การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3012 กฎหมายปกครอง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 หลักการกระจายอำนาจปกครองหมายถึงอะไร และแตกต่างจากหลักการแบ่งอำนาจปกครองอย่างไร และการกระจายอำนาจปกครองมีกี่ประเภท ขอให้อธิบายอย่างละเอียด
ธงคำตอบ
หลักการกระจายอำนาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง วิธีการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรทางการปกครองอื่นนอกจากองค์กรของราชการบริหารส่วนกลาง เพื่อจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง โดยมีอิสระตามสมควร ซึ่งองค์กรทางการปกครองนั้นไม่ต้องขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของส่วนกลาง เพียงแต่ขึ้นอยู่ในความกำกับดูแลเท่านั้น กล่าวอีกนับหนึ่งก็คือ รัฐ
มอบอำนาจหน้าที่บางอย่างในการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินงานอยู่ในท้องถิ่นหรือองค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในราชการบริหารส่วนกลางรับไปดำเนินการด้วยงบประมาณ และเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นหรือองค์กรนั้นเอง โดยราชการบริหารส่วนกลางเพียงแต่ควบคุมดูแลเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปบังคับบัญชาสั่งการ
ความแตกต่างของหลักการกระจายอำนาจปกครองกับหลักการแบ่งอำนาจปกครอง
การจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคตามหลักการแบ่งอำนาจปกครองนั้น เป็นการจัดระเบียบราชการบริหารตามหลักการรวมอำนาจปกครองมิใช่ตามหลักการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะว่าการมอบอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางในส่วนภูมิภาค เป็นแต่เพียงการมอบอำนาจวินิจฉัยสั่งการบางอย่างจากกระทรวง ทบวง กรม ในส่วนกลางไปให้เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่เป็นหัวหน้าในส่วนภูมิภาคเท่านั้นอำนาจบังคับบัญชาและวินิจฉัยสั่งการขั้นสุดท้ายยังอยู่กับราชการบริหารส่วนกลาง แต่ตามหลักการกระจายอำนาจปกครองเป็นการตัดอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการบางส่วนจากราชการบริหารส่วนกลางไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น ซึ่งมิใช่หน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง เพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินกิจการได้เองโดยตรง ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาสั่งการของราชการบริหารส่วนกลาง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม อันเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ซึ่งราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนทั้งสิ้น แต่เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง แต่เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นเอง
ตามหลักการกระจายอำนาจปกครองนั้น ได้มีการจำแนกวิธีกระจายอำนาจในทางปกครองได้ 2 วิธี คือ
1 วิธีกระจายอำนาจปกครองตามอาณาเขตหรือกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่น
2 วิธีกระจายอำนาจปกครองตามกิจการ
1 การกระจายอำนาจปกครองตามอาณาเขต หรือการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่น
เป็นวิธีการกระจายอำนาจให้แก่ส่วนท้องถิ่น โดยให้ส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาแยกต่างหากจากส่วนกลางและให้มีสภาพเป็นนิติบุคคล แล้วส่วนกลางก็จะมอบอำนาจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นไปดำเนินจัดทำกิจการบริการสาธารณะ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยจะมีการกำหนดขอบเขตหรือพื้นที่ไว้ ซึ่งโดยหลักทั่วไปองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นก็จะไปจัดทำกิจการนอกเขตหรือนอกพื้นที่ที่กำหนดไว้ไม่ได้ นอกจากจะมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้โดยเฉพาะ
วิธีกระจายอำนาจปกครองวิธีนี้เป็นวิธีกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นโดยการมอบบริการสาธารณะหลายๆอย่างให้แก่ท้องถิ่นไปจัดทำโดยเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง และด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ
ตัวอย่างของการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง และสามารถดำเนินการบริการสาธารณะได้โดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาแต่อยู่ภายใต้อำนาจกำกับดูแลของส่วนกลาง
2 การกระจายอำนาจตามกิจการ
เป็นวิธีกระจายอำนาจโดยการที่ส่วนกลางจะมอบบริการสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวให้แก่องค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยมิได้อยู่ในสังกัดของส่วนกลาง ได้แก่ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน รับไปดำเนินงานด้วยเงินทุนและด้วยเจ้าหน้าที่ขององค์การนั้นๆ เช่น การมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถไฟทั่วประเทศให้แก่องค์การของรัฐคือการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น
