การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. ก) เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้อนุมัติให้ทุนการศึกษาแก่นายแดงเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโทในต่างประเทศ โดยกําหนดให้นายแดงต้องมีหน้าที่รายงานผลการศึกษาทุก 6 เดือน แต่นายแดงผู้รับทุนไม่ปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าตนติดธุระส่วนตัว ทําให้ไม่ได้รายงานผล การศึกษามาภายในเวลาที่กําหนด ดังนี้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะมีคําสั่งเพิกถอนทุนการศึกษาของนายแดงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ข) นายเขียวเป็นข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ถูกผู้บังคับบัญชามีคําสั่งย้ายให้ไปปฏิบัติราชการประจําสถานทูตไทย ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่เป็นการลดระดับตําแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม นายเขียวเห็นว่าตนเองประสงค์จะไปรับราชการประจํา ณ ประเทศฝรั่งเศสมานานแล้ว แต่ ไม่มีโอกาส ดังนั้นจึงตกลงยอมรับตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชา ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่ง ของผู้บังคับบัญชาที่สั่งย้ายนายเขียวดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบาย

ธงคําตอบ

ก) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”

มาตรา 53 วรรคสอง “คําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ ผู้รับคําสั่งทางปกครอง อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอนหรือมีผลในอนาคต ไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กําหนดได้เฉพาะเมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้

(2) คําสั่งทางปกครองนั้นมีข้อกําหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติ แต่ไม่มีการปฏิบัติ ภายในเวลาที่กําหนด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้อนุมัติให้ทุนการศึกษา แก่นายแดงเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโทในต่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครองและเป็นคําสั่งทางปกครอง ที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคําสั่งทางปกครองที่มีข้อกําหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติ คือ นายแดงต้องมี หน้าที่รายงานผลการศึกษาทุก 6 เดือน ดังนั้นเมื่อนายแดงผู้รับประโยชน์ไม่ปฏิบัติตาม คือไม่ได้รายงานผล การศึกษาภายในเวลาที่กําหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าหน้าที่จึงสามารถมีคําสั่งเพิกถอนทุนการศึกษาของ นายแดงได้ตามมาตรา 53 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

สรุป

เจ้าหน้าที่จะมีคําสั่งเพิกถอนทุนการศึกษาของนายแดงได้

 

ข) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 63 วรรคสาม “การย้ายหรือการโอนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดํารง ตําแหน่งในระดับที่ต่ำกว่าเดิมจะกระทํามิได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการที่ผู้บังคับบัญชามีคําสั่งย้ายนายเขียวซึ่งเป็น ข้าราชการพลเรือนสามัญให้ไปปฏิบัติราชการประจําสถานทูตไทย ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีการลดระดับตําแหน่ง ของนายเขียวที่ต่ํากว่าเดิม ซึ่งโดยหลักแล้วจะกระทํามิได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเขียวได้ตกลงยินยอมและ ยอมรับตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยไม่โต้แย้งเพราะตนเองก็มีความประสงค์ที่จะไปรับราชการประจํา ณ ประเทศ ฝรั่งเศสมานานแล้ว ดังนั้น คําสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งย้ายนายเขียวดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 63 วรรคสาม

สรุป

คําสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งย้ายนายเขียวดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2551

 

 

ข้อ 2. การจัดองค์กรของรัฐทางปกครองโดยใช้หลักการกระจายอํานาจทางบริการคืออะไร องค์กรที่ได้รับการกระจายอํานาจทางบริการมีรูปแบบใดบ้าง จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

การจัดองค์กรของรัฐทางปกครองโดยใช้หลักการกระจายอํานาจทางปกครองจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การกระจายอํานาจทางเขตแดนหรือทางพื้นที่ กับการกระจายอํานาจทางบริการหรือทางเทคนิค

สําหรับ “การกระจายอํานาจทางบริการ” หรือทางเทคนิค คือการที่รัฐมอบบริการสาธารณะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น เรื่องของการไฟฟ้า การประปา การโทรศัพท์ เป็นต้น หรือบริการสาธารณะเฉพาะด้าน ได้แก่ บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็น บริการสาธารณะที่เป็นการให้บริการโดยไม่มีการมุ่งเน้นหากําไร เช่น เรื่องของกีฬา การศึกษาวิจัย หรือการแสดง นาฏศิลป์ เป็นต้น ให้แก่องค์กรนิติบุคคลมหาชนที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น ซึ่งมิได้อยู่ในระบบราชการเป็นผู้จัดทําและ ดําเนินการแทนรัฐ โดยให้องค์กรเหล่านั้นมีอิสระในการดําเนินงานได้เอง รัฐเพียงแต่กํากับดูแลการดําเนินงาน ขององค์กรนิติบุคคลนั้น

