การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่  1234  เป็นของโจทก์  ถูกฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าครอบครอง  จำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์  ทั้งยังต่อสู้ว่าเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่  1342  อันเป็นที่ดินของฝ่ายจำเลย  คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร  และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบ  จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  84/1  คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น  แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น

ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด  คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1373  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท  หมายถึง  ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ  ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว  ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์  คดีมีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรนั้น  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่  1234  เป็นของโจทก์  ถูกฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าครอบครอง  และจากคำให้การต่อสู้ของจำเลยที่ไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์  ทั้งยังต่อสู้ว่า  เป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่  1342  อันเป็นที่ดินของฝ่ายจำเลย  ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด  (ฎ. 1992/2511)

สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้น  ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84/1  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ  เมื่อโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้าง  จำเลยให้การปฏิเสธ  โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบตามหลัก  ป.วิ.พ.  มาตรา  84/1  และในกรณีดังกล่าวนี้  ย่อมไม่อาจปรับเข้าข้อสันนิษฐานตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1373  ที่ว่า  ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองได้  เพราะกรณีไม่ใช่เป็นการพิพาทกันว่า  ใครมีสิทธิดีกว่ากันในที่ดินที่มีโฉนด  แต่เป็นการพิพาทกันว่าที่พิพาทอยู่ในโฉนดของฝ่ายใด  (ฎ. 2227/2533)

สรุป  คดีมีประเด็นพิพาท  คือ  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในโฉนดของฝ่ายใด  และหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์

หมายเหตุ  กรณีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีชื่อในโฉนดที่ดิน  แต่พิพาทกันว่าที่พิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด  ในกรณีเช่นนี้โจทก์และจำเลยต่างไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน  เพราะผู้มีชื่อในโฉนดหรือ  น.ส. 3จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม  ป.พ.พ. มาตรา  1373  ก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตโฉนดของฝ่ายใด  เป็นของโจทก์หรือจำเลยแล้ว  แต่เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าเป็นของฝ่ายใดเป็นการพิพาทกันก่อนที่ข้อสันนิษฐานจะมีผลใช้บังคับ  จึงต้องกลับไปใช้หลักทั่วไปที่ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์  ดังนั้น  คดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง  จำเลยให้การปฏิเสธ  โจทก์ก็ต้องมีภาระการพิสูจน์  (ฎ. 2227/2533  ฎ.467/2548)

 


ข้อ  2  การสืบพยานหลักฐานในคดีอาญานั้น  มีกรณีใดบ้างที่ไม่ได้กระทำในศาลที่รับฟ้องคดี

อธิบาย

การสืบพยานหลักฐานในคดีอาญานั้น  มีกรณีที่ไม่ได้ทำในศาลที่รับฟ้องคดีดังต่อไปนี้  คือ

1       ศาลเห็นสมควรให้เดินเผชิญสืบ  กล่าวคือ  โดยหลักแล้ว  ศาลซึ่งเป็นผู้สืบพยานจะสืบพยานในศาลหรือนอกศาลก็ได้  แต่ถ้ามีคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ  หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นการสมควร  ศาลก็อาจเดินเผชิญสืบพยานหลักฐานก็ได้  (ป.วิ.อ.  มาตรา  229  ประกอบมาตรา  230  วรรคแรก)

2       ศาลเห็นสมควรให้ส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น  กล่าวคือ  เมื่อมีเหตุจำเป็นไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบที่ศาลซึ่งกำลังพิจารณาคดีได้  และการสืบพยานหลักฐานโดยวิธีอื่นก็ไม่สามารถกระทำได้  กรณีเช่นนี้  ศาลมีอำนาจส่งประเด็นให้ศาลอื่นสืบพยานหลักฐานแทน  ทั้งให้ศาลที่รับประเด็นมีอำนาจและหน้าที่ดังศาลเดิม  รวมทั้งมีอำนาจส่งประเด็นต่อไปยังศาลอื่นได้  (ป.วิ.อ.  มาตรา  230  วรรคแรก)

3       ศาลอนุญาตให้พยานเบิกความนอกศาล  กล่าวคือ  ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจนำพยานมาเบิกความในศาลได้  เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร  กรณีเช่นนี้  ศาลก็อาจอนุญาตให้พยานดังกล่าวเบิกความที่ศาลอื่น  หรือสถานที่ทำการของทางราชการหรือสถานที่แห่งอื่นนอกจากศาลนั้น  โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้  (ป.วิ.อ.  มาตรา  230/1)

4       ศาลอนุญาตให้คู่ความเสนอบันทึกถ้อยคำของบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาล  กล่าวคือ  เป็นกรณีที่พยานอยู่ต่างประเทศและไม่อาจสืบพยานตาม  ข้อ  3  ได้  กรณีเช่นนี้  เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร  ศาลจะอนุญาตให้เสนอบันทึกคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาลได้  แต่ก็ไม่ตัดสิทธิผู้ให้ถ้อยคำที่จะมาศาลเพื่อให้การเพิ่มเติม  (ป.วิ.อ.  มาตรา  230/2)

 


ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่า  เมื่อเดือนมีนาคม  2540  โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินซึ่งจำเลยจัดสรรขายจำนวน  1  หลัง  เป็นเงิน  
2,500,000  บาท  ผ่อนชำระเป็นรายเดือน  รวม  20  เดือน  โจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว  แต่จำเลยผิดสัญญา  เพิ่งจะก่อสร้างบ้านได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  จึงขอเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์  จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดเวลาส่งมอบบ้านไว้  จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา  ขอให้ยกฟ้อง  ระหว่างสืบพยาน  โจทก์อ้างตนเองและแผ่นพับโฆษณาของจำเลยที่มีข้อความว่า  จำเลยจะเริ่มก่อสร้างบ้านในโครงการ  ในต้นเดือนมกราคม  2540  และจะก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้ซื้อเสร็จภายในสิ้นปี  2541 เป็นพยานโดยโจทก์เบิกความว่าตามที่จำเลยลงโฆษณาไว้ได้ล่วงเลยกำหนดเวลาส่งมอบบ้านไปแล้ว  ส่วนจำเลยอ้างนายจันทร์เป็นพยานเบิกความว่า  โครงการก่อสร้างของจำเลยมีปัญหาสินเอกับสถาบันการเงิน  จึงเริ่มต้นก่อสร้างล่าช้า  จำเลยได้ตกลงกับลูกค้าว่าขอเลื่อนกำหนดเวลาส่งมอบบ้านเป็นภายในสิ้นปี  2542  ซึ่งขณะที่โจทก์ฟ้องยังไม่ครบกำหนดเวลาส่งมอบบ้านตามที่ตกลงกัน

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำสืบดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา 94 (ข)  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ข)  ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า  ยังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

วินิจฉัย

พยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยที่นำสืบดังกล่าวต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  หรือไม่  เห็นว่า  แม้ได้ความว่าสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย  จะเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ซึ่งโดยหลักแล้ว  ศาลย่อมไม่อาจรับฟังพยานบุคคลในกรณีที่ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า  ยังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก  แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  สัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาส่งมอบบ้านอันเป็นสาระสำคัญไว้  จึงเป็นสัญญาที่ไม่ชัดแจ้งโจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบอธิบานให้เห็นถึงกำหนดระยะเวลาส่งมอบอันเป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายเพื่อให้สัญญาชัดเจนว่ากำหนดเวลาสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเวลาใดและปฏิบัติตามสัญญาได้  หาใช่เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  แต่ประการใด  (ฎ. 851/2544)

สรุป  พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำมาสืบดังกล่าวไม่ต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)   

Advertisement