การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012 กฎหมายปกครอง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (ข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย  ตลอดจนการลงโทษทางวินัยอย่างไร  เมื่อข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง

ธงคำตอบ

ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงนั้น  ในเบื้องต้นผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการสืบสวนเสียก่อนตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535  มาตรา  99  วรรคห้า  ซึ่งมีหลักว่า  เมื่อมีการกล่าวหาโดยปรากฏให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนหรือ

พิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่  ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยจึงจะยุติเรื่องได้  ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยก็ให้ดำเนินการทางวินัยทันที

และเมื่อผู้บังคับบัญชาสืบสวนแล้วปรากฏว่า  กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ก็ให้ดำเนินการสอบสวนตามวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร  กล่าวคือ  ผู้บังคับบัญชาจะทำการสอบสวนด้วยตนเอง  หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนก็ได้  ตามมาตรา  102  ที่ว่า  การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ  ซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย  ให้สอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรมโดยไม่ชักช้า

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง  ถ้าเป็นกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ให้ดำเนินการตามวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร

และเมื่อได้ดำเนินการ  ตามมาตรา  102  ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ถ้ายังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย  ก็ให้ยุติเรื่อง  แต่ถ้าฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยก็ให้ดำเนินการสั่งลงโทษ  ภาคทัณฑ์ตัดเงินเดือน  หรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณี  ตามมาตรา  103  ซึ่งมีหลักว่า  ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์  ตัดเงินเดือน  หรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด  ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้  แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย  หรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่มีถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน  ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผู้นั้นจะต้องได้รับโทษสูงกว่าที่ตนมีอำนาจสั่งลงโทษ  ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นที่มีอำนาจเพื่อให้พิจารณาดำเนินการเพื่อลงโทษตามควรแก่กรณี

ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ  จะงดโทษให้โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้

 


ข้อ  2  
คำสั่งทางปกครอง  ตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  หมายถึงอะไรและในการออกคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ต้องระบุเหตุผลเสมอไปหรือไม่  อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ตาม  พ.ร.บ.  วิธีพิจารณาราชการทางปกครอง  พ.ศ.  2539  มาตรา  5  คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่า

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัย  อุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่ไหมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กำหนดในกระทรวง

คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องมีรายการตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา  36  กล่าวคือ  อย่างน้อยต้องระบุ

1       วัน  เดือน  และปีที่ทำคำสั่ง

2       ชื่อ  และตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง  และ

3       มีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้น

และตามมาตรา  37  วรรคแรก  ได้บัญญัติหลักไว้ว่า  คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย  แต่อย่างไรก็ตามคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสืออาจไม่จำต้องระบุเหตุผลของคำสั่งดังกล่าวเสมอไปก็ได้  ถ้าเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  37 วรรคสาม  ซึ่งบัญญัติว่า

บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) เป็นกรณีที่มีผลตรงตามคำขอและไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่น

(2) เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก

(3) เป็นกรณีที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับตามมาตรา  32 

(4) เป็นการออกคำสั่งทางปกครองด้วยวาจาหรือเป็นกรณีเร่งด่วนแต่ต้องให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาอันควรหากผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งนั้นร้องขอ

 


ข้อ  3  เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองมีอะไรบ้าง  จงอธิบายมาตามที่ได้ศึกษามา

ธงคำตอบ 

เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองมีอยู่ด้วยกัน  6  ประการ  คือ

1       คำฟ้องต้องมีเนื้อหาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

2       ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีและมีความสามารถในการฟ้องคดี

3       ก่อนการฟ้องคดี  ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้  ผู้มีสิทธิฟ้องคดีจะต้องดำเนินการโต้แย้งคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการของฝ่ายบริหารให้ครบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน  จึงจะนำคดีมาฟ้องศาลปกครองได้

4       การฟ้องคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล  ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ครบถ้วน

5       คำฟ้องต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี

6       ต้องไม่เป็นการฟ้องซ้อน  ฟ้องซ้ำ  หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

คำอธิบาย

1       คำฟ้องต้องมีเนื้อหาครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  45  วรรคแรก  บัญญัติว่า

คำฟ้องให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและต้องมี

(1) ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี

(2) ชื่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี

(3) การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี  พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว

(4) คำขอของผู้ฟ้องคดี

(5) ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี  ถ้าเป็นการยื่นฟ้องคดีแทนผู้อื่น  จะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย

การทำคำฟ้องในคดีปกครองนั้นไม่มีแบบฟอร์มกำหนดไว้ตายตัว  กฎหมายกำหนดไว้แต่เพียงว่าจะต้องจัดทำคำฟ้องเป็นหนังสือ  ซึ่งจะเขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์ก็ได้  แต่จะฟ้องคดีด้วยวาจาหรือฟ้องคดีทางโทรศัพท์ไม่ได้  ในการเขียนคำฟ้องนั้น  ต้องใช้ถ้อยคำที่สุภาพ  และในคำฟ้องจะต้องมีรายงานครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้

2       ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีและมีความสามารถในการฟ้องคดี

