนายอำเภอก็ตาม

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายเอกว่า  นายเอกสามารถฟ้องเพิกถอนคำสั่งฯ ของนายอำเภอเป็นคดีต่อศาลปกครองได้  ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

Advertisement