การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 โจทก์ฟ้องจําเลยว่าโจทก์และจําเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง เลขที่ 1234 จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ต้องการแบ่งแยกโฉนดที่ดินกับจําเลยแต่จําเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลพิพากษา ให้มีการแบ่งแยกโฉนด จําเลยยื่นคําให้การว่าเดิมที่ดินเป็นมรดกของบิดาโจทก์และจําเลย เมื่อบิดา เสียชีวิตจึงตกเป็นมรดกของโจทก์และจําเลย ต่อมาโจทก์ได้มาขอเงินกับจําเลย จําเลยจึงให้เงินโจทก์ไป โดยจําเลยขอให้โจทก์ยกที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีสิทธิ มาขอแบ่งที่ดินแก่จําเลย ให้วินิจฉัยว่า ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้คืออะไร ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(1) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป

(2) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือ

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่ง ปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตน ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 “ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และ กําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

การที่โจทก์ฟ้องจําเลยว่าโจทก์และจําเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง เลขที่ 1234 จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ต้องการแบ่งแยกโฉนดที่ดินกับจําเลยแต่จําเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลพิพากษา ให้มีการแบ่งแยกโฉนด และจําเลยยื่นคําให้การว่าเดิมที่ดินเป็นมรดกของบิดาโจทก์และจําเลย เมื่อบิดาเสียชีวิต จึงตกเป็นมรดกของโจทก์และจําเลย ต่อมาโจทก์ได้มาขอเงินกับจําเลย จําเลยจึงให้เงินโจทก์ไปโดยจําเลยขอให้ โจทก์ยกที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่งที่ดินแปลงนี้

จากคําฟ้องและคําให้การของจําเลย โดยโจทก์ฟ้องขอให้จําเลยแบ่งแยกที่ดินเนื่องจากที่ดิน เป็นกรรมสิทธิ์รวม แต่จําเลยต่อสู้ในคําให้การว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจําเลยปฏิเสธ โดยชัดแจ้งในประเด็นนี้ จึงเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างแต่อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ คําคู่ความ ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นว่า “ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลยหรือไม่” ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 มาตรา 177 และมาตรา 183

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่คู่ความพิพาทกันว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลย หรือไม่ เมื่อทรัพย์สินที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์จําพวกที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนย่อมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และ ในกรณีนี้บุคคลที่มีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินพิพาทคือโจทก์และจําเลยจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าที่ดินแปลงนี้โจทก์ และจําเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น เมื่อจําเลยอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย จําเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจําเลยหรือไม่ และจําเลยมีภาระการพิสูจน์ตามที่กล่าวอ้าง

 

ข้อ 2 พนักงานสอบสวนจับนายดําได้จึงสอบสวนนายดําในการกระทําความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครอง และสอบสวนเพิ่มเติมว่า นายดําไปซื้อมาจากที่ใด แต่นายดําไม่ยอมพูด พนักงานสอบสวนจึงได้กล่าวแก่นายดําว่าหากนายดํายอมบอกจะกันตัวไว้เป็นพยานไม่ฟ้องคดีนายดํา นายดําจึงบอกว่าซื้อมาจากนายแดง จึงได้มีการดําเนินการจับนายแดง พร้อมยาบ้า 1 หมื่นเม็ด และยื่นฟ้องนายแดงเป็นจําเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย ในชั้นศาล พนักงานอัยการโจทก์ได้อ้างนายดําผู้ที่ถูกกันตัวเป็นพยานมาเป็นพยานบุคคลในคดี และอ้างยาบ้า จํานวน 1 หมื่นเม็ดเป็นพยานวัตถุในคดี – ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะสามารถรับฟังคําเบิกความของนายดํา และยาบ้า 1 หมื่นเม็ด เป็นพยาน ในคดีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิด หรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่า ด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 226/1 “ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ ต่อการอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวง แห่งคดี…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่พนักงานสอบสวนจับนายดําได้จึงสอบสวนนายดําในการกระทําความผิดฐานมี เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครอง และสอบสวนเพิ่มเติมว่านายดําไปซื้อมาจากที่ใด แต่นายดําไม่ยอมพูด พนักงานสอบสวนจึงได้กล่าวแก่นายดําว่าหากนายดํายอมบอกจะกันตัวไว้เป็นพยานไม่ฟ้องคดีนายดํา นายดําจึง บอกว่าซื้อมาจากนายแดง จึงได้มีการดําเนินการจับนายแดงพร้อมยาบ้า 1 หมื่นเม็ดนั้น จะเห็นได้ว่าคําพูดของ นายดําดังกล่าวได้เกิดขึ้นจากการจูงใจและการให้คํามั่นสัญญาจากพนักงานสอบสวนว่าจะกันตัวไว้เป็นพยาน และไม่ฟ้องคดีนายดํา จึงถือว่านายดําเป็นพยานบุคคลชนิดที่เกิดจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา พนักงานอัยการโจทก์ จึงไม่สามารถอ้างนายดําผู้ที่ถูกกันตัวเป็นพยานมาเป็นพยานในคดีนี้ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 เพราะถือว่าเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ดังนั้น ศาลจึงไม่สามารถรับฟังคําเบิกความของนายดําได้

2 เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า 1 หมื่นเม็ดที่พนักงานสอบสวนเข้าจับกุมตรวจค้นจนได้มานั้น ถือว่าเป็นพยานวัตถุและเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการที่ตํารวจได้จับกุมนายแดง และยึดเมทแอมเฟตามีนได้นั้นเกิดขึ้นจากการที่พนักงานสอบสวนอาศัยข้อมูลจากการที่นายดําพูด ซึ่งคําพูดของ นายดําเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือได้ว่าเมทแอมเฟตามีนที่พนักงานอัยการโจทก์ ได้นํามาเป็นพยานต่อศาลนั้น แม้จะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจาก การกระทําหรือวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ดังนั้น จึงห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว เว้นแต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจรับฟังได้ถ้าศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ แก่การอํานวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1

