การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า ที่นาพิพาทมี ส.ค.1 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยเช่าแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จะเข้าทำนาเอง จำเลยกลับบุกรุกเข้าทำนา ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า ไม่เคยเช่านาจากโจทก์ แต่โจทก์ได้ขายและตนได้เข้าครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว ไม่เคยบุกรุกที่นาเลย ดังนี้ อยากทราบว่า คดีนี้ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์ จงอธิบาย พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
มาตรา 84 วรรคแรก ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง
(2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
มาตรา 1372 สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย
วินิจฉัย
ในเรื่องหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ปัจจุบันคือมาตรา 84/1) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ
การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าที่นาพิพาทเป็นของโจทก์โดยมี ส.ค.1 เป็นหลักฐานโจทก์ให้จำเลยเช่าแล้วไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จะเข้าทำ จำเลยกลับบุกรุกเข้าทำ กรณีจึงเท่ากับโจทก์กล่าวอ้างในฐานะที่ตนมีสิทธิในที่ดิน (ส.ค.1) และจากที่จำเลยให้การถึงการที่ได้ที่นามาโดยการที่โจทก์ขายที่นาพิพาทให้จำเลยและครอบครองมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว กรณีจึงเท่ากับว่า จำเลยปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ที่นาพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า (ส.ค.1) และจำเลยครอบครองอยู่ กรณีเช่นนี้ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 และมาตรา 1372 ว่ามีสิทธิครอบครอง เมื่อโจทก์กล่าวอ้างโจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบก่อนว่า โจทก์ให้จำเลยเช่าจริงหรือไม่ และจำเลยบุกรุกที่ของโจทก์หรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ปัจจุบันคือมาตรา 84/1) (ฎ. 1649/2513)
สรุป ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่โจทก์
ข้อ 2 ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง จำเลยยื่นบัญชีระบุพยาน เมื่อล่วงเลยระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88(1)(2) โดยมิได้มีการยื่นคำร้องแสดงเหตุผลใดๆ แก่ศาล แต่ศาลกลับมีคำสั่งให้รับบัญชีระบุพยานโดยอ้างเหตุว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจงใจและไม่ทำให้คู่ความอีกฝ่ายเสียเปรียบ ดังนี้ คำสั่งของศาลดังกล่าวเป็นคำสั่งที่รับฟังได้หรือไม่ จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
มาตรา 87 ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่
(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
มาตรา 88 วรรคสาม เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วแต่กรณี ได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว มีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนพิพากษาคดีและถ้าศาลเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเดนเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำสั่งของศาลดังกล่าวเป็นคำสั่งที่รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกภายในกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคแรก หรือมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายในกำหนดตามมาตรา 88 วรรคสอง คู่ความฝ่ายนั้นก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลโดยใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม กล่าวคือ ยื่นคำร้องขออ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานโดยแสดงเหตุอันสมควรที่เป็นอุปสรรค ทำให้ไม่อาจยื่นบัญชีระบุพยานได้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งนี้เพราะการยื่นบัญชีระบุพยานก็เพื่อมิให้คู่ความเกิดความเสียเปรียบได้เปรียบในเชิงคดีที่มีอยู่อย่างชัดแจ้ง มิฉะนั้นจะกลายเป็นข้อยกเว้นของ ป.วิ.พ. มาตรา 88
ส่วนการที่จะอ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 87(2) ตอนท้ายที่ว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 88 ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ ก็จะต้องเข้าเงื่อนไข 3 ประการ คือ
1 พยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี
2 ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานนั้น
3 ไม่ทำให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบในเชิงคดี
เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกหรือบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาล เมื่อล่วงเลยเวลาตามมาตรา 88 วรรคแรกหรือวรรคสองแล้ว โดยมิได้ทำคำร้องแสดงว่าเหตุใดจึงยื่นภายในกำหนดเวลาไม่ได้ เพื่อให้ศาลได้มีโอกาสพิจารณาเหตุผลของโจทก์ว่าสมควรจะรับบัญชีระบุพยานไว้หรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ดังนี้ ศาลจะสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยโดยเหตุผลเพียงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจงใจ และไม่ทำให้คู่ความอีกฝ่ายเสียเปรียบหาได้ไม่ เพราะข้อได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงคดีมีอยู่อย่างชัดแจ้ง (ฎ. 2591/2520ม ฎ. 943/2512)
ทั้งการที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุผลอันสมควรที่ไม่อาจยื่นบัญชีระบุพยานได้ตามกำหนดเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสามย่อมทำให้เกิดการเอาเปรียบโจทก์ในการดำเนินคดีโดยวิธีจู่โจม พยานหลักฐานทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสต่อสู้คดี ดังนี้ แม้พยานหลักฐานดังกล่าวจะสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีที่ทำให้จำเลยแพ้หรือชนะคดีก็ตาม แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมไม่สมควรรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามข้อยกเว้นของ ป.พ.พ. มาตรา 87(2) ตอนท้าย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับบัญชีระบุพยานของจำเลยได้ตามกฎหมาย คำสั่งของศาลที่ให้รับบัญชีระบุพยานดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คำสั่งของศาลดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 นายเสียมราบพยานของนายไทวาจำเลย ได้เข้านั่งฟังคำเบิกความของนายตะบอง ซึ่งเป็นพยานของนายไทคมโจทก์ในคดีเรื่องหนึ่งโดยตลอด เมื่อถึงคราวที่นายเสียมราบจะต้องเบิกความ นายไทคมโจทก์จึงคัดค้านว่า คำเบิกความของนายเสียมราบรับฟังไม่ได้ เนื่องจากได้เข้านั่งฟังคำเบิกความของพยานอื่นแล้ว ขอให้ศาลห้ามมิให้รับฟังคำพยานดังกล่าว อยากทราบว่า คำคัดค้านของนายไทคมรับฟังได้หรือไม่ และมีหลักกฎหมายอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 114 ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานคนอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมีอำนาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้
แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคำพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความอีกกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคำเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคำเบิกความเช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคำเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้
วินิจฉัย
การห้ามไม่ให้พยานคนหลังได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 114 ดังกล่าวข้างต้นนั้น คำว่า “พยานคนก่อน” หมายความถึงพยานฝ่ายของตน หรือพยานของคู่ความฝ่ายเดียวกันเท่านั้น ทั้งนี้เพราะอาจทำให้มีโอกาสบิดเบือนคำเบิกความของตนให้สอดคล้องกันได้
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายเสียมราบเป็นพยานของนายไทวาจำเลย ซึ่งรับฟังคำเบิกความของนายตะบองซึ่งเป็นพยานของนายไทคมโจทก์ มิใช่พยานของนายไทวาจำเลยด้วยกันเอง กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 114 เพราะมิใช่เป็นการเบิกความโดยฟังคำพยานคนก่อน
ดังนั้น คำเบิกความของนายเสียมราบจึงไม่เป็นการผิดระเบียบและสามารถรับฟังได้ คำคัดค้านของนายไทคมจึงรับฟังไม่ได้ (ฎ . 3328/2536)
สรุป คำคัดค้านของนายไทคมรับฟังไม่ได้