การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  การบังคับทางปกครอง  ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  หมายถึงอะไร  มีมาตรการบังคับทางปกครอง  ตลอดจนขอบเขตของการบังคับทางปกครองอย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

การบังคับทางปกครอง  ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  หมายถึงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่โดยใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับประชาชนที่มีภาระผูกพันต้องปฏิบัติการตามหน้าที่  เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครอง  หรือกล่าวอีกนับหนึ่งคือ  กรณีที่เอกชนที่มี

หน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่  แล้วฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม  จึงต้องมีมาตรการบังคับทางปกครองกับเอกชนนั้น

การบังคับทางปกครองมีขอบเขตของการบังคับ  แบ่งเป็น  2  ลักษณะ

การบังคับทางปกครองไม่ใช้กับเจ้าหน้าที่ด้วยกัน  (มาตรา  55)  เพราะเจ้าหน้าที่กระทำการในนามของหน่วยงานของรัฐ  ดังนั้นถ้าจ้าหน้าที่คนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่ง  ก็จะไปใช้การบังคับทางปกครองเข้าไปบังคับเอาเลยไม่ได้

คำสั่งทางปกครองไม่จำเป็นต้องมีการบังคับทางปกครองเสมอไป  เพราะคำสั่งทางปกครองแบ่งได้เป็น  2  ประเภท  คือ

(1) ประเภทที่ไม่ต้องมีการบังคับทางปกครอง  เช่น  คำสั่งทางปกครองที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งได้แก่  การออกคำสั่งอนุญาต  หรือออกหนังสืออนุมัติต่างๆ  เหล่านี้  ย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองอีก

(2) ประเภทที่จำเป็นต้องบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการออกคำสั่งทางปกครอง  เช่น  คำสั่งให้บุคคลชำระเงิน  คำสั่งให้บุคคลกระทำการ  และคำสั่งห้ามไม่ไห้บุคคลกระทำการ  ในกรณีนี้หากผู้รับคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ  ของคำสั่งทางปกครองนั้นๆ  เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองได้โดยแยกพิจารณาดังนี้

1       คำสั่งที่กำหนดให้ชำระเงิน  มาตรการทางปกครองที่นำมาใช้คือ  การยึดการอายัด  และการขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระให้ครบถ้วนตามคำสั่งโดยไม่ต้องไปฟ้องศาลอีก  แต่เจ้าหน้าที่จะต้องมีหนังสือเตือนให้ผู้รับคำสั่งนั้นชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า  7  วัน  (มาตรา  57)

2       คำสั่งที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ  ถ้าผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม  เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  (มาตรา  58)

(1) เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการด้วยตนเอง  หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทนโดยผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ  25  ต่อปี  ของค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่  หรือ

(2) ให้มีการชำระค่าปรับทางปกครองตามจำนวนที่สมควรแก่เหตุ  แต่ต้องไม่เกิน  20,000  บาท  ต่อวัน

ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับเป็นการเร่งด่วน  เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายที่มีโทษในทางอาญา  หรือมิให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ  เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง  โดยไม่ต้องออกคำสั่งทางปกครองให้กระทำหรือละเว้นกระทำก่อนก็ได้  แต่ทั้งนี้ต้องกระทำโดยสมควรแก่เหตุและภายในของเขตอำนาจหน้าที่ของตน

 


ข้อ  2  (ก)  ความผิดวินัยและในบางกรณีความผิดอาญา  เป็นความผิดทางวินัยในขณะเดียวกันได้หรือไม่  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข)  ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ผู้บังคับบัญชาจะมีกระบวนการทางวินัยอย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

(ก)  หลักกฎหมาย  พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535

มาตรา  98  วรรคสอง  การกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก  หรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก  หรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก  เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท  หรือความผิดลหุโทษ  หรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง  เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

อธิบาย

การกระทำผิดวินัย  ตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  นั้น  แตกต่างจาก  การกระทำผิดอาญา  ตามประมวลกฎหมายอาญา  เนื่องจากมีวัตถุประสงค์  หลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติเป็นองค์ประกอบของความผิด  ตลอดจนลักษณะของโทษที่แตกต่างกัน  ซึ่งการกระทำผิดวินัยตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  มาตรา  100  หมายถึง  กรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้  ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัย  จักต้องได้รับโทษทางวินัยเว้นแต่มีเหตุอันควรงดโทษ