(ก)   ผู้มีสิทธิฟ้องคดี

หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองใช้ในการพิจารณาในเรื่องนี้นั้น  กำหนดไว้ในมาตรา  42  วรรคแรก  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  ซึ่งบัญญัติว่า  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้  ซึ่งจะเห็นได้ว่า  หลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองจะใช้ในการพิจารณากว้างกว่าการพิจารณาเฉพาะเรื่อง  สิทธิ  ของผู้นำคดีมาฟ้อง  โดยต้องถือเกณฑ์เรื่อง  ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย  เป็นหลักว่า  เมื่อใดมีการกระทบกระเทือนต่อประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย  ก็ฟ้องคดีได้และระดับของ  ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย  นั้นก็ยืดหยุ่นตามลักษณะของคดีที่จะนำมาฟ้องต่อศาล

(ข)  ความสามารถในการฟ้องคดี

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  มิได้มีบทบัญญัติเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีไว้ให้ชัดเจน  ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นที่เข้าใจว่า  กฎหมายประสงค์ที่จะให้เป็นไปตามหลักปกติที่มีการใช้กันอยู่คือ  ความสามารถในการฟ้องคดีแพ่ง  และต้องพิจารณากฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้วสำหรับเรื่องทางปกครอง  คือ  มาตรา  22  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539

3       ผู้ฟ้องคดีต้องได้ดำเนินการขอรับการแก้ไขความเดือดร้อนต่อองค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายบริหารครบขั้นตอนตามที่กำหมายได้กำหนดไว้แล้ว  จึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  บัญญัติเงื่อนไขข้อนี้ไว้ในมาตรา  42  วรรคสอง  ดังนี้

ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ  การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว  และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น  หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด

4       คำฟ้องต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  บัญญัติเรื่องกำหนดเวลาในการฟ้องคดีปกครองไว้ในมาตรา  49  มาตรา  51  และมาตรา  52  ดังนี้

มาตรา  49  การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี  หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี  เว้นแต่จะได้มีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  51  การฟ้องคดีตามมาตรา  9  วรรคหนึ่ง (3)  หรือ  (4)  ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี  นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ไม่กินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

มาตรา  52  การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว  ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ  ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้

5       ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ครบถ้วน  ถ้าเป็นคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  45  วรรคสี่  บัญญัติว่า

การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล  เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา  9 วรรคหนึ่ง  (3)  หรือ  (4)  ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง  1  ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้  (คืออัตราร้อยละ  2.5  ของทุนทรัพย์  แต่ไม่เกินสองแสนบาท)

6       การฟ้องคดีต้องไม่เป็นการฟ้องซ้อน  ฟ้องซ้ำ  หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ข้อ  36  วรรคหนึ่ง  แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2543  กำหนดว่า

นับแต่เวลาที่ได้ยื่นต่อศาลแล้ว  คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา  และผลแห่งคดีนี้

(1) ห้ามมิให้ผู้ฟ้องยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก

ข้อ  97  แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2543  กำหนดว่า

คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว  ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

 


ข้อ  4  เทศบาลเมืองพัทลุงอาศัยอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด  ได้กำหนดจุดสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนในเขตเทศบาลฯ และได้นำป้ายประกาศมาปักไว้หน้าโรงเรียนพัทลุง  โดยแจ้งให้ทราบว่าเทศบาลได้กำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนหน้าโรงเรียนพัทลุง  และจะทำการก่อสร้างสะพานลอยตรงจุดที่กำหนดนั้น  เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากบริเวณนี้มีอุบัติเหตุรถชนนักเรียนหลายครั้งในเวลาเลิกเรียน  นายสมยศเจ้าของร้านอาหาร  
ยศเลิศรส  ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากแนวบันไดขึ้นลงสะพานจะพาดผ่านและบดบังหน้าร้านของตน  ทำให้การเข้าออกไม่สะดวกและแสงแดดไม่สามารถผ่านเข้ามาในร้านได้ตามปกติ  นอกจากนั้นยังอาจทำให้ตนขาดรายได้จากการค้าขายเพราะจะทำให้ลูกค้ามารับประทานอาหารน้อยลง  ดังนั้นนายสมยศจึงมาปรึกษาท่านเพื่อจะฟ้องเทศบาลพัทลุงเป็นคดีต่อศาลปกครอง  ดังนี้ท่านจะให้คำปรึกษาแก่นายสมยศในกรณีนี้อย่างไร 

ธงคำตอบ

พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ  2542

มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด  เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจ  หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน  หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น  หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร  หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

มาตรา  42  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย  จากการกระทำ  หรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดี  ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง  หรือสั่งห้ามกระทำทั้งหมด  หรือบางส่วน  ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  9 (1)

วินิจฉัย

การโต้แย้งการกำหนดจุดสร้างสะพานลอยของเทศบาลฯ  ถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทำอื่นใดโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบตามมาตรา  9  วรรคแรก (1)  (เทียบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่  144/2545)

นายสมยศซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย  ตามมาตรา  42  สามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง  เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามกระทำทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา  72(1)  ได้

Advertisement