การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เดือนละ  100,000  บาท  เป็นเวลา  2  ปี  ศาลพิพากษาตามยอม  ต่อมาโจทก์มาขอออกหมายบังคับคดีอ้างว่า  จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  จำเลยยื่นคำร้องว่า  จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความถูกต้องมาโดยตลอด  ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้องของจำเลย  ในชั้นไต่สวนจำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน  แต่จะขออ้างตัวจำเลยเองเป็นพยาน  โจทก์คัดค้านว่า  จำเลยไม่มีสิทธิอ้างตนเป็นพยาน  ให้วินิจฉัยว่า  จำเลยจะมีสิทธินำสืบตัวเองเป็นพยานหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  88  วรรคแรก  เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด  หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล  วัตถุ  สถานที่  หรืออ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้ง  เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้าง  หรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันซึ่งบัญชีระบุพยานโดยแสดงหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้าง  และรายชื่อที่อยู่ของบุคคล  วัตถุ  หรือสถานที่ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยาน  หรือขอให้ศาลไปตรวจ  หรือขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้วแต่กรณี  พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ  เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล

วินิจฉัย

สำหรับบทบัญญัติเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  ดังกล่าวนั้น  ใช้บังคับเฉพาะการสืบพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องคำให้การเท่านั้น  ไม่ใช้บังคับกับการไต่สวนคำร้องคำขอเพื่อสนับสนุนข้ออ้างในคำร้องคำขอที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี (ฎ. 4276/2532)  นอกจากนี้  ในการไต่สวนคำร้องคำขอก็ไม่มีวันนัดสืบพยาน  มีแต่วันไต่สวนซึ่งไม่ใช่วันสืบพยาน  ดังนั้น  โดยสภาพจึงเห็นได้ว่าในการไต่สวนคำร้องคำขอปลีกย่อยจึงไม่อยู่ในบังคับตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  ถึงแม้ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก็นำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นไต่สวนคำร้องคำขอได้  (ฎ. 3341/2529)

จำเลยจะมีสิทธินำสืบตัวเองเป็นพยานได้หรือไม่  เห็นว่า  การไต่สวนคำร้องของจำเลยที่อ้างว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้วนั้น  เป็นการไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าจำเลยปฏิบัติผิดข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้ต่อศาลหรือไม่  ไม่ใช่เป็นการสืบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงในประเด็นแห่งคดีที่พิพาทกันตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  วรรคแรก  (ฎ. 421/2532)  ดังนั้น  จำเลยจึงมีสิทธินำสืบตัวเองเป็นพยานได้  โดยไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน

สรุป  จำเลยจึงมีสิทธินำสืบตัวเองเป็นพยานได้


ข้อ  2  คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ค้างชำระเป็นเงิน  
7,000,000  บาท  จำเลยยื่นคำให้การว่า  โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันภัยโดยตกลงลดเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยในอัตราร้อยละ  70  ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมดเป็นเงิน  7,000,000  บาท  จำเลยได้ชำระเบี้ยประกันภัยไปอัตราร้อยละ  30  ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมดเป็นเงิน  3,000,000  บาท  และโจทก์ได้มอบกรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยแล้ว  ถือว่าจำเลยชำระเบี้ยประกันภัยครบถ้วน  ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย  พ.ศ.2535  มาตรา  7  แล้ว  จำเลยจึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ขอให้ยกฟ้องโจทก์  ศาลกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน  เมื่อโจทก์นำนายซื่อสัตย์เข้าเบิกความถึงเรื่องที่จำเลยค้างชำระเบี้ยประกันภัยเป็นเงิน  7,000,000  บาท  เสร็จแล้วจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่นำสืบหลังได้นำจดหมายที่โจทก์เขียนถึงจำเลยซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า  โจทก์ตกลงลดเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยในอัตราร้อยละ  70  ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมด  คิดเป็นเงิน  7,000,000  บาท  และท้ายจดหมายดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อโจทก์ไว้  มานำสืบตามที่จำเลยให้การไว้  แต่ขณะที่จำเลยนำสิบถึงจดหมายดังกล่าว  โจทก์โต้แย้งว่า  ขณะที่
โจทก์นำนายซื่อสัตย์เข้าเบิกความ  จำเลยไม่ได้ซักค้านพยานโจทก์ไว้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า  โจทก์ตกลงลดเบี้ยประกันภัยให้อัตราร้อยละ  70  ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมด  ถือว่าเป็นการจู่โจมทางพยานหลักฐานและอาเปรียบโจทก์  ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นผลร้ายแก่โจทก์มิได้  ต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมายลักษณะพยาน

