การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์บรรทุกคันก่อเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวในเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวด้วยความประมาทในขณะเมาสุราจนไม่สามารถบังคับรถยนต์ได้ เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวพุ่งชนโจทก์ซึ่งเดินอยู่บนบาทวิถี ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวม 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกตามฟ้องด้วยความประมาท ไม่ได้เมาสุราในขณะขับรถ แต่จำเลยที่ 1 หักพวงมาลัยรถยนต์โดยกะทันหันเพื่อหลบหลุมขนาดใหญ่กลางถนนเป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกเสียหลักแล่นขึ้นไปบนบาทวิถีและเฉี่ยวชนโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะมิได้ฟ้องมาภายในกำหนดอายุความตามกฎหมาย โจทก์ไม่ได้รับอันตรายสาหัสตามฟ้อง ค่าเสีย
หายตามฟ้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน ทนายความของจำเลยแถลงว่า จากการตรวจสอบ ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้มาสมัครงานเป็นผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และเหตุเกิดในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังทดสอบการขับรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลกำหนดประเดนข้อพิพาทตามคำแถลงนี้ด้วย
ให้วินิจฉัยว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด และถ้าไม่มีการสืบพยาน คู่ความฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายแพ้คดี
ธงคำตอบ
มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
มาตรา 437 วรรคแรก บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
วินิจฉัย
ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังจักรกลตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายนั้นเอง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ดังนั้น จำเลยไม่มีประเด็นนำสืบเพื่อให้พ้นความรับผิด จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว (เทียบ ฎ. 762/2517)
ส่วนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงส่วนนี้ไว้ในคำให้การ กรณีจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว จึงฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามฟ้องได้ ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกตามฟ้องไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้น การที่ทนายความของจำเลยทั้งสองแถลงในวันชี้สองสถานปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนี้ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงยุติแล้วกลับมาเป็นประเด็นข้อพิพาทได้อีก เพราะประเด็นข้อพิพาทนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น คำแถลงของคู่ความไม่อาจก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นได้ ( ฎ. 862/2510)
คำให้การของจำเลยทั้งสองที่ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกตามฟ้องนั้นไม่มีผลกระทบต่อผลคดี จึงไม่เป็นประเด็นที่ต้องศาลวินิจฉัย และไม่ต้องกำหนดเป็นประเด็นพิพาท
สำหรับคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความนั้น เนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอาศัยมูลละเมิด ที่จำเลยทั้งสองให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามกฎหมายย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 จึงเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้งแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท
ดังนั้น คดีตามอุทาหรณ์จึงมีประเด็นข้อพิพาทดังนี้
1 คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
2 โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่เพียงใด
สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้
ประเด็นแรก แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายที่กล่าวอ้างประเด็นข้อนี้ขึ้นมา แต่ศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนั้นสันนิษฐานว่าเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ (ฎ. 3042/2548, ฎ. 4610/2547)
ประเด็นที่สอง โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริง จำเลยให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์โดยไม่ได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์
และหากคดีนี้ไม่มีการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์จะเป็นฝ่ายแพ้คดี เพราะคดีนี้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่โจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่ามีการกระทำผิดตามฟ้องเกิดขึ้น
สรุป คดีมีประเด็นข้อพิพาท คือ
1 คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
2 โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่เพียงใด
และถ้าไม่มีการสืบพยาน โจทก์จะเป็นฝ่ายแพ้คดี
ข้อ 2 นายตี๋ใหญ่ถูกจับในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต พนักงานสอบสวนแจ้งนายตี๋ใหญ่ให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดและแจ้งข้อหาให้ทราบ แต่ก่อนเริ่มถามคำให้การ พนักงานสอบสวนไม่ได้ถามนายตี๋ใหญ่ว่ามีทนายความหรือไม่ และไม่ได้แจ้งสิทธิตามกฎหมายให้นายตี๋ใหญ่ทราบ นายตี๋ใหญ่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจว่า นายตี๋ใหญ่ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ยิงนำไปซ่อนไว้ที่ห้องเช่า พนักงานสอบสวนนำหมายค้นไปค้นห้องเช่าพบอาวุธปืนยึดเป็นของกลาง ชั้นศาลนายตี๋ใหญ่ให้การรับสารภาพตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาดังกล่าว ดังนี้ ศาลจะรับฟังบันทึกคำให้การรับสารภาพของนายตี๋ใหญ่ในชั้นสอบสวน อาวุธปืนของกลาง และนายตี๋เล็กที่พนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยานซึ่งโจทก์นำมาเบิกความยืนยันกระทำผิดของนายตี๋ใหญ่ในชั้นศาลเป็นพยานหลักฐานของโจทก์เพื่อพิสูจน์ว่านายตี๋ใหญ่กระทำผิดประกอบคำให้การรับสารภาพของนายตี๋ใหญ่ในชั้นศาลได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 137/1 วรรคแรก ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
