การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง (คาบ 1) 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4 ข้อ

ข้อ  1  นางสาวสุชาดา  รักชาติ  รับราชการตำแหน่งนักวิชาการแรงงาน  ระดับ  8  กรมการจัดหางานกระทรวงแรงงาน  ต่อมาอธิบดีกรมการจัดหางานมีคำสั่งไล่นางสาวสุชาดาออกจากราชการ  เนื่องจากกระทำการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  นางสาวสุชาดาจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ  ก.พ.  และ  ก.พ.  ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมการจัดหางานชอบแล้ว  แต่นางสาวสุชาดาเห็นว่าจนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งดังกล่าว  จึงมาปรึกษาท่านว่าจะฟ้องอธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมการจัดหางานที่ไล่ตนออกจากราชการต่อศาลปกครองได้หรือไม่  อย่างไร

 ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

มาตรา  3  ในพระราชบัญญัตินี้

เจ้าหน้าที่รัฐ  หมายความว่า

 (1) ข้าราชการ  พนักงาน  ลูกจ้าง  คณะบุคคล  หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง

(2) คระกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท  คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ  คำสั่ง  หรือมติใดๆที่มีผลกระทบต่อบุคคล  และ

(3) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชา  หรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม  (1)  หรือ  (2)

มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  หรือโดยไม่สุจริต  หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร  หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

มาตรา  42  วรรคสอง  ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอน  และวิธีการดังกล่าว  และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น  หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร  หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด

ตาม  พ.ร.บ.  ข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535

มาตรา  124  ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้  ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

วินิจฉัย

เมื่อพิจารณาคู่พิพาท  ได้แก่  นางสาวสุชาดา  รักชาติ  ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน  สังกัดกรมการจัดหางาน  จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำนิยามในมาตรา  3  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ.  2542   กับอธิบดีกรมการจัดหางาน  ซึ่งเป็นผู้บริหารในกรมการจัดหางาน  จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ตามมาตรา  3  แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน  ส่วนประเด็นพิพาทนั้นเกิดจากการที่ นางสาวสุชาดา  เห็นว่า  อธิบดีกรมการจัดหางานมีคำสั่งไล่นางสาวสุชาดาออกจากราชการโดยไม่เป็นธรรม  ทำให้นางสาวสุชาดาได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากคำสั่งดังกล่าว  กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่  เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  9  วรรคหนึ่ง (1)  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  ประกอบกับนางสาวสุชาดา  ได้แก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายตามมาตรา  42  วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติข้างต้น  คือ  ได้อุทธรณ์ต่อ  ก.พ.  ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  กำหนดไว้  ดังนั้น  นางสาวสุชาดา  จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองได้

 


ข้อ  2  ก.  
กากระทำผิดวินัย  ตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  หมายถึงอะไร  และโทษทางวินัยมีอย่างไรบ้าง

ข.      ในกรณีที่ข้าราชกาพลเรือน  ถูกกล่าวหาว่ากระทำวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ผู้บังคับบัญชาจะมีกระบวนการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นตลอดจนลงโทษได้อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ก  การกระทำผิดวินัย  ตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  มาตรา  100  บัญญัติเอาไว้ว่า  หมายถึง  กรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้  ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัย  จักต้องได้รับโทษทางวินัย  เว้นแต่มีเหตุอันควรงดโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวด  5

โทษทางวินัยมี  5  สถาน  คือ

(1) ภาคทัณฑ์

(2) ตัดเงินเดือน

(3) ลดขั้นเงินเดือน

(4) ปลดออก

(5) ไล่ออก

ข  ผู้บังคับบัญชาต้องทำการสืบสวนในเบื้องต้นก่อน (ตามมาตรา  99  วรรค  5)  และถ้าเห็นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยให้สอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรมโดยไม่ชักช้า  (มาตรา  102)  และถ้าปรากฏว่าข้าราชการพลเรือนผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  103  คือ  ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์  ตัดเงินเดือน  หรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด  ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อน  จะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้

 


ข้อ  3  
คำสั่งทางปกครอง  ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  หมายถึงอะไร  และในกรณีที่คู่กรณีผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่เห็นว่าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือโดยใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมจะทำการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้หรือไม่  อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

คำสั่งทางปกครอง  นั้นมีการบัญญัตินิยามไว้ในมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  ดังนี้

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัย  อุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่ไหมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กำหนดในกระทรวง

