การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  นางโสภีมีบุตร  3  คน  นายหนึ่ง  นายสองและนายสาม  นางโสภี  นายหนึ่งและนายสองร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายสามว่าโจทก์ทั้งสามได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม  แต่เข้าครอบครองที่ดินมี  น.ส.3  ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกไม่ได้  เพราะจำเลยขัดขวาง  จึงขอเรียกทรัพย์มรดก  โดยกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่  1  กึ่งหนึ่ง  อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของสามีโจทก์ที่  1  ซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยในฐานะทายาทส่วนละเท่าๆกัน  นายสามซึ่งตกเป็นจำเลยต่อสู่ว่าที่ดินพิพาทจำเลยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตามข้อตกลงของทายาทและจำเลยมีชื่อใน  น.ส.3  จำเลยครอบครองโดยสงบ  เปิดเผย  ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า  10  ปีแล้ว  จึงได้สิทธิครอบครอง  หากในวันสืบพยาน  คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ยอมนำพยานของตนเข้าสืบอยากทราบว่าคดีนี้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้คดี

ธงคำตอบ

มาตรา  84  วรรคแรก  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ  เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

มาตรา  1373  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

วินิจฉัย

ในเรื่องหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ในคดีที่คู่ความพาทกันว่าทรัพย์สินเป็นของคู่ความฝ่ายใด  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์จำพวกที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน  หรือทะเบียนสิทธิครอบครองเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส.3  หรือ  น.ส.3  ก.)  บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นสิทธิครอบครองตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1373  และโฉนดที่ดิน  น.ส.3  หรือ  น.ส.3 ก.  ก็เป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น  ซึ่งตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  127  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง  กรณีเช่นนี้  จึงต้องเป็นหน้าที่ของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม  ในคดีมรดกซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ที่จำเลยนั้น  แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ก็มิใช่ว่าจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเสมอไป  หากจำเลยรับว่าเป็นทรัพย์ของผู้ตายจริง  แต่ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้อื่นไปแล้ว  หรือว่าได้มีการแบ่งมรดกกันแล้ว  กรณีเช่นนี้  ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่  ดังนี้  ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่จำเลย  (ฎ.122/2490,  ฎ. 596/2534)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  หากในวันสืบพยาน  คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ยอมนำพยานของตนเข้าสืบ  คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายแพ้คดี  เห็นว่าคดีนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)  ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท  และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1373  ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองก็ตาม  แต่การที่จำเลยให้การรับว่าที่พิพาทเป็นมรดก  และกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า  จำเลยมีชื่อใน  น.ส.3  แต่ผู้เดียวตามข้อตกลงของทายาท  จำเลยครอบครองโดยสงบ  เปิดเผย  ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า  10  ปีแล้ว  จึงได้สิทธิครอบครอง  จำเลยจึงยังต้องมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่า  จำเลยได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทอันเกิดเป็นมรดกตามข้อตกลงของทายาทโดยชอบ  และได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองดังกล่าวได้ครอบครองเพื่อตนและสุจริตอันเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นมาใหม่อีกด้วย  ดังนั้นจำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84  วรรคแรก (ปัจจุบันคือ  มาตรา  84/1)  เช่นนี้  หากในวันสืบพยาน  คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ยอมนำพยานของตนเข้าสืบ  จำเลยจะเป็นฝ่ายแพ้คดีเพราะไม่นำพยานเข้าสืบตามหน้าที่(ฎ. 5132/2539)

สรุป  หากในวันสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ยอมนำพยานของตนเข้าสืบ  จำเลยจะเป็นฝ่ายแพ้คดี

 


