การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องจําเลยเรียกให้ชําระเงินกู้ยืมจํานวน 2,000,000 บาท ที่ยังคงติดค้างชําระพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี ตามสัญญากู้ยืมเงินแนบท้ายคําฟ้อง จําเลยให้การในคําให้การว่า โจทก์จะมีอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่รับรอง และขาดอายุความไปแล้ว และความจริงไม่เคยกู้ยืม แต่ตนให้โจทก์นําเงินมาลงทุนซื้อที่ดินร่วมกันเพื่อเก็งกําไรเท่านั้น โจทก์กังวลกลัวจําเลยจะไม่ปันผล กําไร เลยให้จําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินแทนเอาไว้ จําเลยจึงลงลายมือชื่อในสัญญากู้เพื่อให้โจทก์เชื่อใจ คดีนี้ มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรและฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”
มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”
มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”
มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้ เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”
วินิจฉัย
“วันชี้สองสถาน” คือวันที่ศาลกําหนดให้คู่ความมาศาลเพื่อพิจารณาคําคู่ความและคําแถลง ของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู เพื่อกําหนดประเด็น ข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใด (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)
คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ
1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
การที่โจทก์ฟ้องจําเลยเรียกให้ชําระเงินกู้ยืมจํานวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี ตามสัญญากู้ยืมเงินแนบท้ายคําฟ้อง จําเลยให้การในคําให้การว่า โจทก์จะมีอํานาจ ฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่รับรอง และขาดอายุความไปแล้ว และความจริงไม่เคยกู้ยืม แต่ตนให้โจทก์นําเงินมา ลงทุนซื้อที่ดินร่วมกันเพื่อเก็งกําไรเท่านั้น โจทก์กังวลกลัวจําเลยจะไม่ปันผลกําไร เลยให้จําเลยทําสัญญากู้ยืมเงิน แทนเอาไว้ จําเลยจึงลงลายมือชื่อในสัญญากู้เพื่อให้โจทก์เชื่อใจนั้น จากคําฟ้องและคําให้การของจําเลยดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า “จําเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์จริงหรือไม่”
ส่วนกรณีที่จําเลยให้การโต้แย้งโจทก์ว่า โจทก์จะมีอํานาจฟ้องหรือไม่ ไม่รับรอง และฟ้องโจทก์ ขาดอายุความไปแล้วนั้น เป็นเพียงคําให้การปฏิเสธโดยไม่ได้แสดงเหตุผลของการปฏิเสธ จึงเป็นคําให้การที่ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดี
ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์ได้ฟ้องว่าจําเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ แต่จําเลยให้การปฏิเสธ ในกรณีของการกู้ยืมเงินโดยมีเหตุผลของการปฏิเสธครบถ้วน โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1
สรุป
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า จําเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์จริงหรือไม่ และโจทก์มีภาระ การพิสูจน์
ข้อ 2 ก) ในวันนัดสืบพยานโจทก์ พนักงานอัยการโจทก์ได้ขอหมายเรียกเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ พยานรับหมายเรียกแล้วแต่ไม่มาเบิกความต่อศาลโดยไม่ปรากฏว่า เป็นเพราะเหตุใด พนักงานอัยการจึงอ้างส่งแถบบันทึกภาพการสอบสวนเด็ก (วีซีดี) ในชั้นสอบสวน เป็นพยานต่อศาลแทนการสืบพยานเด็กในชั้นพิจารณา ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะรับฟังภาพและเสียงคําให้การของเด็กในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของเด็กในชั้นพิจารณาของศาลได้หรือไม่
ข) ในระหว่างการพิจารณาคดีแพ่งที่มีผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นคู่ความ ผู้คัดค้านได้ยื่นคําร้องขอให้ตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้ร้องเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ ผู้ร้องคัดค้าน และไม่ยินยอมให้ตรวจ ศาลเห็นว่าเมื่อผู้ร้องไม่สมัครใจให้ตรวจจึงให้ยกคําร้องของผู้คัดค้าน ให้วินิจฉัยว่า กรณีเข้าข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างหรือไม่
ธงคําตอบ
ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 172 ตรี วรรคหนึ่งและวรรคท้าย “เว้นแต่ในกรณีที่จําเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้ศาลจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมสําหรับเด็ก
ในกรณีที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความตามวรรคหนึ่งเพราะมีเหตุจําเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟัง สื่อภาพและเสียงคําให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนตามมาตรา 133 ทวิ หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 171 วรรคสอง เสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล และให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่น ในการพิจารณาพิพากษาคดีได้”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 ตรี วรรคหนึ่งและวรรคท้ายนั้น ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน สิบแปดปี ถ้าไม่ได้ตัวพยานเด็กดังกล่าวมาเบิกความเพราะมีเหตุจําเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียง คําให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาลได้ แต่ ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่ไม่ได้ตัวเด็กมาเบิกความต่อศาลนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงถือไม่ได้ว่า เป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตัวพยานเด็กมาเบิกความต่อศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังกล่าว ดังนั้น ศาลจะรับฟังภาพและเสียงคําให้การของเด็กในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของเด็ก ในชั้นพิจารณาของศาลไม่ได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 4112/2552 และ 9065/2556)
ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 128/1 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ “ในกรณีที่จําเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสําคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลมีอํานาจสั่งให้ทําการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทําการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมต่อการตรวจ เก็บตัวอย่างส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความ ฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคําร้องขอให้มีการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของ ผู้ร้องเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ แต่ผู้ร้องคัดค้านและไม่ยินยอมให้ตรวจ และเมื่อศาลเห็นว่า ผู้ร้องไม่สมัครใจให้ตรวจจึงให้ยกคําร้องของผู้คัดค้านนั้น คําสั่งของศาลดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ตรวจ พันธุกรรมหรือดีเอ็นเอตามคําร้องของผู้คัดค้านซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลจึงไม่ใช่กรณีที่ศาลเห็นสมควรให้มีการตรวจ สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 128/1 วรรคหนึ่ง แล้วผู้ร้องไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือ ต่อการตรวจพิสูจน์อันจะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 128/1 วรรคสี่ ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์จึงยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้าน กล่าวอ้าง (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 13689/2555)
สรุป
ก) ศาลจะรับฟังภาพและเสียงคําให้การของเด็กในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคําเบิกความของเด็กในชั้นพิจารณาของศาลไม่ได้
ข) กรณีตามอุทาหรณ์ยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดตามสัญญากู้และดอกเบี้ยจํานวน 100,000 บาท จําเลยให้การปฏิเสธว่าสัญญากู้เป็นสัญญาปลอมโดยมีเหตุแห่งการปฏิเสธชัดเจน ให้วินิจฉัยว่า
ก) หากโจทก์ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลยก่อนวันสืบพยาน 7 วัน แต่สําเนาไปถึงจําเลยก่อนวันสืบพยาน 5 วัน การส่งสําเนาดังกล่าวชอบหรือไม่
ข) โจทก์จะนําพยานบุคคลที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ที่น่าเชื่อถือมาสืบแทนการนําต้นฉบับเอกสารมาสืบได้หรือไม่
ค) จําเลยนําพยานบุคคลเข้าสืบว่า สัญญากู้เป็นสัญญาปลอมได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 87 “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่
(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจํานงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบ พยานหลักฐานอันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจ รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้”
มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวันสืบพยาน ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”
มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
ก) หากโจทก์ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลยก่อนวันสืบพยาน 7 วัน แต่สําเนาไปถึงจําเลย ก่อนวันสืบพยาน 5 วัน การส่งสําเนาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่งที่กําหนดให้คู่ความที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยาน จะต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาลและส่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วันนั้น เพราะกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายันได้มีโอกาส ตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้อง ไม่เสียเปรียบแก่กัน ดังนั้นคําว่า “ให้ส่งสําเนาเอกสาร ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน” จึงมีความหมายว่า ส่งสําเนาให้ถึงคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน มิใช่ถือเอาวันที่ส่งสําเนาเป็นสําคัญ เพราะถ้าถือเอาวันที่ส่งสําเนาเป็นสําคัญแล้ว ย่อมเปิดช่องให้มีโอกาส เอาเปรียบแก่กันได้ ซึ่งจะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย (คําพิพากษาฎีกาที่ 488/2536) เว้นแต่เมื่อศาลเห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่สําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และ ไม่ทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ศาลย่อมมีอํานาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 87 (2) ดังนั้น การที่โจทก์ส่งสําเนาสัญญากู้ไปถึงจําเลยก่อนวันสืบพยาน 5 วัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข) โจทก์จะนําพยานบุคคลที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ที่น่าเชื่อถือมาสืบแทนการนํา ต้นฉบับเอกสารมาสืบได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า เมื่อการกู้ยืมเงิน 100,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะ สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่จะนํามาสืบแทนพยานเอกสาร ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถนํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้
ค) จําเลยจะนําพยานบุคคลเข้าสืบว่า สัญญากู้เป็นสัญญาปลอมได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า แม้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง จะห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง ได้บัญญัติมิให้ใช้บังคับในการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบ ประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน ดังนั้น จําเลยจึงมีสิทธินําพยานบุคคลมาสืบว่า สัญญากู้เป็นสัญญาปลอมได้
สรุป
ก) การส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลยของโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข) โจทก์จะนําพยานบุคคลมาสืบแทนต้นฉบับเอกสารไม่ได้
ค) จําเลยจะนําพยานบุคคลมาสืบว่าสัญญากู้เป็นสัญญาปลอมได้