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า  การกระทำผิดวินัยของข้าราชการพลเรือนนั้น  อาจจะไม่เป็นการกระทำผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาก็ได้  หากการกระทำนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอาญา

แต่อย่างไรก็ตาม  มีจุดเชื่อมโยงในบางกรณีระหว่างข้าราชการพลเรือนที่กระทำผิดอาญา  อาจถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยด้วยโดยอัตโนมัติก็ได้  เช่น  ตามที่  พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  บัญญัติไว้ใน  มาตรา  98  วรรคสองโดยมีหลักว่า  การกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก  หรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก  หรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก  หรือการกระทำอื่นใดอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง  หากมิได้เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท  หรือความผิดลหุโทษ  เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ต้องได้รับโทษทางวินัยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

(ข)  อธิบาย

ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงนั้น  ในเบื้องต้นผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการสืบสวนเสียก่อนตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  มาตรา  99  วรรคห้า  ซึ่งมีหลักว่า  เมื่อมีการกล่าวหาโดยปรากฏให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่  ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยจึงจะยุติเรื่องได้  ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยก็ให้ดำเนินการทางวินัยทันที

และเมื่อผู้บังคับบัญชาสืบสวนแล้วปรากฏว่า  กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ก็ให้ดำเนินการสอบสวนตามวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร  กล่าวคือ  ผู้บังคับบัญชาจะทำการสอบสวนด้วยตนเอง  หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนก็ได้  ตามมาตรา  102  ที่ว่า  การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ  ซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย  ให้สอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรมโดยไม่ชักช้า

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง  ถ้าเป็นกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ให้ดำเนินการตามวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร

และเมื่อได้ดำเนินการ  ตามมาตรา  102  ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ถ้ายังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย  ก็ให้ยุติเรื่อง  แต่ถ้าฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยก็ให้ดำเนินการสั่งลงโทษ  ภาคทัณฑ์ตัดเงินเดือน  หรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณี  ตามมาตรา  103  ซึ่งมีหลักว่า  ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์  ตัดเงินเดือน  หรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด  ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้  แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย  หรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่มีถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน  ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผู้นั้นจะต้องได้รับโทษสูงกว่าที่ตนมีอำนาจสั่งลงโทษ  ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นที่มีอำนาจเพื่อให้พิจารณาดำเนินการเพื่อลงโทษตามควรแก่กรณี

ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ  จะงดโทษให้โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้

 


ข้อ  3  
นิติกรรมทางปกครอง  และ  ปฏิบัติการทางปกครอง”  คืออะไร  แตกต่างกันอย่างไร  จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคำตอบ

การกระทำทางปกครอง  หมายถึง  ผลิตผลของการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายขององค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง  ซึ่งการกระทำทางปกครองแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1       นิติกรรมทางปกครอง  หมายถึง  การกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง  องค์กรอื่นของรัฐ  หรือองค์กรเอกชนที่กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่นพระราชบัญญัติแทน  และในนามขององค์กรดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่ง  หรือคณะบุคคลคณะหนึ่งว่าตนประสงค์จะให้เกิดผลทางกฎหมายเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างองค์กรดังกล่าวกับบุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้น  โดยที่บุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอม

นิติกรรมทางปกครอง  จะต้องประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญ  4  ประการ  ดังต่อไปนี้  คือ 

(1) จะต้องเป็นการกระทำโดยองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง  องค์กรอื่นของรัฐ  หรือองค์กรเอกชนที่กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่นพระราชบัญญัติแทนและในนามขององค์กรดังกล่าวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง

(2) การแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่งโดยองค์กรดังกล่าว  จะต้องเป็นการแสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น  ดังนั้นจึงไม่รวมถึงการที่องค์กรดังกล่าวประกาศความตั้งใจจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเพียงแต่ขอความร่วมมือหรือเตือนให้บุคคลหรือคณะบุคคลกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด  เช่น  ขอให้งดจำหน่ายสุราในวันธรรมสวนะหรือเตือนให้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาต  เป็นต้น