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งของโจทก์รับฟังได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ 

มาตรา  89  ถ้าคู่ความฝ่ายใดอันมีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลัง  ประสงค์จะสืบพยานของตน  (ก)  เพื่อหักล้าง  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำพยานของฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็น  หรือ  (ข)  เพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำ  หรือถ้อยคำ  หรือหนังสือซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้น    แม้ถึงว่าพยานเช่นว่านั้นจะมิได้เบิกความถึงข้อเหล่านี้ก็ดี  ให้คู่ความฝ่ายที่ต้องนำพยานมาสืบภายหลัง  ถามค้านพยานเช่นว่านั้นเสียในเวลาที่พยานเบิกความ  เพื่อให้พยานมีโอกาสอธิบายถึงข้อความเหล่านั้น

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว  ต่อมานำพยานมาสืบถึงข้อความดังกล่าวข้างต้น คู่ความฝ่ายที่สืบพยานก่อนชอบที่จะคัดค้านได้  และในกรณีเช่นว่านี้  ให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับฟังคำพยานเช่นว่ามานั้น

แต่ถ้าคู่ความฝ่ายที่นำมาสืบภายหลัง  แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าเมื่อเวลาพยานเบิกความนั้นตนไม่รู้  หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ถึงข้อความดังกล่าวมาแล้ว  หรือถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานเช่นว่านี้  ศาลจะยอมรับฟังคำพยานเช่นว่านี้ก็ได้  แต่ในกรณีเช่นนี้  คู่ความที่ได้นำพยานสืบก่อนจะเรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาสืบอีกก็ได้  หรือเมื่อศาลเห็นสมควรจะเรียกมาสืบเองก็ได้

วินิจฉัย

ในกรณีคู่ความซึ่งมีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลังต้องถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนในเวลาที่พยานเบิกความตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  89  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบภายหลังประสงค์จะสืบพยานของตนเพื่อหักล้าง  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลาย  ซึ่งพยานของฝ่ายนำสืบก่อนเป็นผู้รู้เห็นด้วย  หรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำ  หรือถ้อยคำหรือหนังสือซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้นโดยเฉพาะ  กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้นำสืบพยานภายหลังถามค้านไว้ก่อน  เพื่อให้พยานผู้นั้นอธิบายข้อความที่ตนรู้เห็นในข้อที่ฝ่ายหลังนั้นนำสืบไว้เสียก่อน  เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายหลังเอาเปรียบโดยนำสืบหักล้างมิให้ฝ่ายแรกรู้ตัว  ไม่มีโอกาสเสนอพยานหลักฐานครบถ้วนเป็นการเสียความยุติธรรม

แต่อย่างไรก็ตามถ้าจำเลยยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว  จำเลยก็มีสิทธินำสืบตามประเด็นที่ให้การได้โดยไม่ต้องถามค้านพยานโจทก์ตามมาตรา  89  ไว้อีก  ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ของการถามค้านพยานตามมาตรา  89  ก็เพื่อไม่ให้คู่ความฝ่ายที่นำสืบพยานภายหลังจู่โจมในทางพยานหลักฐานโดยที่ฝ่ายแรกไม่รู้ตัว  เป็นการเอาเปรียบกันในเชิงคดี  แต่การที่จำเลยยกข้อต่อสู้ในประเด็นใดไว้ในคำให้การแล้ว โจทก์ย่อมรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจำเลยจะสืบพยานในเรื่องใด  ไม่เป็นการเอาเปรียบกัน  จำเลยจึงไม่จำต้องถามค้านไว้แต่อย่างใด  (ฎ. 3892/2540 ฎ. 2099/2514)