องค์กรที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดทําและดําเนินการบริการสาธารณะแทนรัฐดังกล่าว ได้แก่ องค์กร นิติบุคคลมหาชนที่จัดตั้งขึ้นในรูปของ “รัฐวิสาหกิจ” หรือ” องค์การมหาชน” นั่นเอง ซึ่งจะกําหนดขึ้นในรูปแบบ ใดนั้นขึ้นอยู่กับกิจการ วัตถุประสงค์และการบริหารงาน โดย

1 ถ้าเป็นการกระจายอํานาจให้จัดทําบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม องค์กรนิติบุคคลมหาชนที่จัดตั้งขึ้นควรเป็นในรูปของรัฐวิสาหกิจ

2 ถ้าเป็นการกระจายอํานาจให้จัดทําบริการสาธารณะเฉพาะด้าน (บริการสาธารณะ ทางสังคมและวัฒนธรรม) นิติบุคคลมหาชนที่จัดตั้งขึ้นควรเป็นในรูปขององค์การมหาชน

 

 

ข้อ 3. “นิติกรรมทางปกครอง” คืออะไร มีลักษณะสําคัญอย่างไรบ้าง จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

“นิติกรรมทางปกครอง” หมายถึง การกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่น ของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่น พระราชบัญญัติแทน และในนามขององค์กรดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลคณะหนึ่งว่าตนประสงค์จะให้เกิดผลทางกฎหมายเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างองค์กร ดังกล่าวกับบุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้น โดยที่บุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้นไม่จําเป็นต้องให้ความยินยอม

“นิติกรรมทางปกครอง” จะต้องประกอบด้วยลักษณะที่สําคัญ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1 จะต้องเป็นการกระทําโดยองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กร เอกชนที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่นพระราชบัญญัติแทน และ ในนามขององค์กรดังกล่าวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง

2 การแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่งโดยองค์กรดังกล่าว จะต้องเป็นการแสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น

3 ผลทางกฎหมายที่องค์กรดังกล่าวประสงค์จะให้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของตนนั้น คือการสร้างความสัมพันธ์ทางกฎหมายหรือนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมีอํานาจหรือมีสิทธิ เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่ง กระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล จึงย่อมมีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ที่เป็นคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น

4 นิติสัมพันธ์ดังกล่าว ต้องเป็นนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาที่แสดงออกมาขององค์กร ของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กรเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็น คู่กรณีในนิติสัมพันธ์ดังกล่าวไม่จําต้องให้ความยินยอมแต่อย่างใด

นิติกรรมทางปกครอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กฎ และคําสั่งทางปกครอง

1 นิติกรรมทางปกครองที่เป็น “กฎ”

คําว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติ ท้องถิ่น ระเบียบข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด หรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

2 นิติกรรมทางปกครองที่เป็น “คําสั่งทางปกครอง” คําว่า “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้น ระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย การอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

 

 

ข้อ 4. เทศบาลเมืองปากช่องได้มีประกาศประกวดราคาซื้อรถขนขยะ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท เอก จํากัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดและชนะการประมูล ส่วนบริษัท โท จํากัด ซึ่งมีนายรวยสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปากช่องเป็นผู้จัดการและผู้ถือหุ้นเป็น บริษัทที่ได้เสนอราคารองลงมา ต่อมาบริษัท ตรี จํากัด ซึ่งเข้าร่วมในการเสนอราคายื่นซองประกวด ราคาฯ ในครั้งนี้ด้วย เห็นว่าประกาศประกวดราคาฯ ของเทศบาลฯ ได้กําหนดคุณสมบัติและเงื่อนไข รถขนขยะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด และเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท เอก จํากัด ที่ชนะ การประมูล จึงประสงค์ที่จะฟ้องเพิกถอนประกาศประกวดราคาซื้อรถขนขยะของเทศบาลฯ เป็นคดี ต่อศาลปกครอง ดังนี้ ท่านจะแนะนําบริษัทตรีฯ ในกรณีนี้อย่างไร และบริษัท ตรี จํากัด ยังได้ยื่นเรื่อง ร้องเรียนต่อนายกเทศมนตรีฯ ว่าจากการเข้าร่วมการประมูลของบริษัท โท จํากัด ทําให้สมาชิกภาพ สมาชิกสภาเทศบาลของนายรวยสิ้นสุดลง ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของบริษัท ตรี จํากัด