ข้อ  2  พยานไม่ไปศาลในวันสืบพยาน  ศาลจะปฏิบัติอย่างไร

ธงคำตอบ

อธิบาย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่พยานคนใดคู่ความได้บอกกล่าวความจำนงจะอ้างอิงคำเบิกความของพยานโดยชอบ  ไม่ไปศาลในวันกำหนดสืบพยาน  ถ้าศาลเห็นว่าคำเบิกความของพยานที่ไม่มานั้น  ไม่เป็นข้อสำคัญในการวินิจฉัยคดี  ศาลก็ชอบที่จะดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปและชี้ขาดตัดสินคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยาน (ป.วิ.พ. มาตรา 110)

แต่อย่างไรก็ตาม  สำหรับพยานที่ไม่มาศาลมีความสำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี  ศาลก็สามารถที่จะใช้ดุลพินิจในการสืบพยานนั้นได้  กล่าวคือ

1       ถ้าศาลเห็นว่า  ข้ออ้างของพยานที่ไม่มาศาลมีข้อแก้ตัวอันควร  เช่น  เจ็บป่วย  หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่รับฟังได้  ศาลก็อาจจะเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีไปเพื่อให้พยานมาศาล  หรือเพื่อสืบพยานนั้น  ณ  สถานที่และเวลาอันควรแก่พฤติการณ์ก็ได้

2       ถ้าศาลเห็นว่า  พยานได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้ว  จงใจไม่ไปยังศาลนั้น  หรือได้รับคำสั่งศาลให้รอคอยอยู่แล้วจงใจหลบเสีย  กรณีเช่นนี้  ศาลก็อาจจะเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีไปและออกหมายจับและเอาตัวพยานกักขังไว้จนกว่าพยานจะได้เบิกความตามวันที่ศาลเห็นสมควรก็ได้  ทั้งนี้  การไม่ไปศาลของพยานก็ยังคงเป็นความผิดฐานขัดขืนหมายเรียกของศาลให้มาเบิกความอยู่เช่นเดิม  (ป.วิ.พ. มาตรา 111)

 


ข้อ  3  คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  โจทก์นำสืบแสดงสำเนาใบส่งของต่อศาล  จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับเอกสารแต่อย่างใด  ศาลได้วินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าว  จำเลยฎีกาว่าการที่ศาลล่างรับฟังสำเนาเอกสารของโจทก์นั้น  เป็นการรับฟังพยานเอกสารที่มิชอบด้วยกฎหมาย  เพราะโจทก์มิได้ขออนุญาตศาลก่อนเพื่อนำสำเนาเอกสารดังกล่าวมาสืบ  ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  93  การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น  เว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้  เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย  หรือสูญหาย  หรือไม่สามารถนำมาได้โดยประการอื่น  อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ  หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น  ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  93(2)  กำหนดว่า  ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้  เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย  หรือสูญหาย  หรือไม่สามารถนำมาได้โดยประการอื่น  อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ  หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น  ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้  ถ้อยคำในตัวบทที่ว่า  ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้  มีลักษณะทำนองว่าจะต้องขออนุญาตต่อศาล  กล่าวคือ หากมีเหตุตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  93(2)  แล้ว  ศาลย่อมอนุญาตให้นำสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนได้เสมอ  หรือหากศาลยอมให้สืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนไปเลย  ก็ถือได้ว่าอนุญาตโดยปริยาย  ไม่จำต้องขออนุญาตต่อศาลก่อน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า  การที่ศาลล่างทั้งสองศาลรับฟังสำเนาเอกสารของโจทก์นั้น  เป็นการรับฟังที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์นำสืบแสดงสำเนาใบส่งของต่อศาล  และจำเลยมิได้โต้แย้งว่าโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับเอกสาร  เมื่อศาลล่างได้วินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าว  ก็ถือได้ว่าศาลได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้ในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่นตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  93(2)  แล้ว  โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตศาลก่อน  ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น  (ฎ. 5841/2545)

สรุป  การที่ศาลล่างทั้งสองศาลรับฟังสำเนาเอกสารของโจทก์นั้น  เป็นการรับฟังที่ชอบด้วยกฎหมาย  ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น 

Advertisement