การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า ในการฟ้องคดีนี้ โจทก์มอบอำนาจให้นายมิตรเป็นผู้ฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จำเลยได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้งหลายรายการ เป็นเงินรวม 200,000 บาท แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลย จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ผิดสัญญาแต่โจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ได้แต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวในเขตจังหวัด แต่โจทก์กลับจำหน่ายสินค้าให้แก่นิติบุคคลหลายรายในเขตจังหวัดในราคาที่ต่ำกว่าจำหน่ายให้แก่จำเลย และคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะมิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันส่งมอบ ขอให้ยกฟ้อง
เช่นนี้ คดีมีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบประการใด และถ้าคู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะตัดสินให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะคดี
แนวคำตอบ
ในส่วนประเด็นข้อพิพาท อธิบายข้อกฎหมายเรื่องที่มาของประเด็นข้อพิพาท (2 คะแนน)
ประเด็นข้อพิพาทในคดีตามอุทาหรณ์ มีดังนี้ (6 คะแนน)
1. จำเลยต้องชำระราคาสินค้าตามฟ้องหรือไม่
2. คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ส่วนที่จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น จำเลยไม่ได้ให้เหตุผลว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายใดหรือเพราะเหตุใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่มีประเด็น*2 คะแนน)
ส่วนหน้าที่นำสืบ อธิบายข้อกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1
ประเด็นข้อที่ 1. โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์แล้วไม่ชำระ จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์ตามฟ้อง ถือว่าจำเลยให้การรับว่าจำเลยได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์ตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องโจทก์ผิดสัญญาที่แต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์แต่ผู้เดียวในจังหวัดแล้ว โจทก์กลับจำหน่ายสินค้าให้แก่นิติบุคคลหลายรายในจังหวัดในราคาที่ต่ำกว่าจำหน่ายให้แก่จำเลยขึ้นปฏิเสธความรับผิดชำระราคาสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อนี้**
ประเด็นข้อที่ 2. แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อนี้ขึ้นมา แต่ศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ว่า การที่โจทก์ฟ้องนั้น สันนิษฐานว่าเป็นฟ้องมาภายในกำหนดอายุความ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ (3 คะแนน)
คดีนี้ ถ้าคู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อที่ 2 ต้องเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อนี้และเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายฟ้องคดี โจทก์ย่อมแพ้คดีทั้งสำนวน จำเลยแม้ไม่ได้สืบพยานตามหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อที่ 2 ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดีนี้ (5 คะแนน)
(หมายเหตุ *ฎีกาที่ 68/2531 และ **ฎีกาที่ 6443/2544)
ข้อ 2 นายดำถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา นายเหลืองประจักษ์พยานโจทก์เบิกความว่า นายดำมิใช่คนร้ายกระทำความผิดตามฟ้องเพื่อช่วยเหลือนายดำซึ่งขัดกับคำให้การของนายเหลืองที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุทันทีว่านายดำเป็นผู้ฆ่าผู้ตาย พนักงานอัยการโจทก์จึงขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามนายหลืองโดยใช้คำถามนำ และขอสืบบันทึกคำให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนประกอบการถามแล้วอ้างส่งเป็นพยานต่อศาล ทนายของนายดำคัดค้านว่า โจทก์จะใช้คำถามและสืบบันทึกคำให้การของนายเหลืองดังกล่าวไม่ได้และบันทึกคำให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้
ให้วินิจฉัยว่า ข้อคัดค้านของทนายดังกล่าวฟังขึ้นหรือไม่
แนวคำตอบ คำเบิกความของนายเหลืองประจักษ์พยานโจทก์ที่ว่านายดำมิใช่คนร้ายกระทำความผิดตามฟ้องเป็นคำเบิกความที่เป็นปรปักษ์แก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามนายเหลืองเสมือนหนึ่งเป็นพยานที่ฝ่ายจำเลยอ้างมาและใช้คำถามนำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 117 วรรคหกและมาตรา 118 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 และมีสิทธินำบันทึกคำให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนเข้าพิสูจน์ต่อพยานได้เพื่อแสดงว่าคำเบิกความของนายเหลืองในชั้นศาลไม่ควรเชื่อฟังเพราะต้องการช่วยเหลือจำเลยให้พ้นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 120 ประกอบวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ข้อคัดค้านของทนายนายดำประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
บันทึกคำให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า ห้ามมิให้ศาลรับฟังก็จริง แต่เมื่อคำนึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคำให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนทันทีหลังเกิดเหตุว่านายดำเป็นผู้ฆ่าผู้ตาย โดยยังไม่มีโอกาสปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นเพื่อช่วยเหลือนายดำในตอนนั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลจึงรับฟังบันทึกคำให้การของนายเหลืองในชั้นสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3(1) ข้อคัดค้านของทนายนายดำประเด็นนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ แต่จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมอบให้โจทก์โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ เพื่อขอให้ผ่อนผันการจับกุมนางหยดย้อย ตามหมายจับของศาล และเพื่อเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ของนางหยดย้อยซึ่งถูกนายพานิชญาติโจทก์แจ้งความดำเนินคดีและพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ต่อมาศาลพิพากษาจำคุกนางหยดย้อย นายพานิชไม่อาจเรียกเงินตามเช็คจากนางหยดย้อยได้ จึงให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนี้ จำเลยสามารถนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อเท็จจริงที่ต่อสู้ไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
แนวคำตอบ วางหลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 94
ตามปัญหา จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ แต่จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมอบให้โจทก์โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ เพื่อขอให้ผ่อนผันการจับกุมนางหยดย้อยตามหมายจับของศาล และเพื่อเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ของนางหยดย้อยซึ่งถูกนายพานิชญาติโจทก์แจ้งความดำเนินคดีและพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ต่อมาศาลพิพากษาจำคุกนางหยดย้อย นายพานิชไม่อาจเรียกเงินตามเช็คจากนางหยดย้อยได้ จึงให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เช่นนี้ จำเลยสามารถนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อเท็จจริงที่ต่อสู้ไว้ได้ เพราะเป็นการนำสืบถึงที่มาของการลงลายมื่อชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามมิให้นำสืบไม่