(3)   ผลทางกฎหมายที่องค์กรดังกล่าวประสงค์จะให้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของตนนั้น  คือการสร้างความสัมพันธ์ทางกฎหมายหรือนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่าย  โดยฝ่ายหนึ่งมีอำนาจหรือมีสิทธิเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่ง  กระทำการงดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด  ซึ่งการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลจึงย่อมมีผลเป็นการก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เป็นคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น  เช่น  การที่ผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งแต่งตั้งหรือเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  หรือการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารออกใบอนุญาตให้บุคคลก่อสร้างอาคาร  ย่อมมีผลเป็นการสร้างสิทธิหรือหน้าที่ให้แก่ผู้ได้รับคำสั่งดังกล่าว

(4) นิติสัมพันธ์ดังกล่าว  ต้องเป็นนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาที่แสดงออกมาขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง  องค์กรอื่นของรัฐ  หรือองค์กรเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว  โดยที่บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ดังกล่าวไม่จำต้องให้ความยินยอมแต่อย่างใด

ซึ่งจากลักษณะที่สำคัญของนิติกรรมทางปกครองดังกล่าว  จึงเห็นได้ว่านอตอกรรมทางปกครองย่อมเป็นนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวเสมอ

2       ปฏิบัติการทางปกครอง  หมายถึง  การกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง  องค์กรอื่นของรัฐ  หรือองค์กรเอกชนที่กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเช่น  พระราชบัญญัติแทนและในนามขององค์กรดังกล่าวโดยที่การกระทำนั้นไม่ใช่  นิติกรรมทางปกครอง”  กล่าวคือ  การกระทำนั้นขาดลักษณะหนึ่งลักษณะใดของ  นิติกรรมทางปกครอง  ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ปฏิบัติทางปกครอง  อาจเป็นการกระทำในกระบวนการพิจารณาเพื่อออกนิติกรรมทางปกครองขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง  เช่น  การที่คณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรงแจ้งข้อกล่าวหาให้ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาทราบและให้โอกาสข้าราชการผู้นั้นในการแก้ข้อกล่าวหา  หรืออาจเป็นการกระทำที่เป็น  มาตรการบังคับทางปกครอง  เพื่อให้การเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติกรรมทางปกครองที่ได้มีการออกมาใช้บังคับก่อนหน้านั้นแล้ว  เช่น  การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเข้าดำเนินการรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมาย  หลังจากที่ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้ว  แต่เจ้าของอาคารไม่ยอมปฏิบัติตาม

ปฏิบัติการทางปกครอง  อาจก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง  ฯลฯ  กับบุคคลอื่นได้เช่นกัน  เช่น  ปฏิบัติการทางปกครอง  ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้บุคคลใดเสียหาย  ย่อมเป็นการกระทำละเมิด  ซึ่งองค์กรของรัฐฝ่ายปกครองที่กระทำการนั้น จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย  ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่องค์กรของรัฐฝ่ายปกครองต้องรับผิดนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาขององค์กรดังกล่าว  แต่เป็นผลบังคับของกฎหมาย

 


ข้อ  4  เทศบาลตำบลคลองยาว  ได้ทำการซ่อมแซมถนนในเขตเทศบาล  แต่ไม่ได้ทำเครื่องหมายเตือนในเขตที่ทำการซ่อมแซม  เป็นเหตุให้นายแดงขับรถยนต์โดยลืมเปิดไฟหน้ารถชนกองวัสดุก่อสร้างที่ทำการซ่อมแซมนั้น  ได้รับบาดเจ็บสาหัสเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน  1  แสนบาท  นายแดงจึงได้มีหนังสือแจ้งให้เทศบาลฯ  รับผิดในค่ารักษาพยาบาลแก่ตน  ซึ่งเทศบาลฯ  ได้มีหนังสือแจ้งแก่นายแดงโดยปฏิเสธในความรับผิดชอบนี้  และให้เหตุผลว่าเกิดจากความประมาทของนายแดงเอง  เพราะหากนายแดงได้เปิดไฟหน้ารถ  ก็คงทำให้เห็นกองวัสดุก่อสร้าง  และจำไม่เกิดอุบัติเหตุนี้  แต่นายแดงเห็นว่าแม้ตนจะประมาทอยู่บ้าง  แต่เทศบาลฯ มีหน้าที่ในการที่จะต้องทำเครื่องหมายเตือนในกรณีนี้แต่ได้ละเลย  ไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  ดังนั้นจึงประสงค์จะฟ้องเทศบาลฯเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้เทศบาลฯ  รับผิดโดยชดใช้ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน  1  แสนบาทที่ตนได้จ่ายไป  ดังนี้  ให้ท่านวินิฉัยว่า  ศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับฟ้องคดีของนายแดงไว้พิจารณาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามพระราชบัญญัติเทศบาล  พ.ศ. 2496