ข้อโต้แย้งของโจทก์รับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  ข้อเท็จจริงตามคดีนี้รับฟังได้ว่า  จำเลนนำจดหมายมาสืบหักล้างพยานโจทก์โดยไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้  ไม่ใช่เป็นการจู่โจมทางพยานหลักฐานหรือเอาเปรียบโจทก์  เพราะเป็นการที่จำเลยนำสืบหักล้างพยานโจทก์โดยตรงไปตามคำให้การของจำเลยแล้วว่า  โจทก์ได้ตกลงลดเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยอัตราร้อยละ  70  ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมด  คิดเป็นเงิน  7,000,000  บาท  โจทก์ไม่เสียเปรียบ  กรณีไม่ต้องด้วย  ป.วิ.พ.  มาตรา  89  วรรคสอง  ศาลรับฟังพยานเช่นว่านั้น  ข้อโต้แย้งของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้  (ฎ. 1201/2541)

สรุป  ข้อโต้แย้งของโจทก์ฟังไม่ขึ้น


ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่า  โจทก์มอบอำนาจให้นายนิติเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์  เมื่อปี  2533  โจทก์ได้มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งโจทก์ได้กู้ยืมไปจากจำเลย  ต่อมาเมื่อปี  2544  โจทก์ได้ชำระเงินกู้คืนให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว  และทวงถามให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทคืน  แต่จำเลยปฏิเสธ  ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  จำเลยไม่เคยรู้จักนายนิติมาก่อน  จึงไม่ขอรับรองการมอบอำนาจของโจทก์  จำเลยไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ย  แต่จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์และได้ชำระเงินค่าที่ดินครบถ้วนแล้วโจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทขอให้ยกฟ้อง

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  คดีมีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  84  วรรคแรก  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ  เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

มาตรา  177  วรรคสอง  ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า  จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน  รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท  หมายถึง  ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ  ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว  ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ดังนี้  ประเด็นข้อพิพาทตามอุทาหรณ์จึงมีเพียงว่า  จำเลยต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์หรือไม่  (หากตอบว่าประเด็นข้อพิพาทมีว่า  จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่  หรือจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์หรือไม่  ก็อนุโลมว่าถูกต้องพอใช้ได้)

ส่วนการที่จำเลยให้การว่า  จำเลยไม่เคยรู้จักนายนิติมาก่อน  จึงไม่ขอรับรองการมอบอำนาจของโจทก์นั้น  เป็นคำให้การที่ปฏิเสธไม่ชัดแจ้งและมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  177  วรรคสอง  จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท  ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติว่า  โจทก์มอบอำนาจให้นายนิติเป็นผู้ฟ้องคดีแทนโจทก์จริง(ฎ. 2307/2533)

สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84  วรรคแรก  (ปัจจุบันคือ  มาตรา  84/1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ  ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ย  การที่จำเลยให้การปฏิเสธชัดแจ้งโดยยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว  เท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทในฐานะทำกินต่างดอกเบี้ย  แต่จำเลยครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเนื่องจากได้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้ว  ดังนั้นประเด็นที่ว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทต่างดอกเบี้ยหรือไม่   จึงยังคงมีอยู่  เพราะยังไม่ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงแล้ว  เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง  จำเลยปฏิเสธโจทก์มีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  84  วรรคแรก  (ปัจจุบันคือมาตรา  84/1)

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์และได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว  เป็นเพียงการให้เหตุผลประกอบการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ตามฟ้องเท่านั้น  มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นต่อสู้หรือกล่าวอ้างขึ้นใหม่  โจทก์จึงยังมีหน้าที่นำสืบอยู่  (ฎ. 5400/2537)

สรุป  คดีมีประเด็นข้อพิพาท  คือ  จำเลยต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์หรือไม่  และหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์  

Advertisement