วิธีกระจายอำนาจตามกิจการนี้ จะแตกต่างกับวิธีกระจายอำนาจตามอาณาเขต เพราะการกระจายอำนาจตามกิจการนี้ ส่วนกลางจะมอบให้องค์การต่างๆ ไปจัดทำบริการสาธารณะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และโดยหลักจะไม่มีการกำหนดอาณาเขตหรือพื้นที่ไว้ แต่การกระจายอำนาจให้แก่ส่วนท้องถิ่นนั้น ส่วนกลางจะมอบอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะหลายๆอย่างให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการ และจะมีการกำหนดอาณาเขตหรือพื้นที่ไว้ด้วย
ข้อ 2 ข้าราชการพลเรือนจะนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องเงินเดือนหรือสวัสดิการเพิ่มเติมจากรัฐบาลจะกระทำได้หรือไม่ ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 92 ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการตะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการมิได้
การละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
อธิบาย
เนื่องจากงานราชการเป็นงานบริการสาธารณะที่จะต้องมีความต่อเนื่อง จะหยุดชะงักเพราะข้าราชการผู้ปฏิบัติงานนัดลาหยุดงานจึงกระทำมิได้ และการเรียกร้องให้ขึ้นเงินเดือนหรือสวัสดิการเพิ่มเติมจากรัฐบาลไม่ถือว่ามีเหตุผลอันสมควร เนื่องจากความเกี่ยวพันระหว่างข้าราชการกับหน่วยงานเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งต่างจากลูกจ้างในภาคเอกชนซึ่งมีความเกี่ยวกันกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานและสามารถนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงหรือสวัสดิการเพิ่มขึ้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ถ้าข้าราชการพลเรือนนัดหยุดงานย่อมมีความผิดทางวินัยตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 92 คือ ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และยังมีความผิดอาญาตาม ป.อ. มาตรา 166 อีกด้วย
สรุป ข้าราชการพลเรือนจะนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องเงินเดือนหรือสวัสดิการเพิ่มเติมจากรัฐบาลไม่ได้
ข้อ 3 ตามกำหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น หากคู่กรณีเห็นว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมต่อตน จะอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง คือ กระบวนการควบคุมตรวจสอบคำสั่งทางปกครองภายในองค์กรฝ่ายปกครอง ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังข้อเท็จจริง การตีความข้อกฎหมาย การปรับบทกฎหมาย หรือการใช้อำนาจดุลพินิจของผู้ออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งองค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์มีอำนาจในการตรวจสอบทั้งความชอบด้วยกฎหมาย และความเหมาะสมในเนื้อหาของการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองผู้ออกคำสั่งนั้น
การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนี้มีลักษณะเป็นระบบการอุทธรณ์ 2 ชั้น กล่าวคือ ในชั้นแรกจะต้องมีการอุทธรณ์ ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งเสียก่อน และถ้าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็สามารถอุทธรณ์ต่อไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชา)
หลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง
ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองมีกำหนดไว้ในมาตรา 44-46 ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1 คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้นยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่ง (ไม่ใช่วันออกคำสั่ง) โดยต้องระบุข้อโต้แย้ง ข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย (มาตรา 44 วรรคแรกและวรรคสอง)
2 ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองพิจารณาคำอุทธรณ์ และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้าแต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (มาตรา 45)
1) ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครอง ตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดงกล่าว (มาตรา 45)
2) ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้รายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 45)
3) ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน โดยถ้ามีเหตุจำเป็นอาจขยายเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
3 ในการพิจารณาอุทธรณ์ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง และอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิม หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปทางใด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือลดภาระหรือใช้ดุลพินิจแทนในเรื่องความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง หรือมีข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรก็ได้ (มาตรา 46)
