การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดาของโจทก์จำเลย แต่จำเลยครอบครองไว้เพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลย จำเลยให้การว่าบิดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ หลังจากนั้นจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นมรดกของบิดาที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม บิดาตายมานานหลายปีแล้ว ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
คดีมีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบประการใด
อนึ่ง ถ้าในการชี้สองสถาน ศาลกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบและนำพยานเข้าสืบก่อน แต่ในวันสืบพยาน จำเลยและโจทก์ต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดี เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี
ธงคำตอบ
มาตรา 84 วรรคแรก ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง
(2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
มาตรา 1372 สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย
วินิจฉัย
คดีมีประเด็นพิพาทประการเดียวว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดาหรือไม่ เนื่องจากโจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าและเป็นมรดกของบิดาของโจทก์จำเลย จำเลยครอบครองไว้เพียงผู้เดียว จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินมือเปล่าและโจทก์จำเลยไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรมของบิดา แต่ให้การรับว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาท ประเด็นแห่งคดีจึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของบิดา และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอยู่เพียงผู้เดียว
ส่วนคำให้การของจำเลยที่ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยให้การไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความ (ฎ. 1801/2539 (ที่ประชุมใหญ่)) ดังนั้นคำให้การของจำเลยที่ปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทมิใช่เป็นมรดกของบิดา แต่เป็นของจำเลย เนื่องจากบิดายกให้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ จึงทำให้คดีมีประเด็นข้อพิพาทประการเดียวดังกล่าวข้างต้น
ส่วนหน้าที่นำสืบในประเด็นดังกล่าวนั้นตกแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดา จำเลยให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทมิใช่เป็นมรดกของบิดา เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 1369 และ 1372 ว่ามีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดา โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าที่พิพาทเป็นมรดกของบิดาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคสอง (2) (ปัจจุบันคือ มาตรา 84/1 (ฎ. 1527/2497)
เมื่อได้ความว่าตามกฎหมายโจทก์มีหน้าที่นำสืบ แต่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้สมหน้าที่ โจทก์ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อน แม้จำเลยจะไม่คัดค้าน เมื่อไม่มีการสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไปทีเดียวไม่ได้ เพราะการที่ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดีโดยถือหน้าที่นำสืบเป็นหลักนั้น ต้องถือตามหน้าที่นำสืบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี โดยยกฟ้องโจทก์ (ฎ. 3059 – 3060/2516)
สรุป คดีมีประเด็นข้อพิพาท คือ ที่พิพาทเป็นมรดกของบิดาหรือไม่ หน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์
และถ้าในการชี้สองสถาน ศาลกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบและนำพยานเข้าสืบก่อน แต่ในวันสืบพยานจำเลยและโจทก์ต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดี เช่นนี้ โจทก์จะเป็นฝ่ายแพ้คดี ตามหน้าที่นำสืบที่ถูกต้อง
ข้อ 2 คดีอาญานายเขียวเป็นโจทก์ฟ้องนายดำ ข้อหายักยอกทรัพย์ ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นายเขียว นายขาวซึ่งเป็นทนายความของนายเขียว และนายเหลืองซึ่งเป็นทนายความของนายดำไปศาล ในการไต่สวน นายเขียวอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความต่อศาล และอ้างใบเสร็จรับเงิน 2 ฉบับ เป็นพยานหลักฐาน ส่วนนายเหลืองนำจดหมายของนายเขียวซึ่งมีข้อความว่าได้รับเงินตามใบเสร็จสองฉบับจากนายดำไว้แล้วซักถามนายเขียวและเสนอจดหมายดังกล่าวต่อศาล หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายขาวทนายความของนายเขียวเพิ่งจะยื่นบัญชีระบุพยาน อ้างนายเขียวกับใบเสร็จรับเงินทั้งสองฉบับเป็นพยานหลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้ว 7 วัน แต่ยังไม่ถึงวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา แต่นายเหลืองไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน อ้างจดหมายที่นำส่งศาลเป็นพยาน
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานคือ คำเบิกความของนายเขียว ใบเสร็จรับเงินทั้งสองฉบับ และจดหมายของนายเขียวที่นายเหลืองอ้างส่งศาลเป็นพยานได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 88 วรรคแรก เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่ หรืออ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้ง เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันซึ่งบัญชีระบุพยานโดยแสดงหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้าง และรายชื่อที่อยู่ของบุคคล วัตถุ หรือสถานที่ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยาน หรือขอให้ศาลไปตรวจ หรือขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
วินิจฉัย
ในการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่ง ป.วิ.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการยื่นบัญชีระบุพยานไว้ว่า ในการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก ต้องยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยยื่นพร้อมสำเนาบัญชีระบุพยานเพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล (ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคแรก) แต่สำหรับการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญา ในกรณีปกติ ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะกรณีจึงต้องนำหลักการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15
กรณีตามอุทาหรณ์ การไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องเสนอพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อให้เห็นว่า คดีของโจทก์มีมูล เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาลไม่มีกรณีที่จะเอารัดเอาเปรียบในการเสนอพยานหลักฐานหรือจู่โจมในทางพยาน จึงเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่จำต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคแรก ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ฉะนั้น แม้โจทก์จะเพิ่งยื่นบัญชีระบุพยานอ้างนายเขียวกับใบเสร็จรับเงิน 2 ฉบับเป็นพยาน หลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้ว 7 วัน ศาลก็รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87(2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ส่วนนานเหลืองทนายความของนายดำก็มีสิทธิอ้างจดหมายของนายเขียวมาซักค้านนายเขียวและเสนอต่อศาลได้ โดยถือว่าจดหมายดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ มิใช่เป็นพยานหลักฐานของนายดำ เนื่องจากศาลยังมิได้มีคำสั่งประทับฟ้อง นายดำจึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลยในคดีอันจะถือเป็นคู่ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1(3)(15) ประกอบมาตรา 163 วรรคสาม จึงไม่จำต้องยื่นบัญชีระบุพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคแรก ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะบทมาตรานี้มีไว้เพื่อรักษาประโยชน์ให้ “คู่ความ” เท่านั้น กรณีนี้ศาลก็รับฟังจดหมายดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีได้เช่นกัน (ฎ. 124/2502)
สรุป ศาลรับฟังคำเบิกความของนายเขียว ใบเสร็จรับเงินทั้ง 2 ฉบับ และจดหมายของนายเขียวที่นายเหลืองอ้างส่งศาลเป็นพยานได้
หมายเหตุ ปัจจุบัน ป.วิ.อ. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโยให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา 229/1 ซึ่งมีหลักคือ การยื่นบัญชีระบุพยานในการไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องพร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้จำเลยรับไป จึงไม่อาจนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 88 มาใช้บังคับโดยผลของ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้อีกต่อไป
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 456 ให้แก่โจทก์ วันทำสัญญาโจทก์ชำระราคาให้จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยตกลงจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ตกลงขายที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์และไม่ได้รับเงินจากโจทก์ สัญญาจะซื้อขายทำขึ้นเพื่อเป็นประกันหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญา สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ จำเลยมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบตามที่ให้การดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ
1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น
2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม
3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน
4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์
5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
จำเลยมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบตามที่ให้การดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยประสงค์จะนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามฟ้องเป็นสัญญาประกันหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่ใช่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันจริงๆนั้น เป็นการนำสืบหักล้างว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามฟ้องไม่ถูกต้อง และไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร อันจะต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลเข้าสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข) จำเลยจึงมีสิทธินำพยานบุคคลเข้าสืบได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย (ฎ. 704/2542)
สรุป จำเลยมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบตามที่ให้การดังกล่าวได้