การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3012 กฎหมายปกครอง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 นั้น เมื่อปรากฏว่ามีข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการสอบสวนด้วยตนเองได้หรือไม่ อย่างไร และในการลงโทษข้าราชการพลเรือนที่ปรากฏว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้พิจารณากำหนดโทษที่จะลงกับผู้ใต้บังคับบัญชาดังกล่าวด้วยตนเองได้หรือไม่อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง อาทิเช่น การปฏิบัติหรือ
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิอบ หรือเปิดเผยความลับของทางราชการ ฯลฯ ในเบื้องต้นผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการสืบสวนเสียก่อนตามหลักการในมาตรา 99 วรรคห้า ที่ว่า “เมื่อมีการกล่าวหาโดยปรากฏตัวผู้กล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัย โดยยังไม่มีพยานหลักฐาน ให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยจึงจะยุติเรื่องได้ ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยก็ให้ดำเนินการทางวินัยทันที
สำหรับการดำเนินการทางวินัยเมื่อปรากฏว่ามีข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 102 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 นั้น กำหนดว่าผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการสอบสวนด้วยตนเองไม่ได้ ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาต่างหาก และในการสอบสวนนี้ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ เมื่อดำเนินการแล้วถ้าฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก็ให้ดำเนินการตามมาตรา 104 กล่าวคือ ในการลงโทษข้าราชการพลเรือนที่ปรากฏว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้พิจารณากำหนดโทษที่จะลงกับผู้กระทำผิดด้วยตนเองไม่ได้ แต่ต้องส่งสำนวนที่กรรมการสอบสวนได้สอบสวนแล้วไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อกพ.) ในระดับลดหลั่นกันออกไป ขึ้นอยู่กับระดับตำแหน่งของข้าราชการที่กระทำผิดนั้น และเมื่อ อกพ. มีมติให้ลงโทษสถานใด (ระหว่างปลดออกกับไล่ออกแต่ห้ามลงโทษต่ำกว่าปลดออก) ก็ให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษตามนั้น
ข้อ 2 “การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง” หมายถึงอะไร และตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ไว้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง คือ กระบวนการควบคุมตรวจสอบคำสั่งทางปกครองภายในองค์กรฝ่ายปกครอง ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังข้อเท็จจริง การตีความข้อกฎหมาย การปรับบทกฎหมาย หรือการใช้อำนาจดุลพินิจของผู้ออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งองค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์มีอำนาจในการตรวจสอบทั้งความชอบด้วยกฎหมาย และความเหมาะสมในเนื้อหาของการใช้อำนาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองผู้ออกคำสั่งนั้น
การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนี้มีลักษณะเป็นระบบการอุทธรณ์ 2 ชั้น กล่าวคือ ในชั้นแรกจะต้องมีการอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งเสียก่อน และถ้าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็สามารถอุทธรณ์ต่อไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชา)
หลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง
ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองมีกำหนดไว้ในมาตรา 44 – 48 ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1 คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้นยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่ง (ไม่ใช่วันออกคำสั่ง) โดยต้องระบุข้อโต้แย้ง ข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย (มาตรา 44 วรรคแรก และวรรคสอง)
2 ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองพิจารณาคำอุทธรณ์ และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (มาตรา 45)
1) ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครอง ตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 45)
2) ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้รายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 45)
3) ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน โดยถ้ามีเหตุจำเป็นอาจขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
3 ในการพิจารณาอุทธรณ์ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง และอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิม หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปทางใด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือลดภาระหรือใช้ดุลพินิจแทนในเรื่องความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง หรือมีข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรก็ได้ (มาตรา 46)
ข้อ 3 “หน่วยงานทางปกครอง” และ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่อาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ได้แก่หน่วยงานใดและบุคคลใดบ้าง จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
1 หน่วยงานทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ให้คำนิยามของ “หน่วยงานทางปกครอง” ไว้ในมาตรา 3 ดังนี้
“หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง
จากคำนิยามดังกล่าวข้างต้น อาจแยก “หน่วยงานทางปกครอง” ออกได้เป็น 6 กรณี ดังนี้
(1) ราชการส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นละมีฐานะเป็นกรม เช่น สำนักงาน ก.พ.ฯลฯ
(2) ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งได้แก่ จังหวัด ส่วนอำเภอนั้นไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจึง.