ข้อ 4 ในการฟ้องคดีปกครองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองไว้อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองมีอยู่ด้วยกัน 6 ประการ คือ
1 คำฟ้องต้องมีเนื้อหาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
2 ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีและมีความสามารถในการฟ้องคดี
3 ก่อนการฟ้องคดี ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้ ผู้มีสิทธิฟ้องคดีจะต้องดำเนินการโต้แย้งคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการของฝ่ายบริหารให้ครบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน จึงจะนำคดีมาฟ้องศาลปกครองได้
4 การฟ้องคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ครบถ้วน
5 คำฟ้องต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี
6 ต้องไม่เป็นการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
คำอธิบาย
1 คำฟ้องต้องมีเนื้อหาครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 45 วรรคแรก บัญญัติว่า
“คำฟ้องให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและต้องมี
(1) ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี
(2) ชื่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
(3) การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
(4) คำขอของผู้ฟ้องคดี
(5) ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี ถ้าเป็นการยื่นฟ้องคดีแทนผู้อื่น จะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย”
การทำคำฟ้องในคดีปกครองนั้นไม่มีแบบฟอร์มกำหนดไว้ตายตัว กฎหมายกำหนดไว้แต่เพียงว่าจะต้องจัดทำคำฟ้องเป็นหนังสือ ซึ่งจะเขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์ก็ได้ แต่จะฟ้องคดีด้วยวาจาหรือฟ้องคดีทางโทรศัพท์ไม่ได้ ในการเขียนคำฟ้องนั้น ต้องใช้ถ้อยคำที่สุภาพ และในคำฟ้องจะต้องมีรายงานครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
2 ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีและมีความสามารถในการฟ้องคดี
(ก) ผู้มีสิทธิฟ้องคดี
หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองใช้ในการพิจารณาในเรื่องนี้นั้น กำหนดไว้ในมาตรา 42 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้” ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองจะใช้ในการพิจารณากว้างกว่าการพิจารณาเฉพาะเรื่อง “สิทธิ” ของผู้นำคดีมาฟ้อง โดยต้องถือเกณฑ์เรื่อง “ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย” เป็นหลักว่า เมื่อใดมีการกระทบกระเทือนต่อประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย ก็ฟ้องคดีได้และระดับของ “ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย” นั้นก็ยืดหยุ่นตามลักษณะของคดีที่จะนำมาฟ้องต่อศาล
(ข) ความสามารถในการฟ้องคดี
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีไว้ให้ชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นที่เข้าใจว่า กฎหมายประสงค์ที่จะให้เป็นไปตามหลักปกติที่มีการใช้กันอยู่คือ ความสามารถในการฟ้องคดีแพ่ง และต้องพิจารณากฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้วสำหรับเรื่องทางปกครอง คือ มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
3 ผู้ฟ้องคดีต้องได้ดำเนินการขอรับการแก้ไขความเดือดร้อนต่อองค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายบริหารครบขั้นตอนตามที่กำหมายได้กำหนดไว้แล้ว จึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ บัญญัติเงื่อนไขข้อนี้ไว้ในมาตรา 42 วรรคสอง ดังนี้
“ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด”
4 คำฟ้องต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ บัญญัติเรื่องกำหนดเวลาในการฟ้องคดีปกครองไว้ในมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 ดังนี้
มาตรา 49 “การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้มีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
มาตรา 51 “การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ไม่กินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี”
มาตรา 52 “การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้”
5 ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ครบถ้วน ถ้าเป็นคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 45 วรรคสี่ บัญญัติว่า
“การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้” (คืออัตราร้อยละ 2.5 ของทุนทรัพย์ แต่ไม่เกินสองแสนบาท)
6 การฟ้องคดีต้องไม่เป็นการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ข้อ 36 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 กำหนดว่า
“นับแต่เวลาที่ได้ยื่นต่อศาลแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งคดีนี้
(1) ห้ามมิให้ผู้ฟ้องยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก”
ข้อ 97 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 กำหนดว่า
“คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน”