การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. (ก) นายแดงถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าหน้าที่จึงมีคําสั่งอายัดทรัพย์สินชั่วคราวของนายแดง 2 รายการ คือ เงินฝากในบัญชี 2 บัญชี เนื่องจากเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 22 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 19 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทํา ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) นายก้อนทํางานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งถูกสั่งลงโทษไล่ออกเพราะกระทําการทุจริต ต่อมากระทรวงสาธารณสุขเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ นายก้อนจะมา สมัครเป็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยก หลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้ “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฏ”

วินิจฉัย

กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองโดยนัยของมาตรา 5 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทาง ปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เจ้าหน้าที่มีคําสั่งอายัดทรัพย์สินชั่วคราวของนายแดง 2 รายการ คือ เงินฝากในบัญชี 2 บัญชี เนื่องจากเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย คือตามมาตรา 22 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 19 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานภาพ แห่งสิทธิและหน้าที่ของนายแดง ดังนั้น คําสั่งดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งทางปกครองตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

(ข) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 36 ข. (8) “ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ข. ลักษณะต้องห้าม

(8) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ของรัฐ”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายก้อนเคยทํางานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งและ ถูกสั่งลงโทษไล่ออกเพราะกระทําการทุจริตนั้น ย่อมถือว่านายก้อนมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (8) คือ เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น เมื่อต่อมากระทรวงสาธารณสุขเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ นายก้อนจึงจะมาสมัครเป็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้

สรุป

(ก) คําสั่งของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครอง

(ข) นายก้อนจะมาสมัครเป็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้

 

 

ข้อ 2. รัฐวิสาหกิจ คืออะไร มีกี่ประเภท จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

“รัฐวิสาหกิจ” คือ นิติบุคคลที่รัฐได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับกับการกระจายอํานาจทางบริการและ เป็นการบริการสาธารณะทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และนิติบุคคลที่รับเอาการบริการสาธารณะด้าน อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมไปทําเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประปา เป็นต้น

ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ได้บัญญัติให้คํานิยามของ รัฐวิสาหกิจไว้ว่า “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า

(ก) องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(ค) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ก) และ/ หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(ง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ค) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(จ) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ง) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) และ/หรือ (ค) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

การแบ่งประเภทตามที่มาทางกฎหมาย

ถ้าแบ่งประเภทของรัฐวิสาหกิจตามที่มาทางกฎหมาย อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายมหาชน ซึ่งยังแยกออกเป็น 2 ประเภทย่อยคือ

(ก) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติเฉพาะหรือกฎหมายที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีระดับเดียวกับพระราชบัญญัติ (พระราชกําหนด ประกาศของคณะปฏิวัติ) เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐวิสาหกิจประเภทนี้จะได้รับมอบหมายให้มีอํานาจมหาชนในการดําเนินการใด ๆ ต่อทรัพย์สินหรือสิทธิของบุคคล เช่น เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ วางท่อ ปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของเอกชน

(ข) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วย การจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2495 เช่น องค์การคลังสินค้า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

2 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเอกชน ซึ่งยังแยกออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ

(ก) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น บริษัท ขนส่ง จํากัด (บ.ข.ส.)

(ข) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 เช่น บริษัท การบินไทย จํากัด

3 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นในส่วนราชการโดยมติคณะรัฐมนตรีและไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เช่น โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต

 

 

ข้อ 3. “นิติกรรมทางปกครอง” และ “ปฏิบัติการทางปกครอง” คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

“นิติกรรมทางปกครอง” หมายถึง การกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่น ของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่น พระราชบัญญัติแทน และในนามขององค์กรดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลคณะหนึ่งว่าตนประสงค์จะให้เกิดผลทางกฎหมายเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างองค์กร ดังกล่าวกับบุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้น โดยที่บุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้นไม่จําเป็นต้องให้ความยินยอม

“นิติกรรมทางปกครอง” จะต้องประกอบด้วยลักษณะที่สําคัญ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

(1) จะต้องเป็นการกระทําโดยองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่นพระราชบัญญัติแทนและในนาม ขององค์กรดังกล่าวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง

(2) การแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่งโดยองค์กร ดังกล่าว จะต้องเป็นการแสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่รวมถึงการที่ องค์กรดังกล่าวประกาศความตั้งใจว่าจะกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเพียงแต่ขอความร่วมมือหรือเตือนให้บุคคล หรือคณะบุคคลกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ขอให้งดจําหน่ายสุราในวันธรรมสวนะ หรือเตือนให้ยื่นคําขอต่อใบอนุญาต เป็นต้น

(3) ผลทางกฎหมายที่องค์กรดังกล่าวประสงค์จะให้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของตนนั้น คือการสร้างความสัมพันธ์ทางกฎหมายหรือนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมีอํานาจหรือมีสิทธิ เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่ง กระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลจึงย่อมมีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของบุคคลที่เป็นคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เช่น การที่ผู้บังคับบัญชาออกคําสั่งแต่งตั้งหรือเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารออกใบอนุญาต ให้บุคคลก่อสร้างอาคาร ย่อมมีผลเป็นการสร้างสิทธิหรือหน้าที่ให้แก่ผู้ได้รับคําสั่งดังกล่าว

(4) นิติสัมพันธ์ดังกล่าว ต้องเป็นนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาที่แสดงออกมาขององค์กร ของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กรเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็น คู่กรณีในนิติสัมพันธ์ดังกล่าวไม่จําต้องให้ความยินยอมแต่อย่างใด

ซึ่งจากลักษณะที่สําคัญของนิติกรรมทางปกครองดังกล่าว จึงเห็นได้ว่านิติกรรมทางปกครอง ย่อมเป็นนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวเสมอ

“ปฏิบัติการทางปกครอง” หมายถึง การกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่น ของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเช่น พระราชบัญญัติแทนและในนามขององค์กรดังกล่าวโดยที่การกระทํานั้นไม่ใช่ “นิติกรรมทางปกครอง” กล่าวคือ การกระทํานั้นขาดลักษณะหนึ่งลักษณะใดของ “นิติกรรมทางปกครอง” ดังกล่าวแล้วข้างต้น

“ปฏิบัติการทางปกครอง” อาจเป็นการกระทําในกระบวนการพิจารณาเพื่อออกนิติกรรม ทางปกครองขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง เช่น การที่คณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแจ้งข้อกล่าวหา ให้ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาทราบและให้โอกาสข้าราชการผู้นั้นในการแก้ข้อกล่าวหา หรืออาจเป็นการกระทําที่เป็น “มาตรการบังคับทางปกครอง” เพื่อให้การเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติกรรมทางปกครองที่ได้มีการออกมาใช้ บังคับก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเข้าดําเนินการรื้อถอน อาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมาย หลังจากที่ได้ออกคําสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้ว แต่ เจ้าของอาคารไม่ยอมปฏิบัติตาม

“ปฏิบัติการทางปกครอง” อาจก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง ฯลฯ กับบุคคลอื่นได้เช่นกัน เช่น “ปฏิบัติการทางปกครอง” ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้บุคคลใดเสียหาย ย่อม เป็นการกระทําละเมิด ซึ่งองค์กรของรัฐฝ่ายปกครองที่กระทําการนั้น จําต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ผู้เสียหาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่องค์กรของรัฐฝ่ายปกครองต้องรับผิดนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาขององค์กร ดังกล่าว แต่เป็นผลบังคับของกฎหมาย

 

 

ข้อ 4. เทศบาลฯ ประกาศรับสมัครสอบแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฯ วุฒิปริญญาตรีให้ดํารงตําแหน่งสูงขึ้น ทั้งนี้จะต้องได้รับเกียรตินิยมและไม่เป็นผู้ถูกคําสั่งให้รับผิดอย่างใดต่อเทศบาลฯ วันรุ่งขึ้นนายกเทศมนตรีฯ ได้มีคําสั่งให้นายแดงเจ้าหน้าที่ฯ ชดใช้เงิน 10,000 บาทแก่เทศบาลฯ เพราะจงใจกระทําการ ละเมิดการเบิกจ่ายเงิน นายแดงเห็นว่าการกําหนดคุณสมบัติดังกล่าวและคําสั่งให้ใช้เป็นการกีดกัน กลั่นแกล้งตนซึ่งจบปริญญาตรีโดยไม่ได้เกียรตินิยม จึงได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ว่าประกาศฯ และคําสั่ง ให้ชดใช้เงินไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งนี้เอกสารหลักฐานและรายละเอียดต่าง ๆ จะยืนมาในภายหลัง สามวันต่อมานายแดงได้มีหนังสือขอเพิ่มเติมอุทธรณ์เดิมที่ได้ยื่นโดยระบุขอให้ถือเอาข้อความที่โต้แย้ง ข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและพยานหลักฐานในคําฟ้องที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเป็นเนื้อหา ของการอุทธรณ์ หลังจากครบกําหนดอุทธรณ์วันรุ่งขึ้นนายแดงได้ฟ้องเพิกถอนประกาศรับสมัคร สอบแข่งขันฯ และคําสั่ง ๆ ของนายกเทศมนตรีฯ เป็นคดีต่อศาลปกครอง ดังนี้หากท่านเป็น ศาลปกครองจะมีคําสั่งรับฟ้องของนายแดงไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมาย ประกอบคําตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”