ในกรณีที่คู่กรณีที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่เห็นว่าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย  หรือโดยดุลพินิจไม่เหมาะสม  ย่อมอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1       คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี  และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ  ให้คู่กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้นยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในกำหนด  15  วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่ง  (ไม่ใช่วันออกคำสั่ง)  โดยต้องระบุข้อโต้แย้ง  ข้อเท็จจริง  หรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย  (มาตรา  44  วรรคแรก  และวรรคสอง)

2       ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองพิจารณาคำอุทธรณ์  และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า  แต่ต้องไม่เกิน  30  วัน  นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์  (มาตรา  45)

1)    ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครอง  ตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  (มาตรา  45)

2)    ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้รายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  (มาตรา  45)

3)    ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา  30  วัน  นับแต่วันที่ได้รับรายงาน  โดยถ้ามีเหตุจำเป็นอาจขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกิน  30  วัน  นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว

3       ในการพิจารณาอุทธรณ์ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองได้  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง  ข้อกฎหมาย  หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง  และอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิม  หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปทางใด  ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือลดภาระหรือใช้ดุลพินิจแทนในเรื่องความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง  หรือมีข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรก็ได้  (มาตรา  46)

4       การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง  เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง  ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว  (มาตรา  44  วรรคท้าย)

 


ข้อ  4  นายมานะ  ได้รับบาดเจ็บจากการใช้สะพานลอยข้ามถนนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่  เนื่องจากตรงจุดขึ้นลงสะพานลอยดังกล่าวอันเป็นจุดห้ามขายหรือจำหน่ายสินค้า  มีพ่อค้าแม่ค้าตั้งวางหาบเร่แผงลอยเป็นจำนวนมาก  ทำให้เหลือทางเดินแคบมากจนเป็นเหตุให้นายมานะก้าวพลาดได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าหักต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา  10  วัน  ซึ่งนายมานะเห็นว่าการที่พ่อค้าแม่ค้าตั้งวางหาบเร่แผงลอยในจุดดังกล่าวซึ่งเป็นจุดห้ามขายนั้น  เนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่ของเทศบาลฯตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติซึ่งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างกวดขันและเคร่งครัดตามกฎหมาย  นายมานะจึงมาปรึกษาท่านเพื่อจะฟ้องเทศบาลฯ  เป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลฯ  มีคำสั่งให้เทศบาลฯ  ยกเลิกหรือห้ามการตั้งวางหาบเร่แผงลอยขายสินค้ากีดขวางทางในจุดดังกล่าว  รวมทั้งขอให้เทศบาลฯ  ชดใช้ค่าเสียหายในการบาดเจ็บซึ่งต้องรักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงินสองหมื่นบาทให้แก่ตนด้วย  ดังนี้ท่านจะให้คำปรึกษาแก่นายมานะในกรณีดังกล่าวนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา  หรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละลเยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด  หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

มาตรา  42  ผู้ใดได้รับความเดือนร้อนเสียหาย  จากการกระทำ  หรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดีปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด  ดังต่อไปนี้

(2) สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด

(3) สั่งให้ใช้เงิน

วินิจฉัย

กรณีดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเทศบาลฯ  ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ(ตาม พ.ร.บ.  จัดตั้ง

ศาลปกครองฯ มาตรา  9(2))  เพราะจุดขึ้นลงสะพานลอยที่เกิดเหตุดังกล่าว  เป็นจุดที่ห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือจำหน่ายสินค้า  และกรณีมิใช่จุดที่ทางเทศบาลฯประกาศกำหนดให้เป็นจุดผ่อนผัน  ดังนั้นการที่มีผู้นำหาบเร่แผงลอยมาตั้งจึงเป็นการลักลอบกระทำ  โดยที่ทางเทศบาลมิได้อนุญาตหรือผ่อนผันให้ดำเนินการขายหรือจำหน่ายสินค้า

นายมานะจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย  เนื่องมาจากการละเลยหรืองดเว้นกระทำการของเทศบาลฯ (ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา  42)

ดังนั้นนายมานะจึงไม่อาจฟ้องเทศบาลฯ  เป็นคดีต่อศาลปกครอง  เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้เทศบาลฯ ยกเลิก  การตั้งหาบเร่แผงลอยในจุดดังกล่าว  (ตามมาตรา  72 (2))  และไม่อาจฟ้องเทศบาลฯ เป็นคดีต่อศาลปกครองเรียกค่าเสียหายจากการบาดเจ็บได้  (ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา 9(3)  มาตรา  72 (3))

Advertisement