มาตรา 134/4 วรรคแรกและวรรคท้าย ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ ถ้อยคำใดๆที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้
มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมิผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
มาตรา 226/1 ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้ด้วย
(1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
(2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
(3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
(4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด
มาตรา 232 ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ (ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคแรก) และหากพนักงานสอบสวนไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวข้างต้นถ้อยคำใดๆที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ (ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 วรรคท้าย)
กรณีตามอุทาหรณ์ บันทึกคำให้การรับสารภาพของนายตี๋ใหญ่ในชั้นสอบสวนแม้นายตี๋ใหญ่จะให้การรับโดยสมัครใจ แต่เมื่อนายตี๋ใหญ่ถูกจับในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิตและพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบถามนายตี๋ใหญ่ก่อนว่ามีทนายความหรือไม่ กรณีจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคแรก และก็ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 วรรคแรกด้วย เพราะไม่มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้นายตี๋ใหญ่ผู้ต้องหาทราบก่อนถามคำให้การ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายตี๋ใหญ่ไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 วรรคท้าย
สำหรับอาวุธปืนของกลางเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ คือคำให้การรับสารภาพของนายตี๋ใหญ่ที่รับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 วรรคท้าย กรณีเช่นนี้ โดยหลักแล้ว ย่อมต้องห้ามมิให้รับฟัง แต่เมื่อคำนึงถึงคุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ ความน่าเชื่อถืออาวุธปืนของกลางซึ่งเป็นวัตถุพยาน ประกอบพฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดีแล้ว น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายตี๋ใหญ่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1
ส่วนนายตี๋เล็กที่พนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยานไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับนายตี๋ใหญ่ด้วย จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232 โจทก์จึงอ้างเป็นพยานโจทก์ได้ และคำเบิกความของนายตี๋เล็กที่ยืนยันว่านายตี๋ใหญ่กระทำความผิดตามฟ้องก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่านายตี๋ใหญ่มีความผิด โดยไม่ปรากฏว่านายตี๋เล็กเป็นพยานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของนายตี๋เล็กเป็นพยานหลักฐานของโจทก์เพื่อพิสูจน์ความผิดของนายตี๋ใหญ่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 (ฎ. 534/2512)
สรุป ศาลรับฟังบันทึกให้การรับสารภาพของนายตี๋ใหญ่ในชั้นสอบสวนไม่ได้ ศาลรับฟังอาวุธปืนของกลางได้ และศาลรับฟังนายตี๋เล็กได้ เพราะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย
ข้อ 3 โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินประกาศการซื้อขายตามระเบียบเป็นเวลา 30 วัน ครบกำหนดตามประกาศไม่มีผู้ใดคัดค้าน จำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้บังคับจำเลยโอนทางทะเบียนและส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่โจทก์ ในวันสืบพยานจำเลย จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ใช่สัญญาซื้อขายที่ดิน ต้องบังคับตามสัญญากู้เงิน ดังนี้ จำเลยสามารถนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ
1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น
2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม
3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน
4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์
5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
จำเลยสามารถนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยประสงค์จะนำสืบว่าความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ใช่สัญญาซื้อขายที่ดิน กรณีถือเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาจะซื้อจะขายเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินหากเป็นความจริงตามที่จำเลยอ้างสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ ฉะนั้น การที่จำเลยขอนำสืบว่าความจริงเป็นการทำสัญญากู้ยืมเงินกันจึงมิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข) หากแต่เป็นการนำสืบหักล้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด จำเลยจึงนำสืบได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย (ฎ. 2976/2548)
สรุป จำเลยสามารถนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างได้