มาตรา 44 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองใด ไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณี อุทธรณ์คําสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้ง คําสั่งดังกล่าว

คําอุทธรณ์ต้องทําเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิง ประกอบด้วย”

และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฏ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดเนื่องจากการกระทําโดยไม่มีอํานาจหรือ นอกเหนืออํานาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็น สาระสําคัญที่กําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้น”

มาตรา 42 วรรคสอง “ในกรณีที่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนหรือวิธีการสําหรับการแก้ไข ความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทําได้ต่อเมื่อมีการ ดําเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลา อันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกําหนด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงเห็นว่าประกาศรับสมัครสอบแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฯ วุฒิปริญญาตรี เห้ดํารงตําแหน่งสูงขึ้นของเทศบาลฯ และคําสั่งให้ชดใช้เงินของนายกเทศมนตรีฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่น หนังสืออุทธรณ์ว่าประกาศฯ และคําสั่งให้ชดใช้เงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยในหนังสืออุทธรณ์นั้นนายแดง ไม่ได้ระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย โดยระบุแต่เพียงว่าเอกสารหลักฐานและ รายละเอียดต่าง ๆ จะยื่นมาในภายหลังนั้น คําอุทธรณ์ดังกล่าวของนายแดงจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 44 วรรคสอง และให้ถือว่าไม่มีการอุทธรณ์ประกาศฯ และคําสั่งฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น หลังจากครบกําหนดอุทธรณ์การที่นายแดงได้ฟ้องเพิกถอนประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ และคําสั่งฯ ของนายกเทศมนตรีฯ เป็นคดีต่อศาลปกครอง ศาลปกครองจะมีคําสั่งรับฟ้องของนายแดงไว้พิจารณาหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 กรณีของคําสั่งให้ชดใช้เงินแก่เทศบาลฯ ถือเป็น “คําสั่งทางปกครอง” ตามนัยของ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการฯ เมื่อนายแดงเห็นว่าคําสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ และจะฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลเพิกถอนคําสั่งดังกล่าว นายแดง จะต้องอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองนั้นก่อนฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้ง ศาลปกครองฯ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนังสืออุทธรณ์คําสั่งทางปกครองของนายแดงไม่ชอบด้วยกฎหมายและ ถือว่ายังมิได้มีการอุทธรณ์คําสั่งนั้นแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนายแดงฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีดังกล่าว ศาลปกครองจะไม่รับฟ้องไว้พิจารณา

2 กรณีของประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ของเทศบาล การที่ประกาศรับสมัครสอบ แข่งขันฯ ได้กําหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสอบว่าจะต้องจบปริญญาตรีและต้องได้รับเกียรตินิยมและไม่เป็นผู้ถูกคําสั่ง ให้รับผิดอย่างใดต่อเทศบาลฯ นั้น มิได้เจาะจงใช้บังคับกับผู้สมัครสอบคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ ประกาศฯ ดังกล่าว จึงถือเป็น “คําสั่งทางปกครองทั่วไป” และจะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 42 วรรคสอง ที่จะต้องอุทธรณ์ก่อน แต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายแดงได้ฟ้องให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศฯ ดังกล่าวโดยมิได้อุทธรณ์ก่อน ศาลปกครอง จึงสามารถรับฟ้องของนายแดงกรณีนี้ไว้พิจารณาได้

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลปกครองจะมีคําสั่งรับฟ้องของนายแดงไว้พิจารณาเฉพาะกรณีที่เป็น การฟ้องเพิกถอนประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ เท่านั้น ส่วนการฟ้องเพื่อเพิกถอนคําสั่งให้ชดใช้เงินแก่เทศบาลฯ จะไม่รับฟ้องไว้พิจารณา

Advertisement