สรุป

ศาลไม่สามารถรับฟังคําเบิกความของนายดําได้ เพราะเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ

ศาลไม่สามารถรับฟังยาบ้า 1 หมื่นเม็ดเป็นพยานในคดีได้ เพราะเป็นพยานวัตถุที่ได้มา โดยวิธีการที่ไม่ชอบ เว้นแต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจรับฟังได้ถ้าศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การอํานวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสีย

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 1,000,000 บาท แล้วผิดนัดชําระหนี้ขอให้จําเลยคืนเงินดังกล่าว จําเลยยื่นคําให้การว่าสัญญากู้นั้น จริง ๆ แล้วมีการกู้ยืมเงินกันเพียง 100,000 บาท และได้มีการทํา สัญญาไว้ตอนต้น 100,000 บาท แต่โจทก์ได้เขียนตัวเลขเพิ่มเข้าไปโดยเติมเลข 0 เพิ่มลงในสัญญา อีกทั้งหนี้เงิน 100,000 บาทนั้น จําเลยชําระเงินคืนแล้วโดยมีสําเนาใบเสร็จรับเงินมายืนยัน โจทก์ ได้โต้แย้งว่าใบเสร็จดังกล่าวเป็นแต่เพียงสําเนารับฟังไม่ได้

3.1 ให้ท่านวินิจฉัยว่า หากจําเลยอ้างนายเอก (พยานบุคคล) มาสืบว่าเห็นโจทก์เติมตัวเลขลงในเอกสารสัญญากู้ ศาลจะสามารถรับฟังได้หรือไม่

3.2 สําเนาใบเสร็จรับเงิน ศาลสามารถรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

(4) เมื่อคู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านการนําเอกสารนั้นมาสืบตามมาตรา 125 ให้ศาลรับฟังสําเนาเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอํานาจศาลตามมาตรา 12.5 วรรคสาม”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมีให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ใน เอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 125 วรรคหนึ่ง “คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐาน ยันตน อาจคัดค้านการนําเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสําเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ โดยคัดค้านต่อศาลก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 1,000,000 บาท แล้วผิดนัด ชําระหนี้ขอให้จําเลยคืนเงินดังกลาว จําเลยยื่นคําให้การว่าสัญญากู้นั้นจริง ๆ แล้วมีการกู้ยืมเงินกันเพียง 100,000 บาท และได้มีการทําสัญญาไว้ตอนต้น 100,000 บาท แต่โจทก์ได้เขียนตัวเลขเพิ่มเข้าไปโดยเติมเลข 0 เพิ่มลงในสัญญา อีกทั้งหนี้เงิน 100,000 บาทนั้น จําเลยชําระเงินคืนแล้วโดยมีสําเนาใบเสร็จรับเงินมายืนยัน แต่โจทก์ได้โต้แย้งว่า ใบเสร็จดังกล่าวเป็นแต่เพียงสําเนารับฟังไม่ได้นั้น

3.1 หากจําเลยอ้างนายเอก (พยานบุคคล) มาสืบว่าเห็นโจทก์เติมตัวเลขลงในเอกสารสัญญากู้ ศาลจะรับฟังได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า แม้สัญญากู้ยืมเงินนั้นกฎหมายจะบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง แต่การที่ จําเลยขอนําพยานบุคคลเข้ามาสืบว่ามีการเติมตัวเลขลงในเอกสารนั้นเป็นการนําพยานบุคคลเข้ามาสืบว่าเอกสาร ดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ดังนั้น จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง จําเลยจึงสามารถนํา นายเอกพยานบุคคลเข้ามาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่โจทก์นํามาแสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมได้ และ ศาลสามารถรับฟังพยานบุคคลดังกล่าวได้

3.2 สําเนาใบเสร็จรับเงิน ศาลสามารถรับฟังได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า การที่จําเลยนําสําเนา ใบเสร็จรับเงินมายืนยันว่าได้ชําระเงินคืนให้แก่โจทก์แล้วนั้น สําเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวถือเป็นสําเนาเอกสาร ซึ่งโดยหลักตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 ห้ามมิให้ศาลรับฟังเพราะไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (4) คือกรณีที่ไม่มีการคัดค้านตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 ซึ่งทําให้ศาลสามารถรับฟังได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จําเลยได้นําสําเนาใบเสร็จรับเงินมายืนยัน และโจทก์ได้โต้แย้งว่า ใบเสร็จดังกล่าวเป็นแต่เพียงสําเนารับฟังไม่ได้นั้น ย่อมถือว่าไม่มีการคัดค้าน เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้วา การคัดค้านนั้นจะต้องคัดค้านด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับนั้นปลอม ทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสําเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ซึ่งในกรณีนี้แม้โจทก์จะคัดค้าน แต่การคัดค้านของโจทก์ ไม่ได้เป็นการคัดค้านด้วยเหตุผลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 125 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด และเมื่อถือว่าไม่มีการคัดค้าน ดังนั้น ศาลจึงสามารถรับฟังสําเนาใบเสร็จรับเงินกรณีนี้ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (4)

สรุป

3.1 หากจําเลยอ้างนายเอกพยานบุคคลมาสืบว่าเห็นโจทก์เติมตัวเลขลงในเอกสารสัญญากู้ ศาลสามารถรับฟังได้

3.2 ศาลสามารถรับฟังสําเนาใบเสร็จรับเงินได้

Advertisement