มาตรา  50  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย  เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้

(2) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ  รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรอมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(3)  คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  หรือจากกฎ  คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น  หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดี  ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับ  อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(3) สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ  โดยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่นๆ  ไว้ด้วยก็ได้  ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

วินิจฉัย

เทศบาลฯ  มีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ  รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ  ตามมาตรา  50(2) แห่ง  พ.ร.บ.  เทศบาล  พ.ศ.2496

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับฟ้องคดีของนายแดงที่ฟ้องเทศบาลตำบลคลองยาวให้รับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการละเลยไม่ทำเครื่องหมายเตือนในเขตที่ทำการซ่อมแซมถนนอันเป็นเหตุให้ตนได้รับบาดเจ็บสาหัสไว้พิจารณาได้หรือไม่  เห็นว่า

คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครองที่ศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาตามมาตรา  9  วรรคแรก (3)  นั้น  ต้องเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดโดยใช้อำนาจหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติเท่านั้น  หากเป็นการละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้ว  ย่อมไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครอง  ศาลปกครองย่อมไม่มีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณา  กรณีนี้พิจารณาแล้วเห็นว่า  การที่เทศบาลฯผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ทำเครื่องหมายหรือให้สัญญาณเตือนในบริเวณที่มีการปรับปรุงซ่อมแซมถนน  จนเป็นเหตุให้นายแดงได้รับบาดเจ็บสาหัส  มิใช่เป็นการละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและมิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ  คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวช้าเกินสมควร  เป็นเพียงการละเลยต่อหน้าที่ทั่วๆไปตามปกติของเทศบาลฯ  ซึ่งไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีในภาวการณ์เท่านั้น  กรณีจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครอง  ตามนัยมาตรา  9  วรรคแรก (3)  แห่ง  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  ศาลปกครองย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เทศบาลชดใช้ค่ารักษาพยาบาล  ตามมาตรา  72(3)  ดังนั้นศาลปกครองชอบที่จะไม่รับคำฟ้องของนายแดงไว้พิจารณา  (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่  604/2545)

สรุป  ศาลปกครองชอบที่จะไม่รับคำฟ้องของนายแดงไว้พิจารณา  เพราะมิใช่การกระทำละเมิดทางปกครอง  ตามนัยมาตรา  9  วรรคแรก (3)  แห่ง  พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

หมายเหตุ  ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่า  เทศบาลฯทำท่อระบายน้ำหรือทางระบายน้ำ  โดยไม่ได้จัดทำตะแกรงหรือฝาปิดวางบนบ่อรองรับเพื่อป้องกันไม่ให้คนหรือสิ่งของตกลงไปในท่อระบายน้ำ  ไม่ได้จัดทำที่ปิดกั้น  ไม่ได้จัดให้มีสัญญาณ  ไม่ได้จัดให้มีแสงไฟให้สว่างเพียงพอในบริเวณดังกล่าว  เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีตกลงไปในบ่อได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือความเสียหายต่างๆ  กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า  เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองหรือการบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว  จึงเป็นคดีละเมิดทางปกครอง  ตามนัยมาตรา  9  วรรคแรก  (3)  ที่ศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้  (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่  800/2551  คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่  10/2548)  จึงขอให้น้องๆพิจารณาถึงความแตกต่างดังกล่าวไว้ด้วยครับ

Advertisement