ในกรณีนี้สามารถรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบโดยชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้ “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฏ”

มาตรา 44 “ ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองเป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองนั้น โดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว…”

ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 “ศาล ปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดเนื่องจากการกระทําโดยไม่มีอํานาจหรือ นอกเหนืออํานาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็น สาระสําคัญที่กําหนดไว้สําหรับการกระทํานั้น”

มาตรา 42 “ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมีอาจ หลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอํานาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไข หรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคําบังคับตามที่กําหนดในมาตรา 72 ผู้นั้น มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ในกรณีที่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนหรือวิธีการสําหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย ในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทําได้ต่อเมื่อมีการดําเนินการตามขั้นตอนและ วิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลา ที่กฎหมายนั้นกําหนด”

มาตรา 72 “ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอํานาจกําหนดคําบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคําสั่ง หรือสั่งห้ามการกระทําทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มี การฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 (1)”

และตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496

มาตรา 18 ทวิ “สมาชิกสภาเทศบาลต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทําให้แก่เทศบาล หรือที่เทศบาลนั้นจะกระทํา”

มาตรา 19 “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงเมื่อ 1 (6) กระทําการอันต้องห้ามตามมาตรา 18 ทวิ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ บริษัท ตรี จํากัด จะฟ้องเพิกถอนประกาศประกวดราคาซื้อรถขนขยะของ เทศบาลเมืองปากช่องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้หรือไม่ และการเข้าร่วมการประมูลของบริษัท โท จํากัด จะทําให้ สมาชิกภาพสมาชิกสภาเทศบาลของนายรวยสิ้นสุดลงหรือไม่ แยกพิจารณาได้ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่เทศบาลเมืองปากช่องได้มีประกาศประกวดราคาซื้อรถขนขยะนั้น ประกาศ ประกวดราคาฯ ดังกล่าว เป็นการใช้อํานาจทางปกครองของหน่วยงานทางปกครอง และแม้ประกวดราคาฯ ดังกล่าว จะมีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยมิได้เจาะจงตัวบุคคลก็ตาม แต่ก็มุ่งหมายให้ใช้บังคับเฉพาะแก่กรณีหนึ่งกรณีใด เป็นการเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ ใช้บังคับกับการประกวดราคาซื้อรถขนขยะเฉพาะครั้งนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ประกาศประกวดราคาฯ ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นคําสั่งทางปกครองประเภท “คําสั่งทางปกครองทั่วไป”

การที่บริษัท ตรี จํากัด เห็นว่าประกาศประกวดราคาฯ ของเทศบาลฯ ได้กําหนดคุณสมบัติและ เงื่อนไขรถขนขยะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด และเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท เอก จํากัด ที่ชนะการประมูล ทําให้ประกาศประกวดราคาฯ ดังกล่าว เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือว่าบริษัท ตรี จํากัด เป็นผู้ที่ได้รับ ความเดือดร้อนและเสียหายตามนัยของมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครอง ดังนั้นบริษัท ตรี จํากัด จึงสามารถฟ้องเทศบาลฯ เป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคําสั่งทางปกครองทั่วไป คือ ประกาศประกวดราคาซื้อรถขนขยะของเทศบาลฯ ได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 72 (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ

และเมื่อประกาศประกวดราคาฯ ดังกล่าว มีลักษณะเป็นคําสั่งทางปกครองประเภทคําสั่ง ทางปกครองทั่วไป กรณีจึงไม่ต้องอุทธรณ์ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ก่อนฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง

ประเด็นที่ 2 การที่บริษัท โท จํากัด ซึ่งมีนายรวยสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปากช่องเป็นผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นได้เข้าร่วมในการเสนอราคายื่นซองประกวดราคาฯ ในครั้งนี้ด้วยนั้น เมื่อไม่ได้เป็นผู้เสนอราคาที่ชนะ การประมูลเพื่อเข้าทําสัญญากับเทศบาลฯ แต่อย่างใด กรณีนี้จึงยังไม่ถือว่านายรวยเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทําให้แก่เทศบาลหรือที่เทศบาลจะกระทําตาม มาตรา 18 ทวิ อันจะทําให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลต้องสิ้นสุดลงตามนัยมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496

สรุป

บริษัท ตรี จํากัด สามารถฟ้องเพิกถอนประกาศประกวดราคาฯ ซื้อรถขนขยะของเทศบาล เมืองปากช่องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้

การเข้าร่วมการประมูลของบริษัท โท จํากัด ไม่ทําให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาเทศบาลของนายรวย สิ้นสุดลง

Advertisement