การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 นางโสภามีบุตร 4 คน คือ นายหนึ่ง นายสอง นายสาม และนายสี่ นางโสภา นายหนึ่ง นายสอง และนายสามร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายสี่ว่า โจทก์ทั้งสี่ได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม แต่เข้าครอบครองที่ดินมี น.ส.3 ซึ่งเป็นมรดกไม่ได้ เพราะจำเลยขัดขวาง จึงขอเรียกทรัพย์มรดกโดยกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 กึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของสามีโจทก์ที่ 1 ซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสี่และจำเลยในฐานะทายาทส่วนละเท่าๆกัน นายสี่ซึ่งตกเป็นจำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทจำเลยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตามข้อตกลงของทายาทและจำเลยมีชื่อใน น.ส. 3 จำเลยครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้สิทธิครอบครอง หากในวันสืบพยาน คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ยอมนำพยานของตนเข้าสืบ อยากทราบว่าคดีนี้คู่ความฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้คดี
ธงคำตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
วินิจฉัย
ในเรื่องหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ในคดีที่คู่ความพาทกันว่าทรัพย์สินเป็นของคู่ความฝ่ายใด ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์จำพวกที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน หรือทะเบียนสิทธิครอบครองเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก.) บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 และโฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. ก็เป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง กรณีเช่นนี้ จึงต้องเป็นหน้าที่ของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีมรดกซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ที่จำเลยนั้น แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ก็มิใช่ว่าจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเสมอไป หากจำเลยรับว่าเป็นทรัพย์ของผู้ตายจริง แต่ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้อื่นไปแล้ว หรือว่าได้มีการแบ่งมรดกกันแล้ว กรณีเช่นนี้ ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ดังนี้ ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่จำเลย (ฎ.122/2490, ฎ. 596/2534)
หากในวันสืบพยาน คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ยอมนำพยานของตนเข้าสืบ คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝายแพ้คดี เห็นว่า คดีนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองก็ตาม แต่การที่จำเลยให้การรับว่าที่พิพาทเป็นมรดก และกล่าวอ้างข้อ
เท็จจริงขึ้นใหม่ว่า จำเลยมีชื่อใน น.ส.3 แต่ผู้เดียวตามข้อตกลงของทายาท จำเลยครอบครองโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้สิทธิครอบครอง จำเลยจึงยังต้องมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามข้อตกลงของทายาทโดยชอบ และได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองดังกล่าวว่าได้ครอบครองเพื่อตนและสุจริตอันเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นมาใหม่อีกด้วย ดังนั้นจำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ตามมาตรา 84/1 เช่นนี้ หากในวันสืบพยาน คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ยอมนำพยานของตนเข้าสืบ จำเลยจะเป็นฝ่ายแพ้คดีเพราะไม่นำพยานเข้าสืบตามหน้าที่ (ฎ. 5132/2539)
สรุป หากในวันสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ยอมนำพยานของตนเข้าสืบ จำเลยจะเป็นฝ่ายแพ้คดี
ธงคำตอบ
อธิบาย
โดยหลักแล้ว ในคดีแพ่งเมื่อคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถนำพยานของตนมาศาลได้เอง คู่ความฝ่ายนั้นอาจขอต่อศาลก่อนวันสืบพยานให้ออกหมายเรียกพยานนั้นมาศาลได้ โดยศาลอาจให้คู่ความฝ่ายนั้นแถลงถึงความเกี่ยวพันของพยานกับข้อเท็จจริงในคดีอันจำเป็นที่จะต้องออกหมายเรียกพยานดังกล่าวด้วย และต้องส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำแถลงของผู้ขอให้พยานรู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน (ป.วิ.พ. มาตรา 106)
แต่อย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ออกหมายเรียกพยานดังต่อไปนี้
1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ว่าในกรณีใดๆ
2) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา ไม่ว่าในกรณีใดๆ
3) ผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมาย
ในกรณีตาม 2) และ 3) ให้ศาลหรือผู้พิพากษาที่รับมอบหรือศาลที่ได้รับแต่งตั้งออกคำบอกกล่าวว่าจะสืบพยานนั้น ณ สถานที่และวันเวลาใดแทนการออกหมายเรียก โดยในกรณีตาม 2) ให้ส่งไปยังพยานส่วนตาม 3) ให้ส่งคำบอกกล่าวไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติว่าด้วยการนั้น หรือตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ (ป.วิ.พ. มาตรา 106/1)
สำหรับการห้ามออกหมายเรียกมาเป็นพยานในคดีอาญา เนื่องจากกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป. วิ.พ. มาตรา 106/1) มาใช้บังคับกับคดีอาญาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15
ข้อ 3 คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง โจทก์นำสืบแสดงสำเนาใบส่งของต่อศาล จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับเอกสารแต่อย่างใด ศาลได้วินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าว จำเลยฎีกาว่าการที่ศาลล่างรับฟังสำเนาเอกสารของโจทก์นั้น เป็นการรับฟังพยานเอกสารที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์มิได้ขออนุญาตศาลก่อนเพื่อนำสำเนาเอกสารดังกล่าวมาสืบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 93 การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่
(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถนำมาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้
วินิจฉัย
ตามมาตรา 93(2) กำหนดว่า ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถนำมาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้ ถ้อยคำในตัวบทที่ว่า “ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้” มีลักษณะทำนองว่าจะต้องขออนุญาตต่อศาล กล่าวคือ หากมีเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93(2) แล้ว ศาลย่อมอนุญาตให้นำสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนได้เสมอ หรือหากศาลยอมให้สืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนไปเลย ก็ถือได้ว่าอนุญาตโดยปริยาย ไม่จำต้องขออนุญาตต่อศาลก่อน
การที่ศาลล่างทั้งสองศาลรับฟังสำเนาเอกสารของโจทก์นั้นเป็นการรับฟังที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำสืบแสดงสำเนาใบส่งของต่อศาล และจำเลยมิได้โต้แย้งว่าโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับเอกสาร เมื่อศาลล่างได้วินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าว ก็ถือได้ว่าศาลได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้ในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93(2) แล้ว โยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตศาลก่อน ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น (ฎ. 5841/2545)
สรุป การที่ศาลล่างทั้งสองศาลรับฟังสำเนาเอกสารของโจทก์นั้น เป็นการรับฟังที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น