การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมรถยนต์พิพาทของโจทก์แล้วไม่ส่งคืน ขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์พิพาทหรือมิฉะนั้นให้ชดใช้ราคา จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ยืมรถยนต์พิพาท หากแต่โจทก์ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลยและได้รับเงินค่ารถยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้
1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบประการใด
2 ถ้าระหว่างการสืบพยาน โจทก์จำเลยตกลงกันให้สืบนายกนกเป็นพยานร่วมเพียงปากเดียว ถ้านายกนกเบิกความว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง นายกนกเห็นจำเลยไปบ้านโจทก์และยืมรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์ จำเลยยอมแพ้ แต่ถ้านายกนกเบิกความว่าในวันเวลาดังกล่าว ไม่เห็นจำเลย
ไปที่บ้านโจทก์ โจทก์ยอมแพ้ โดยโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานกันต่อไป ปรากฏว่าในวันสืบพยาน นายกนกเบิกความว่าในวันที่โจทก์ฟ้อง เห็นจำเลยไปยืมรถยนต์พิพาทที่บ้านโจทก์ แต่จำเลยคัดค้านว่า นายกนกเบิกความโดยไม่สุจริต ไม่ควรเชื่อฟัง จึงขออนุญาตพิสูจน์พยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120 และให้ศาลสั่งเพิกถอนข้อตกลงดังกล่าว
ดังนี้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามที่จำเลยร้องขอได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 84 วรรคแรก ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง
แต่ว่า
(1) คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว
(2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา 120 ถ้าคู่ความฝ่ายใดอ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างหรือที่ศาลเรียกมาไม่ควรเชื่อฟัง โดยเหตุผลซึ่งศาลเห็นว่ามีมูล ศาลอาจยอมให้คู่ความฝ่ายนั้นนำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้แล้วแต่จะเห็นควร
มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา 1369 บุคคลใดยึดถือทรัพย์ไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
วินิจฉัย
ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท
เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยยืมรถยนต์คันพิพาทของโจทก์แล้วไม่ส่งคืน และที่จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ยืมรถยนต์คันพิพาท หากแต่โจทก์ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลย และได้รับเงินค่ารถยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา จะเห็นได้ว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยยืมรถยนต์ไปจากโจทก์หรือไม่
ส่วนประเด็นที่จำเลยอ้างว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น จำเลยให้การโดยยกถ้อยคำตามกฎหมายมาอ้าง โดยมิได้บรรยายว่าสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับ หรือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องส่วนใดที่ไม่ได้ชัดแจ้ง และไม่ชัดแจ้งอย่างไร คำให้การในประเด็นนี้จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นให้ศาลต้องวินิจฉัย ไม่ต้องกำหนดเป็นประเด็นพิพาท (ฎ. 48/2536 ฎ. 913/2509)
สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ปัจจุบันคือมาตรา 84/1) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยครอบครองรถยนต์พิพาท และจำเลยให้การว่าโจทก์ขายรถยนต์คันพิพาทให้จำเลยและได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว อันเป็นการโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำเลยครอบครอง จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า จำเลยยึดถือรถยนต์คันพิพาทเพื่อตนเองและมีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ประกอบมาตรา 1369 หน้าที่นำสืบในประเด็นข้อพิพาทจึงตกแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84(2) (ปัจจุบันคือ มาตรา 84/1) (ฎ. 971/2492)
การที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้สืบนายกนกเป็นพยานร่วมเพียงปากเดียว โดยไม่ติดใจสืบพยานกันต่อไป กรณีเช่นนี้ เป็นการถือเอาคำเบิกความของนายกนกเป็นข้อแพ้ชนะกันในคดี จึงมีลักษณะเป็นคำท้าซึ่งโจทก์และจำเลยต้องผูกพันตามคำท้า และถือว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84(1) (ปัจจุบันคือ มาตรา 84(3)) อันเป็นผลให้คู่ความที่ได้รับประโยชน์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยไม่ต้องมีการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ตามประเด็นพิพาท เมื่อนายกนกเบิกความว่า เห็นจำเลยไปยืมรถยนต์คันพิพาทที่บ้านโจทก์ ดังนี้ โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำท้า จำเลยจะมายื่นคำร้องอ้างว่านายกนกเบิกความโดยไม่สุจริต ขอพิสูจน์พยานและให้ศาลสั่งเพิกถอนคำท้าในภายหลังไม่ได้ (ฎ. 43/2545, ฎ. 957/2522)
สรุป
1 คดีมีประเด็นข้อพิพาท คือ จำเลยยืมรถยนต์ไปจากโจทก์หรือไม่ และหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์
2 ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตตามที่จำเลยร้องขอ
ข้อ 2 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะขายที่ดินซึ่งโจทก์แนบมาท้ายคำฟ้องแล้ว แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายตามสัญญา จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาและโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการสืบพยาน โจทก์นำสืบสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาจะขายที่ดินตามฟ้อง จำเลยคัดค้านว่า โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาหนังสือสัญญาจะขายที่ดินตามฟ้องให้จำเลยล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ซึ่งเป็นความจริงตามที่จำเลยค้าน และโจทก์นำสืบด้วยสำเนาเอกสารโดยไม่ได้นำต้นฉบับมาสืบ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามมาตรา 93
ดังนี้ ศาลจะรับฟังสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 87 ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่
(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
มาตรา 90 วรรคแรก ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อถกเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา 93 การอ้างเอกสารเป็นพยานนั้นให้ยอมรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่
(1) เมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้
มาตรา 125 วรรคแรก คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนอาจคัดค้านการนำเอกสานั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ โดยคัดค้านต่อศาลก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ
วินิจฉัย
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยว่าทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะขายที่ดิน ซึ่งโจทก์ได้แนบมาท้ายคำฟ้องแล้ว ดังนี้ จะเห็นได้ว่า สำเนาหนังสือสัญญาจะขายที่ดินที่โจทก์แนบมาท้ายคำฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งแสดงว่าโจทก์แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานอันถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยล่วงหน้าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคแรกแล้ว ถึงแม้โจทก์จะไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่จำเลยล่วงหน้าตามที่จำเลยคัดค้านหรือโจทก์มิได้ขออนุญาตศาลขอถือเอาเอกาสารท้ายคำฟ้องแทนการส่งสำเนาให้จำเลยก็ตาม กรณีเช่นนี้ จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 87(2) แต่ประการใด (ฎ. 9501/2542)
และแม้จำเลยได้รับสำเนาหนังสือสัญญาจะขายที่ดินที่โจทก์แนบมาท้ายคำฟ้องแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคแรก หากเห็นว่าไม่ถูกต้องแท้จริงต้องคัดค้านต่อศาลก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของสำเนาหนังสือสัญญาดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยยอมรับโดยปริยายแล้วว่า สำเนาหนังสือสัญญาจะขายที่ดินนั้นถูกต้องแล้ว ศาลจึงรับฟังสำเนาหนังสือสัญญาจะขายที่ดินนั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93(1) โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องส่งต้นฉบับต่อศาลอีก (ฎ. 1047/2537 ฎ. 2459/2539 ฎ. 2295/2543)
สรุป ศาลจึงรับฟังสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
หมายเหตุ ปัจจุบัน ป.วิ.พ. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกรณีไม่คัดค้านเอกสารตามมาตรา 125 ให้เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 93(4) ที่แก้ไขใหม่แล้ว ซึ่งเป็นการบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมารองรับแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นกรณีไม่คัดค้านเอกสารตามมาตรา 125 ต้องปรับเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 93(4) มิใช่มาตรา 93(1)
ข้อ 3 ก พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา ได้รับเอกสิทธิ์ตามกฎหมายลักษณะพยานอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ข พระภิกษุสนองถูกอ้างเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง เมื่ออัยการโจทก์ซักถามก็ตอบข้อซักถาม ครั้งถึงคราวทนายจำเลยถามค้านบ้าง พระภิกษุสนองนิ่งเสียไม่ตอบคำถามค้านเลย ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะปฏิบัติอย่างไร
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา ได้รับเอกสิทธิ์ตามกฎหมายลักษณะพยาน ดังนี้
1 ไม่ต้องไปศาลตามหมายเรียกที่ศาลออกโดยชอบ ไม่ว่ากรณีใดๆ (ป.วิ.พ. มาตรา 108 วรรคสอง (2))
2 ไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนเบิกความ (ป.วิ.พ. มาตรา 112 (2)) (ปัจจุบันคือมาตรา 112 (3))
3 จะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใดๆ ก็ได้เมื่อไปเป็นพยานที่ศาล (ป.วิ.พ. มาตรา 115)
หมายเหตุ ปัจจุบัน ป.วิ.พ. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกรณีการออกหมายเรียกพยานที่เป็นพระภิกษุและสามเณรว่าห้ามมิให้ออกหมายเรียกพยานที่เป็นพระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนาไม่ว่ากรณีใดๆ แต่กำหนดให้ศาลหรือผู้พิพากษาส่งคำบอกกล่าวว่าจะสืบพยานแทนการออกหมายเรียก (มาตรา 106/1)
ข หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 115 พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยาน จะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใดๆก็ได้
วินิจฉัย
แม้พระภิกษุสนองจะได้ตอบข้อซักถามของอัยการโจทก์แล้ว ก็มิใช่ว่าจะต้องตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยแต่ประการใด เพราะเหตุที่กฎหมายได้ให้เอกสิทธิ์พระภิกษุสนองที่จะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใดๆก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 115
ดังนั้น การที่พระภิกษุสนองนิ่งเฉยไม่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ศาลก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้พระภิกษุสนองเบิกความตอบคำถามค้านได้ กรณีเช่นนี้ ศาลต้องจดลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลถึงการที่พระภิกษุสนองไม่ยอมเบิกความ
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะจดลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลถึงการที่พระภิกษุสนองไม่ยอมเบิกความ