(3) ราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
(4) รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 เช่น องค์การคลังสินค้า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แต่ไม่หมายความรวมถึงรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นในรูปของบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัด เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่งทางบก จำกัด และไม่หมายความรวมถึงรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้น โดยมติคณะรัฐมนตรี หรือระเบียบข้อบังคับของส่วนราชการที่ไม่มีความเป็นนิติบุคคล เช่น โรงงานยาสูบ ฯลฯ
(5) หน่วยงานของรัฐอย่างอื่นนอกจากหน่วยงานของรัฐตาม (1) – (4) ข้างต้น ซึ่งได้แก่หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการและมิใช่รัฐวิสาหกิจซึ่งอาจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติเฉพาะ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือองค์กรมหาชน ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ฯลฯ
(6) หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง เช่น แพทยสภา สภาทนายความ คุรุสภา สภาสถาปนิก และหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง เช่น เนติบัณฑิตยสภา ฯลฯ
2 เจ้าหน้าที่ของรัฐ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ได้ให้คำนิยามของ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไว้ในมาตรา 3 ดังนี้
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า
(1) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง
(2) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล และ
(3) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม (1) หรือ (2)
จากคำนิยามดังกล่าวข้างต้น อาจแยก “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ออกได้เป็นกรณีดังนี้
(1) ข้าราชการของส่วนราชการที่เป็น “หน่วยงานทางปกครอง” เช่น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู ข้าราชการตำรวจ ฯลฯ
(2) พนักงานของ “หน่วยงานทางปกครอง” ซึ่งอาจจะเป็นพนักงานราชการของส่วนราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานของรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา
(3) ลูกจ้างของ “หน่วยงานทางปกครอง” ซึ่งอาจจะเป็นลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา
(4) คณะบุคคลใน “หน่วยงานทางปกครอง” เช่น สภามหาวิทยาลัยของรัฐ สภาท้องถิ่น
(5) ผู้ที่ปฏิบัติงานใน “หน่วยงานทางปกครอง” ซึ่งได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ใน “หน่วยงานทางปกครอง” เช่น อธิบดี คณบดี ผู้อำนวยการองค์การมหาชนฯ
(6) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ซึ่งมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คำนิยามไว้ ดังนี้
“คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท” หมายความว่า คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่มีการจัดองค์กรและวิธีพิจารณาสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
จากคำนิยามดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ได้กำหนดคุณลักษณะของ “คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท” เอาไว้ 2 ประการ คือ
(ก) เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนั้น คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐในตรี คำสั่งของรัฐมนตรีหรือระเบียบข้อบังคับ จึงไม่อยู่ในความหมายของ “คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท” ตามพระราชบัญญัตินี้ และ
(ข) เป็นคณะกรรมการที่มีการจัดองค์กรและวิธีพิจารณาสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ข้อ 4 เทศบาลตำบลห้วยใส ได้อนุมัติให้รื้อสะพานไม้ข้ามคลองในเขตเทศบาลฯ เนื่องจากประชาชนบริเวณนี้ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้ และรถเก็บขยะเทศบาลฯ ก็เข้าไปเก็บขยะไม่ได้เช่นกัน เทศบาลฯจึงอนุมัติให้มีการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นมาแทนโดยมีความยาว 60 เมตร เพื่อแก้ปัญหาเมื่อสร้างได้ 40 เมตร ก่อนจะถึงที่ดินของนายเอก เทศบาลฯเหยุดการก่อสร้างเนื่องจากมีกรณีโต้แย้งกับเจ้าของที่ดินบางรายเกี่ยวกับแนวเขตสาธารณะประโยชน์ ต่อมาเทศบาลฯ ได้อนุมัติให้ดำเนินการสร้างส่วนที่เหลืออีก 20 เมตร เป็นสะพานไม้เช่นเดิม นายเอกเห็นว่าการสร้างสะพานไม้ไม่สามารถแก้ปัญหาข้างต้นได้ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งปัญหาสืบเนื่องมาจากเทศบาลฯ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยไม่ตรวจสอบแนวเขตที่ถูกต้องก่อนทำการก่อสร้าง ดังนั้น นายเอกจึงประสงค์ที่จะฟ้องเทศบาลฯ เป็นคดีต่อศาลปกครองโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้เทศบาลฯ ดำเนินการตรวจสอบแนวเขตสาธารณะประโยชน์ให้ถูกต้อง และขอให้เทศบาลฯ ก่อสร้างสะพานส่วนที่เหลือเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับฟ้องกรณีของนายเอกไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
มาตรา 50 “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้
(2) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ”
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
มาตรา 9 “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร”
วินิจฉัย
ประเด็นที่ 1 การกกล่าวอ้างของนายเอกว่าเทศบาลฯ ไม่ดำเนินการตรวจสอบแนวเขตทางสาธารณประโยชน์เป็นข้อหาที่ฟ้องว่าเทศบาลฯ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคแรก (2) พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่ศาลปกครองมีอำนาจรับฟ้องกรณีนี้ไว้พิจารณาได้
ประเด็นที่ 2 พ.ร.บ. เทศบาล มาตรา 50 (2) “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายเทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้ ฯลฯ …….(2) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ…..” หน้าที่ดังกล่าวต้องมีการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เหตุที่เทศบาลฯ ไม่สามารถสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กต่อไปได้ เพราะมีปัญหาเรื่องแนวเขตฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อประชาชนส่วนหนึ่งที่เทศบาลฯ ต้องดำเนินการแก้ไข
การอนุมัติสร้างสะพานไม้ส่วนที่เหลือในกรณีนี้ของเทศบาลฯ เป็นการตัดสินใจหรือปฏิบัติการภายในของเทศบาลฯ มิใช่เรื่องที่มีผลในทางกฎหมายออกไปสู่ภายนอกอันก่อให้เกิดการกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของนายเอกหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ดังนั้นการที่เทศบาลฯ เลือกที่จะสร้างสะพานไม้ในส่วน 20 เมตร ที่เหลือจึงมิใช่การออกกฎคำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำอื่นใดตามมาตรา 9 วรรคแรก (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครอง การที่นายเอกประสงค์จะฟ้องเทศบาลฯ ในกรณีนี้เป็นลักษณะของการเรียกร้องหรือเป็นความต้องการของนายเอกโดยเสนอแนวทางและการแก้ไขปัญหาให้เทศบาลฯ ได้พิจารณาเท่านั้น
กรณีไม่มีลักษณะเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคแรก (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ศาลปกครองจึงรับข้อพิพาทในกรณีนี้ไว้พิจารณาไม่ได้ (เทียบคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 264/2546)
สรุป นายเอกฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งให้เทศบาลดำเนินการตรวจสอบแนวเขตให้ถูกต้องได้ แต่จะฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งให้เทศบาลก่อสร้างสะพานส่วนที่เหลือเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ได้